หน้าแรก ไวรัสเอ็นพีวี (NPV) ตัวช่วยฝ่าวิกฤตหนอนดอกดาวเรือง

ไวรัสเอ็นพีวี (NPV) ตัวช่วยฝ่าวิกฤตหนอนดอกดาวเรือง

22 พ.ค. 2568
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์
บทความ
ผลงานวิจัยเด่น

ไวรัสเอ็นพีวี (NPV) ตัวช่วยฝ่าวิกฤตหนอนดอกดาวเรือง

 

ดาวเรือง เป็นไม้ดอกสีเหลืองที่เติบโตได้ดีในทุกภูมิภาคของประเทศ และปลูกหมุนเวียนได้ทุกฤดูกาล อีกทั้งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่สร้างรายได้เฉลี่ยมากกว่า 100,000 บาทต่อไร่ต่อรอบ ยิ่งช่วงเข้าพรรษาและวันพระใหญ่ ตลาดจะยิ่งมีความต้องการสูง (ฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ปี 2563) ทว่าช่วง 2–3 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรกลับต้องเผชิญปัญหาศัตรูพืชอย่างหนอนกระทู้หอม หนอนเจาะสมอฝ้าย และหนอนกระทู้ผักดื้อยาอย่างหนัก จนผลผลิตเสียหายกว่าร้อยละ 60 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้และโอกาสทางธุรกิจ

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำสารชีวภัณฑ์ ไวรัสเอ็นพีวี (Nucleopolyhedrovirus: NPV)’ ไวรัสก่อโรคในแมลงช่วยปราบศัตรูพืชแบบอยู่หมัด และเป็นแนวทางลดการใช้สารเคมีอย่างยั่งยืน

 

ภาพคุณสัมฤทธิ์ เกียววงษ์
สัมฤทธิ์ เกียววงษ์ นักวิชาการอาวุโส ทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ ไบโอเทค สวทช.

 

สัมฤทธิ์ เกียววงษ์ นักวิชาการอาวุโส ทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ ไบโอเทค สวทช. อธิบายว่า NPV คือ ไวรัสก่อโรคในแมลงที่มีความจำเพาะกับหนอนของแมลง ประกอบด้วยไวรัสเอ็นพีวีสำหรับกำจัดหนอนกระทู้หอม (SpexNPV) หนอนเจาะสมอฝ้าย (HearNPV) และหนอนกระทู้ผัก (SpltNPV) ซึ่งหนอนทั้ง 3 ชนิด เป็นศัตรูพืชหลักของพืชเศรษฐกิจไทย เช่น หอมแดง หอมใหญ่ มะเขือเทศ ผักชี หน่อไม้ฝรั่ง ผักตระกูลสลัด ผักตระกูลกะหล่ำ ส้ม องุ่น กุหลาบ กล้วยไม้ รวมถึงดาวเรือง

เมื่อหนอนกินไวรัสที่ฉีดพ่นไว้ที่พืช จะเกิดอาการป่วยบริเวณกระเพาะอาหาร (สังเกตได้จากสีตัวที่เปลี่ยนแปลงไป) ทำให้กินอาหารน้อยลง และตายใน 5-7 วัน โดยไม่ก่อให้เกิดการดื้อยา และด้วยกลไกการออกฤทธิ์ที่จำเพาะกับชนิดพันธุ์ของหนอนจึงไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้งานและสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาไบโอเทคและหน่วยงานพันธมิตรพัฒนากระบวนการผลิต NPV จนพร้อมผลิตในระดับอุตสาหกรรม และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้แก่ผู้ประกอบการแล้ว 2 บริษัท คือ บริษัทไบรท์ออร์แกนิค จำกัด และบริษัทบีไบโอ จำกัด”

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาทีมวิจัยได้นำ NPV ไปช่วยเหลือเกษตรกรฝ่าฟันวิกฤตหนอนดื้อยามาแล้วหลายครั้ง หนึ่งในผลงานเด่น คือ ‘กล้วยไม้’ พืชเศรษฐกิจสำคัญที่เกษตรกรได้รับผลกระทบหนักจนแทบล้มละลาย และล่าสุดปีที่ผ่านมา ทีมวิจัยได้นำองค์ความรู้ที่สั่งสมไปช่วยผู้ประกอบการสวน ดอกดาวเรือง กอบกู้สถานการณ์ที่กำลังวิกฤต

 

ภาพดอกดาวเรืองที่โดนหนอนกัดกินจนเสียหาย
ดอกดาวเรืองที่โดนหนอนกัดกินจนเสียหาย

 

สัมฤทธิ์ เล่าว่า ในปี 2567 ได้รับการติดต่อจากคุณสมศักดิ์ วันแก้ว ผู้ประกอบการสวนดาวเรืองที่ดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 20 ปี แต่ช่วง 2-3 ปีหลังกลับต้องเผชิญปัญหาหนอนดื้อยาหนัก จนผลผลิตเสียหายกว่าร้อยละ 60 แม้ตอนนั้นจะใช้สารเคมีที่มีความรุนแรงและมีประสิทธิภาพสูงในการปราบศัตรูพืชแล้วก็ยังไม่ได้ผล ทำให้ต้องเร่งหาสารประเภทอื่นมาใช้แทน เพื่อยับยั้งการลุกลามให้ทันท่วงที

“หลังจากได้รับการติดต่อ ทีมวิจัยได้พูดคุยเพื่อให้ข้อมูลที่สำคัญแก่ผู้ประกอบการ ทั้งข้อมูลเกี่ยวกับ NPV กลไกการออกฤทธิ์ และวิธีการใช้งานสารชีวภัณฑ์ในปริมาณที่เหมาะสมตามระดับความรุนแรงของการระบาด รวมถึงการลดปริมาณการใช้สารตามลำดับเมื่อควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว”

 

ภาพหนอนกระทู้หอมบนดอกดาวเรือง
หนอนกระทู้หอม

 

ภาพหนอนเจาะสมอฝ้ายบนดอกดาวเรือง
หนอนเจาะสมอฝ้าย

 

ทั้งนี้ หลังจากผู้ประกอบการใช้ไวรัส NPV เพียง 2 สัปดาห์ ก็พบผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับหนอนศัตรูพืชอย่างน่าอัศจรรย์

“ปริมาณหนอนลดลงต่อเนื่อง และดอกดาวเรืองมีคุณภาพมากขึ้น” สัมฤทธิ์เล่าถึงเสียงปลายสายของคุณสมศักดิ์ที่โทรมาแจ้งด้วยความดีใจ พร้อมเสริมว่า การใช้ไวรัส NPV ไม่เพียงช่วยลดการระบาดของหนอนได้อย่างชัดเจน แต่ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการปราบแมลงศัตรูพืชด้วย

“ช่วงระบาดรุนแรง ผู้ประกอบการต้องใช้สารเคมีอันตรายฉีดพ่นทุก 5-10 วัน แต่ละครั้งมีค่าสารเคมีต่อไร่สูงถึง 240 บาท แต่เมื่อเปลี่ยนมาใช้ NPV แม้ช่วงเริ่มต้นจะต้องฉีดจำนวนครั้งมากกว่า ฉีดแบบวันเว้นวัน ทำให้มีต้นทุนสูง (160 บาท/ครั้ง/ไร่ — 20 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร) แต่หากพิจารณาในภาพรวมจะพบว่า ผลลัพธ์ที่ได้คุ้มค่ากว่ามาก เพราะจำนวนหนอนลดลงอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ช่วง 2 สัปดาห์แรก ทำให้ได้ผลผลิตดอกดาวเรืองที่มีคุณภาพเหมาะแก่การตัดจำหน่ายมากขึ้น นอกจากนี้เมื่อผ่านช่วงระบาดรุนแรงมากมาแล้ว ก็เหลือแค่การฉีดพ่นเพื่อควบคุมความเสี่ยงการระบาดซ้ำ โดยฉีดพ่นทุก 7-10 วัน (5 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร) ซึ่งมีราคาต่อครั้งต่อไร่เพียง 40 บาทเท่านั้น

 

ภาพหนอนเจาะกระทู้หอมที่ตายแล้วหลังจากกินไวรัส NPV
หนอนเจาะกระทู้หอมที่ตายแล้วหลังจากกินไวรัส NPV

 

ปัจจุบันการใช้ NPV ปราบหนอนศัตรูพืช เริ่มเป็นที่รู้จักในผู้ผลิตดอกดาวเรืองมากขึ้น หากผู้ประกอบการและเกษตรกรหันมาใช้ NPV หรือชีวภัณฑ์ชนิดอื่น ๆ ทดแทนการใช้สารเคมีอันตราย ก็จะยิ่งส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมนี้

สัมฤทธิ์ เล่าทิ้งท้ายว่า การใช้ชีวภัณฑ์แทนสารเคมีอันตราย จะช่วยลดต้นทุนและความเสี่ยงในแปลงเพาะปลูก ทั้งต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ทำให้ได้ผลผลิตที่ปลอดภัย เปิดทางสู่การต่อยอดตลาดสุขภาพ และผลิตภัณฑ์แปรรูปมูลค่าสูง ถือเป็นการยกระดับคุณภาพและความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่การผลิต

สำหรับผู้ที่สนใจใช้งานผลิตภัณฑ์​ NPV หรือขอรับบริการด้านการวิจัย ติดต่อสอบถามได้ที่ คุณสัมฤทธิ์ เกียววงษ์ นักวิชาการอาวุโส ทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ ไบโอเทค สวทช. เบอร์โทรศัพท์ 0 2564 6700 ต่อ 3781 หรืออีเมล samrit@biotec.or.th

 

ภาพหญิงสาวสวมชุดไทยถือพวงมาลัยดอกดาวเรือง

ภาพพวงมาลัยดอกดาวเรืองที่ผู้คนเอามาแขวนไว้เป็นจำนวนมาก


เรียบเรียงโดย ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์กโดย ภัทรา สัปปินันทน์
ภาพประกอบโดย สัมฤทธิ์ เกียววงษ์ ไบโอเทค สวทช. และจาก Shutterstock

แชร์หน้านี้: