หน้าแรก โรคไข้หูดับ ภัยเงียบที่ควรจับตามอง
โรคไข้หูดับ ภัยเงียบที่ควรจับตามอง
4 พ.ย. 2564
0
BCG
ข่าว
บทความ

 

“โรคไข้หูดับ” คือ โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เกิดจากการติดเชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) จากหมู ความรุนแรงของโรคไม่เพียงสามารถทำให้ผู้ป่วยมีอาการหูหนวกถาวรแต่ยังเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยทั่วไปโรคไข้หูดับมักพบในประเทศที่มีการทำฟาร์มหมูหนาแน่นและมีความนิยมในการบริโภคเนื้อหมู เช่น ประเทศในแถบทวีปเอเชียรวมถึงประเทศไทย อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาในไทยมีอัตราการติดเชื้อที่ไม่สูงนักจึงทำให้โรคนี้เป็นโรคติดเชื้อที่ถูกเพิกเฉย (Neglected zoonosis disease) และทำให้พิษภัยของโรคขยายตัวขึ้นอย่างเงียบๆ ทั้งด้านอัตราการติดเชื้อ การระบาดของโรค และภาวะเชื้อดื้อต่อยาต้านจุลชีพ ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข การเกษตร และการส่งออกเนื้อหมูของไทย

ดร.สุกัญญา ยงเกียรติตระกูล นักวิจัยกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยและการค้นหาสารชีวภาพ  ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผู้ทำวิจัยเรื่องเชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส ในประเทศไทย อธิบายว่า ในไทยพบพฤติการณ์ของการติดเชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส ส่วนใหญ่ผูกโยงกับวัฒนธรรมการบริโภคเนื้อและเลือดหมูดิบ กึ่งสุกกึ่งดิบ หรือไม่สุกดี เช่น การบริโภคลาบหมูดิบ หลู้ ก้อย และหมูกระทะ โดยจะพบอัตราการติดเชื้อสูงในช่วงเทศกาลที่ผู้คนเฉลิมฉลองหรือมีกิจกรรมบันเทิงร่วมกัน เช่น เทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ และในช่วงออกพรรษา นอกจากนี้ยังพบการติดเชื้อผ่านทางบาดแผลหรือทางเยื่อบุตาในกลุ่มผู้ที่มีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดกับหมูป่วย เช่น เกษตรกรในฟาร์ม หรือผู้ที่ทำงานในโรงเชือด

 

ลาบดิบ

 

หลู้

 

หมูกระทะ

 

“อาการและความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับ สายพันธุ์ของเชื้อ และระดับภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย จากรายงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีอาการตั้งแต่เป็นไข้ หนาวสั่น หอบเหนื่อย คลื่นเหียน ปวดศีรษะ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด หรือหากไม่เสียชีวิตผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาหายแล้ว ส่วนใหญ่มักพบความผิดปกติตามมาในภายหลัง เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง สูญเสียการทรงตัว และสูญเสียการได้ยินจนถึงขั้นหูหนวกหรือที่เรียกกันว่า หูดับในประเทศไทยมีอัตราการติดเชื้อประมาณ 200-350 คนต่อปี มีอัตราการเสียชีวิตสูงประมาณร้อยละ 5-10 โดยในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการติดเชื้อยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง และเนื่องจากการตรวจหาเชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส และการตรวจหาสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรครุนแรงทำได้ยาก ส่วนใหญ่ไม่สามารถดำเนินการในสถานพยาบาลขนาดเล็กได้ ตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีการรายงานไว้จึงอาจต่ำกว่าความเป็นจริง”

 

 

เชื้อดื้อยาปฏิชีวนะพุ่งสูง กระทบสาธารณสุขและเศรษฐกิจไทย

นอกจากวัฒนธรรมการกินอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบของคนไทยที่เป็นสาเหตุของโรคไข้หูดับแล้ว อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราการติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และอาจเป็นอันตรายอย่างมากในอนาคตคือ “เชื้อมีอัตราการดื้อต่อยาปฏิชีวนะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง”​ การศึกษาระบาดวิทยาทำให้พบว่าเชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส มีอัตราการดื้อยาปฏิชีวนะกลุ่มยาที่นิยมใช้รักษาในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้น เมื่อเทียบกับช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยตรวจพบเชื้อดื้อยาทั้งในหมูป่วยและหมูปกติที่ยังไม่เป็นโรค

 

 

ดร.สุกัญญา กล่าวว่า หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ปริมาณเชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด คือการขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อการรักษาและป้องกันโรค มีการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อในหมูแทนการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ มีการใช้ยาปฏิชีวนะในรูปแบบที่ไม่เหมาะสม รวมถึงมีการใช้ปริมาณยาที่มากเกินพอดี เชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียทั่วไปที่อาศัยอยู่ในหมูจึงเกิดวิวัฒนาการเป็นเชื้อที่ดื้อต่อยา ทำให้ยาที่เคยใช้รักษาอยู่เดิมมีประสิทธิภาพในการรักษาลดลง หรือไม่สามารถใช้รักษาได้ต่อไป ส่งผลให้ในอนาคตจะมีทางเลือกในการใช้ยาปฏิชีวนะลดน้อยลง ทั้งนี้การดื้อต่อยาไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะเชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส เท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับเชื้อแบคทีเรียก่อโรคอื่นๆ ทั้งในหมูและสัตว์เศรษฐกิจชนิดอื่น

 

“การพบยาปฏิชีวนะหรือการพบเชื้อดื้อยาตกค้างในเนื้อหมู ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขในไทย แต่ยังเป็นภัยต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะตั้งแต่ปี 2559 องค์กรด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ เช่น องค์กรอนามัยโลก (WHO) องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และสหภาพยุโรป (EU) ต่างออกมาเรียกร้องให้ทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญและปัญหา “เชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial resistance หรือ AMR) ที่กำลังส่งผลกระทบไปทั่วโลก การที่เชื้อดื้อต่อยาปฏิชีวนะ (Superbug) ทำให้ผู้ป่วยต้องใช้เวลาในการรักษานานขึ้นด้วย จำเป็นต้องเพิ่มความแรงและปริมาณของตัวยาในการรักษา มีอัตราการเสียชีวิตมากขึ้น รวมถึงมีค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น นอกจากนั้นทางด้านภาคการวิจัยยังต้องเร่งศึกษาและพัฒนากระบวนการตรวจและรักษา รวมถึงเร่งค้นคว้าพัฒนายาใหม่เพื่อให้ทันต่อการวิวัฒนาการของเชื้อดื้อยาที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ ปัจจุบันในหลายประเทศที่เป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจ จึงได้มีการออกระเบียบและข้อบังคับเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น และมีข้อกำหนดในการห้ามนำเข้าเนื้อสัตว์ที่ตรวจพบเชื้อดื้อยาหรือยาปฏิชีวนะตกค้าง ซึ่งมาตรการเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกเนื้อสัตว์ของไทยในอนาคต”

ดร.สุกัญญา เสริมว่า เพื่อแสดงถึงความร่วมมือกับนานาประเทศในการแก้ปัญหา AMR ที่กำลังเป็นวิกฤตในปัจจุบัน และยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางการค้าในกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร ภาครัฐและหน่วยงานวิจัยของไทยควรเร่งพัฒนาแนวทางในการแก้ปัญหาให้แก่ภาคการเกษตรอย่างจริงจังและยั่งยืน ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก และยังเป็นการหนุนเสริมการสร้างความยั่งยืนทางด้านอาหารในประเทศอีกด้วย

 

เร่งวิจัยล่วงหน้า เตรียมรับมือวิกฤติการณ์จากเชื้อก่อโรค

การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือวิกฤติการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งเพื่อชะลอหรือยับยั้งการเกิดปัญหาดังกล่าว ภาคการวิจัยควรเร่งวิจัยให้มีฐานข้อมูล องค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญที่มากพอ

 

 

ดร.สุกัญญา กล่าวว่า ที่ผ่านมาทีมวิจัยไบโอเทคได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับเชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส โดยร่วมกับทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ University of Arkansas for Medical Sciences และได้มีการตีพิมพ์ผลงานในระดับนานาชาติแล้วในหลายประเด็น เช่น 1) งานวิจัยที่แสดงถึงการระบาดของเชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส ที่มีซีโรไทป์ (Serotype) และชนิดของลำดับดีเอ็นเอ (Sequence type) ชนิดต่างๆ ในไทย รวมถึงได้แสดงให้เห็นถึงการแพร่เชื้อ (Transmission) ที่เกิดขึ้นระหว่างคนและหมู 2) การศึกษาวิจัยโปรตีนที่เป็นปัจจัยกระตุ้นความรุนแรงของโรค ซึ่งสามารถใช้เป็นเป้าหมายเพื่อค้นคว้าและพัฒนาวัคซีนและยารักษาโรค 3) งานวิจัยด้านระบาดวิทยาของเชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส ดื้อยาปฏิชีวนะที่พบในไทย 4) งานวิจัยที่แสดงถึงความสัมพันธ์ในระดับจีโนมของเชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส ที่พบในไทยกับที่พบในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก

“นอกจากนี้ทีมวิจัยไบโอเทคยังได้ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการติดตามการระบาดของเชื้อดื้อยาที่คัดแยกจากกลุ่มประชากรหมูป่วยทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี และได้ทำการถอดรหัสจีโนมของเชื้อดื้อยาทั้งหมด ข้อมูลจากการศึกษาทำให้ทราบระบาดวิทยาของเชื้อดื้อยาในเชิงลึก และค้นพบตัวบ่งชี้ทางชีวภาพที่สามารถนำมาใช้เพื่อการออกแบบและพัฒนาการตรวจเชื้อที่แม่นยำและถูกต้องมากยิ่งขึ้น ข้อมูลจากการศึกษาได้ถูกรวบรวมและเตรียมเผยแพร่ในบทความวิชาการระดับนานาชาติแล้ว นอกจากตัวอย่างการศึกษาข้างต้น ปัจจุบันทีมวิจัยยังได้มีความร่วมมือกับทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลในการถอดรหัสจีโนมอย่างสมบูรณ์ของเชื้อดื้อยาที่พบเฉพาะในประเทศไทย เพื่อค้นหาปัจจัยและกลไกการดื้อยา ซึ่งนับเป็นข้อมูลสำคัญและจำเป็นต่องานวิจัยด้านการพัฒนาวัคซีนและยารักษาโรค รวมถึงการวางแนวทางเพื่อการป้องกันการดื้อยาในอนาคตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

ดร.สุกัญญา ทิ้งท้ายว่า โรคไข้หูดับ เป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยในทุกปี แม้โรคติดเชื้อจากแบคทีเรียจะเป็นโรคที่มนุษย์สามารถป้องกันและรักษาให้หายได้ เพียงทุกภาคส่วนตระหนักถึงภาพรวมปัญหาที่เกิดขึ้นและให้ความร่วมมือในการปรับเปลี่ยนแก้ไขอย่างจริงจัง ภาครัฐควรร่วมมือกับเอกชนในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดงานวิจัยโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนอย่างเป็นรูปธรรม สนับสนุนการสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง การทำวิจัยเชิงลึกเพื่อสร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับเชื้อจำเพาะถิ่น และการสร้างเครือข่ายงานวิจัยด้านโรคติดเชื้อที่ครอบคลุมถึงด้านระบาดวิทยา เพื่อส่งเสริมให้ไทยมีศักยภาพในการวิจัยเพื่อลดผลกระทบปัญหาจากโรคติดเชื้อและปัญหา AMR ในภาคสาธารณสุขและภาคการส่งออกของประเทศได้อย่างทันท่วงทีและยั่งยืนต่อไป

 

 


เรียบเรียงโดย : ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์คโดย : ภัทรา สัปปินันทน์

แชร์หน้านี้: