For English-version news, please visit : https://www.nstda.or.th/en/news/news-years-2023/eco-friendly-rubber-flooring-for-livestock.html
ฟาร์มโคนมในประเทศไทยมากกว่าร้อยละ 95 นิยมเลี้ยงโคนมแบบ ‘ผูกยืนโรง’ โดยแม่โคแต่ละตัวจะถูกผูกให้ยืนอยู่ในซองภายในโรงเรือนเนื่องด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ ขณะที่พื้นคอกส่วนใหญ่เป็นพื้นปูนซีเมนต์ เพื่อให้ง่ายต่อการดูแลทำความสะอาด หากแต่การเลี้ยงโคนมบนพื้นปูนมักก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพโคนม อย่างมาก เนื่องจากโคนมมีน้ำหนักตัวเฉลี่ยมากกว่า 500 กิโลกรัม แรงกดทับของน้ำหนักตัวต่อพื้นปูนทำให้เกิดการบาดเจ็บ อีกทั้งพื้นปูนเมื่อเวลาโดนน้ำยังลื่นง่าย เสี่ยงต่อการล้ม ทำให้โคนมพิการ และไม่สามารถผลิตน้ำนมได้อย่างมีคุณภาพ สร้างความเสียหายอย่างมากให้แก่เกษตรกร
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงพัฒนา “แผ่นยางพาราที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับปูพื้นคอกปศุสัตว์” เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของโคนม และลดผลกระทบการปนเปื้อนสารเคมีต่อสิ่งแวดล้อม
ดร.ภุชงค์ ทับทอง ทีมวิจัยผลิตภัณฑ์ยางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มวิจัยนวัตกรรมการแปรรูปยาง เอ็มเทค สวทช. กล่าวว่า เกษตรกรส่วนใหญ่จะเทพื้นคอกด้วยปูนซีเมนต์ ข้อดีคือพื้นไม่เละเป็นโคลน เพราะโคนมเวลาอยูในโรงเรือนจะขับถ่ายตลอดเวลา แต่ข้อเสียคือผิวปูนมีความคม ซึ่งแม่โคแต่ละตัวมีน้ำหนักมากกว่าครึ่งตัน เวลายืนนาน ๆ น้ำหนักที่กดทับลงบนพื้นปูน อาจทำให้กีบเท้าอักเสบ หรือเวลาที่โคนมเปลี่ยนอิริยาบถต่าง ๆ เช่น ยืน นั่ง หรือนอน จะต้องใช้ขาในการพยุงตัวหรือยันตัวกับพื้นปูน อวัยวะที่กดทับกับพื้นปูนบ่อย ๆ จะเกิดการบาดเจ็บ และเกิดโรคอื่น ๆ ตามมา ส่งผลให้การผลิตน้ำนมไม่มีประสิทธิภาพเท่าเดิม
“อีกปัญหาใหญ่คือ พื้นปูนเวลาฉีดน้ำบ่อย ๆ จะเกิดตะไคร่เกาะพื้นปูน ทำให้ลื่น ซึ่งเวลาโคนมลื่นจะไม่ล้มเอียงตัวไปด้านข้าง แต่จะล้มแบบขาแบะออกไปด้านข้างทั้งสองด้าน ลักษณะเหมือนกบ เวลาเกิดเหตุการณ์แบบนี้ส่วนใหญ่โคนมจะพิการ เกษตรกรใช้คำว่า ‘หมดสภาพ’ ทางออกสุดท้ายคือส่งเข้า ‘โรงเชือด’ เพราะไม่สามารถผลิตน้ำนมอย่างมีประสิทธิภาพได้อีกต่อไป ซึ่งโคนมหนึ่งตัวมีราคาประมาณ 50,000-60,000 บาท”
‘การปูแผ่นยางบนพื้นคอก’ เป็นทางออกหนึ่งที่เกษตรกรนำมาใช้ลดอาการบาดเจ็บของโคนม แต่แผ่นยางที่วางจำหน่ายทั่วไปมีหลายประเภท หากเป็นแผ่นยางที่ได้รับมาตรฐาน มอก. จะมีราคาสูง ขณะที่แผ่นยางที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น แผ่นโฟม แม้จะมีราคาถูกกว่าประมาณ 3-4 เท่า แต่ก็มีอายุการใช้งานสั้นมากเช่นเดียวกัน นอกจากนี้แผ่นยางในท้องตลาดส่วนใหญ่มักใช้ปริมาณสารเคมีในการผลิตค่อนข้างสูง อาจก่อให้เกิดปัญหาสารเคมีปนเปื้อนระหว่างการเลี้ยง ส่งผลต่อสุขภาพของโคนม รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการกำจัดแผ่นยางอย่างไม่ถูกวิธีหลังหมดอายุการใช้งาน การวิจัยพัฒนา ‘แผ่นยางพาราที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับปูพื้นคอกปศุสัตว์’ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ดร.ภุชงค์ กล่าวว่า จุดเด่นของแผ่นปูพื้นที่พัฒนาขึ้นคือ ‘คุณภาพดี ทนทาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม’ โดยผลิตจากยางพาราธรรมชาติและใช้สารเคมีในปริมาณต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการใช้ซิงก์ออกไซด์เกรดพิเศษในการพัฒนาสูตรยาง ทำให้ได้แผ่นปูพื้นที่มีซิงก์ออกไซด์ในปริมาณต่ำกว่าแผ่นปูพื้นที่จำหน่ายทั่วไปค่อนข้างมาก ซึ่งองค์กรป้องกันสิ่งแวดล้อมจากประเทศสหรัฐอเมริกาได้จัดให้ซิงก์ออกไซด์เป็นสารเคมีที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมเพราะสามารถตกค้างอยู่ในผลิตภัณฑ์ยางและอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ได้ ดังนั้นหากผลิตภัณฑ์ยางมีซิงก์ออกไซด์ (รวมถึงสารเคมีอื่น ๆ) ในปริมาณต่ำ เมื่อหมดอายุการใช้งานแล้ว แต่ไม่ได้ถูกนำกลับไปใช้ซ้ำหรือได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี ก็จะเป็นการช่วยลดปริมาณสารพิษที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมได้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางโดยใช้สารเคมีในปริมาณต่ำแต่ยังคงมีสมบัติผ่านเกณฑ์ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมถือเป็นโจทย์ที่ยากและท้าทาย เนื่องจากโดยปรกติการผลิตผลิตภัณฑ์ยางต้องใส่สารเคมีเป็นส่วนผสมเพื่อให้ได้ยางที่มีคุณสมบัติตามต้องการ หากใส่สารเคมีในปริมาณน้อยเกินไปก็มักส่งผลเสียต่อสมบัติของผลิตภัณฑ์ยางนั้น ๆ
“สำหรับในส่วนของต้นทุนการผลิตและราคาจำหน่าย พบว่าหากมีบริษัทเอกชนรับถ่ายทอดเทคโนโลยีและมีการผลิตจำนวนมากเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ สามารถผลิตจำหน่ายในราคาเทียบเท่าหรือต่ำกว่าแผ่นยางพาราเกรดที่ได้รับมาตรฐาน มอก. ทั่วไปได้ เนื่องจากราคาจำหน่ายขึ้นอยู่กับกระบวนการผลิตและปริมาณในการผลิตเป็นสำคัญ”
ปัจจุบันนวัตกรรม ‘แผ่นยางพาราที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับปูพื้นคอกปศุสัตว์’ ผ่านมาตรฐาน มอก. 2584-2556 ซึ่งยืนยันได้ถึงประสิทธิภาพ และความทนทานต่อการใช้งาน อีกทั้งยังมีการทดสอบภาคสนาม โดยนำไปทดลองที่ อุทุมพรฟาร์ม จังหวัดราชบุรี ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ธีระ รักความสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการเก็บข้อมูลผลกระทบของการใช้แผ่นยางต่อสุขภาพของโคนม ผลการทดสอบแสดงให้เห็นว่าแผ่นยางมีความทนทาน ไม่ส่งผลเสียต่อคุณภาพน้ำนม และช่วยลดการบาดเจ็บได้อย่างมีประสิทธิผล
“ทีมวิจัยนำแผ่นยางพาราไปทดสอบปูพื้นคอกที่อุทุมพรฟาร์ม ซึ่งเป็นฟาร์มโคนมขนาดกลาง มีแม่โคประมาณ 40 ตัว และติดตามเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว พบว่าแผ่นยางมีความทนทาน รับน้ำหนักโคนมได้ดี ไม่เกิดการฉีกขาด หรือเสียรูปได้ง่าย ระยะเวลาการใช้งานจากเบื้องต้นประเมินไว้ 2 ปี แต่จากการทดสอบใช้งานจริงพบว่าเกือบ 4 ปีแล้ว ยังมีคุณภาพดี ซึ่งคาดว่าแผ่นยางจะมีอายุการใช้งานได้ถึง 5 ปีหรือมากกว่า นอกจากนี้ผลการตรวจสุขภาพโคนม ทั้งการตรวจเลือดและร่างกาย พบว่าการปูแผ่นยางพาราช่วยลดอาการบาดเจ็บของโคนมได้ดีมาก เมื่อเทียบกับกลุ่มโคนมที่ยืนบนปูนซีเมนต์ โดยโคนมไม่มีอาการบาดเจ็บ ไม่พบบาดแผลภายนอก รวมถึงไม่พบปริมาณสารโลหะหนักต่าง ๆ ในเลือดและน้ำนม เกษตรกรกรเจ้าของฟาร์มรู้สึกพอใจต่อผลการใช้งานเป็นอย่างมาก ขณะนี้มีการต่อยอดความร่วมมือกับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) จังหวัดสระบุรี เพื่อขยายขอบเขตการทดสอบภาคสนามเพิ่มเติม”
อย่างไรก็ดีขณะนี้แผ่นยางพาราที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับปูพื้นคอกปศุสัตว์ยังไม่มีการผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์ โดยอยู่ระหว่างการทดสอบภาคสนามเพิ่มเติมและมองหาผู้ประกอบการที่สนใจรับถ่ายทอดเทคโนโลยี ทั้งนี้หากสามารถต่อยอดงานวิจัยสู่การผลิตใช้งานจริง เชื่อว่าเป็นประโยชน์อย่างมากต่ออุตสาหกรรมโคนมและยางพารา นอกจากนี้ยังนับเป็นนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจ BCG ยุทธศาสตร์ชาติ ที่มุ่งใช้ประโยชน์และดูแลทรัพยากรอย่างยั่งยืน
“เวลาลงพื้นที่ฟาร์ม สังเกตเห็นเลยว่าเมื่อโคลงจากพื้นยางมายืนบนพื้นปูน โคจะยืนแบบกลัว ๆ ขาสั่น สายตาบ่งบอกเลยว่ากลัวลื่น น่าสงสารมาก อีกทั้งการที่โคนมอยู่ในภาวะหวาดกลัว หรือมีบาดแผลจากการกดทับย่อมมีผลต่อคุณภาพการผลิตน้ำนม ยิ่งหากโคนมล้มและพิการ ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่คุ้มค่าอย่างมาก ขณะเดียวกันแผ่นยางราคาถูกที่วางจำหน่ายทั่วไป บางชนิดก็มีอายุการใช้งานสั้น บางชนิดก็ตรวจพบการปนเปื้อนของสารเคมีในน้ำล้าง ดังนั้นการใช้แผ่นยางพาราที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่เพียงเป็นผลดีช่วยลดการบาดเจ็บและพิการให้กับโคนม แต่ยังลดปริมาณสารพิษที่จะส่งผลต่อสุขภาพโคนมและสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญยังช่วยส่งเสริมเพิ่มสัดส่วนการใช้ยางพาราในประเทศ เพราะแผ่นยางที่ผลิตมีการใช้ยางพาราเป็นองค์ประกอบมากถึง 50%” ดร.ภุชงค์กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจร่วมทดสอบพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือรับถ่ายทอดเทคโนโลยี สามารถติดต่อได้ที่ ดร.ภุชงค์ ทับทอง ทีมวิจัยผลิตภัณฑ์ยางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มวิจัยนวัตกรรมการแปรรูปยาง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ โทรศัพท์ 0 2564 6500 ต่อ 74802
เรียบเรียงโดย วัชราภรณ์ สนทนา ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์กโดย ฉัตรทิพย์ สุริยะ ฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่ สวทช.