หน้าแรก SCI UPDATE : วิกฤตินกเงือกไร้โพรงรัง สวทช. หนุนซ่อม หวังเพิ่มโอกาสขยายพันธุ์นกเงือก
SCI UPDATE : วิกฤตินกเงือกไร้โพรงรัง สวทช. หนุนซ่อม หวังเพิ่มโอกาสขยายพันธุ์นกเงือก
31 มี.ค. 2563
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

For English-version news, please visit : NSTDA’s hornbill nest restoration project helps conserving this vulnerable species

COVER SCI UPDATE : วิกฤตินกเงือกไร้โพรงรัง สวทช. หนุนซ่อม หวังเพิ่มโอกาสขยายพันธุ์นกเงือก

สวทช. หนุนซ่อม ‘โพรงรัง’ หวังเพิ่มโอกาสขยายพันธุ์นกเงือก

ป่าฮาลา–บาลา ขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนของ ‘นกเงือก’ อัญมณีแห่งแดนใต้ที่นักดูนกหลายคนเฝ้าใฝ่หา เพราะผืนป่าแห่งนี้สามารถพบนกเงือกได้มากถึง 10 ชนิด จาก 13 ชนิด ที่พบในประเทศไทย รวมทั้งยังพบนกเงือกหายาก เช่น นกชนหิน นกเงือกปากย่น และนกเงือกหัวหงอก หากแต่ว่าปัจจุบันแม้ป่าฮาลา–บาลา จะเป็นถิ่นอาศัยที่มีความอุดมสมบูรณ์ แต่นกเงือกยังอยู่ในภาวะวิกฤติ เพราะไม่เพียงถูกล่าเพื่อนำลูกไปขาย หากยังต้องเผชิญอุปสรรคมากมายในการทำรัง โดยเฉพาะ ‘การขาดแคลนโพรงรัง’ หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชากรนกเงือกลดลง

Hala bala

ป่าฮาลา–บาลา

นกเงือกปากย่น

นกเงือกปากย่น

นกเงือกหัวหงอก

นกเงือกหัวหงอก

วิกฤตินกเงือกไร้โพรงรัง

นกเงือก เป็นนกโบราณขนาดใหญ่ที่มีวิวัฒนาการมากว่า 45 ล้านปี ความโดดเด่นของพวกมันไม่เพียงมีจะงอยปากหนาใหญ่ มีโหนกทางด้านบนเป็นโพรง และส่งเสียงร้องได้ดังกังวาน แต่การทำโพรงรังยังเป็นอุปนิสัยที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ประมาณเดือนมีนาคมหรือเมษายน นกเงือกเริ่มจับคู่และเสาะหาโพรงรังที่เหมาะสมในการให้ตัวเมียออกไข่-ฟักไข่ เมื่อได้โพรงรังแล้วนกเงือกตัวเมียจะปิดปากโพรงให้แคบลง โดยใช้มูล เศษไม้ และเศษดิน ค่อยๆ ปิดจนเหลือเพียงช่องแคบๆ เพื่อให้ตัวผู้ส่งอาหารให้เท่านั้น

ตลอดช่วงระยะเวลาที่นกเงือกตัวเมียทำรัง นกเงือกตัวผู้มีหน้าที่หาอาหารมาป้อนให้ตัวเมีย เมื่อลูกนกออกจากไข่ นกเงือกตัวผู้ยังคอยหาอาหารมาให้ทั้งตัวเมียและลูกนก โดยช่วงเวลาในการอยู่ในโพรงของแม่นกและลูกนกของนกเงือกแต่ละชนิดไม่เท่ากัน แต่โดยรวมแล้วประมาณ 4 – 6 เดือน ซึ่งเมื่อลูกนกออกจากรัง พ่อและแม่นกจะคอยเลี้ยงลูกนกต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง

นกเงือกปากดำ

นกเงือกปากดำ

สุเนตร การพันธ์ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าป่าพรุ – ป่าฮาลา บาลา เล่าว่า โพรงรังที่มีสภาพเหมาะสมคือปัจจัยสำคัญต่อการขยายพันธุ์ของนกเงือกตามธรรมชาติ แต่ปัจจุบันโพรงรังของนกเงือกเริ่มขาดแคลน ปัญหาคือนกเงือกไม่สามารถเจาะโพรงสร้างรังเองได้เช่นเดียวกับนกทั่วไป ต้องหาโพรงรังที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งแต่ละโพรงต้องใช้เวลานาน

สุเนตร การพันธ์

สุเนตร การพันธ์ 

“โพรงของต้นไม้ทุกต้นไม่ใช่ว่านกเงือกจะใช้ทำรังได้ โพรงรังที่ใช้ได้จะต้องมีขนาดที่พอดี คือไม่ใหญ่และไม่เล็กจนเกินไป ถ้ามีขนาดใหญ่จนเกินไป เวลาปิดปากโพรงจะปิดได้ยาก หรือปิดไม่ได้ แต่ถ้าแคบเกินไปนกเงือกก็อยู่อาศัยไม่ได้ ที่สำคัญคือระดับพื้นในโพรงยังต้องมีความสูงพอดีที่นกเงือกนั่งแล้วจะสามารถยื่นปากออกมาจากโพรงเพื่อรับลูกไม้จากตัวผู้ได้ สำหรับสาเหตุการขาดแคลนโพรงรังขณะนี้เกิดจากโพรงใหม่ที่มีสภาพเหมาะสมเริ่มหาได้ยาก ขณะที่โพรงนกเงือกที่มีอยู่เดิมเริ่มใช้งานไม่ได้

เพราะด้วยป่าฮาลา-บาลา เป็นป่าดิบชื้น ต้นไม้ส่วนใหญ่เป็นไม้โตเร็ว และโทรมได้ง่าย ต้นไม้บางต้นเมื่อไม้ขยายตัวก็ทำให้ปากโพรงแคบลง บางโพรงพื้นในโพรงเริ่มทรุด เมื่อโพรงรังเดิมใช้งานไม่ได้ นกเงือกต้องออกหาโพรงรังใหม่ ขณะที่นกเงือกเกิดใหม่ต้องพยายามหาโพรงรังเช่นเดียวกัน ทุกวันนี้กว่านกเงือกจะได้โพรงรังอาจต้องต่อสู้กับนกเงือกคู่อื่น และเมื่อไม่มีโพรงรังจะเป็นข้อจำกัดต่อการขยายพันธุ์นกเงือกตามธรรมชาติ”

ซ่อมโพรงรังขยายพันธุ์นกเงือก

ป่าบาลาในแต่ละปีมีนกเงือกเพิ่มจำนวนขึ้น แต่จำนวนโพรงที่เหมาะสมของนกเงือกไม่เพียงพอต่อประชากรนกเงือกที่มีอยู่ ปัญหานี้ส่งผลต่อประชากรนกเงือกหลายชนิด ซึ่งที่ผ่านมามีการแก้ไขจากโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือกหลายวิธี และพบว่าวิธีที่ได้รับผลสำเร็จมากที่สุดคือ ‘การซ่อมแซมและปรับปรุงโพรงรังของนกเงือกในธรรมชาติ’


ดังนั้นเพื่อปรับปรุงซ่อมรังเดิม ให้กลับมาเป็นที่อยู่ของนกเงือกอีกครั้ง สุเนตร การพันธ์ และเจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าป่าพรุ – ป่าฮาลา บาลา, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา–บาลา, โครงการสำรวจและรวบรวมพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับป่า ภาคใต้ และชาวบ้านหมู่บ้านบาลา ตำบลโละจูด อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส จึงได้ร่วมกันจัดทำ ‘โครงการซ่อมแซมและปรับปรุงโพรงรังเพื่อการสร้างโอกาสในการเพิ่มจำนวนของนกเงือกในพื้นที่ป่าบาลา’ ภายใต้การสนับสนุนของ สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

สุเนตร เล่าว่า ตั้งแต่ปี 2542-ปัจจุบัน สวทช. ได้นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับชุมชนและทรัพยากรทางธรรมชาติในพื้นที่ฮาลา-บาลาอย่างต่อเนื่อง กระทั่ง ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ ที่ปรึกษาอาวุโส สวทช. ได้ลงพื้นที่ และรับทราบถึงสถานการณ์การขาดแคลนโพรงรังก็ได้สนับสนุนการจัดทำโครงการฯ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินโครงการมา 2 ปีแล้ว โดยได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าอยู่เป็นประจำมาช่วยในการสำรวจโพรงรังนกเงือก

ทั้งนี้จากความร่วมมือของเจ้าหน้าที่และชาวบ้านในการหาโพรงรังธรรมชาติที่เหมาะสมกับนกเงือก ทำให้สามารถพบโพรงรังมากถึง 29 โพรง จากเดิมที่สำรวจพบเพียง 9 โพรง โดยในจำนวนนี้มีโพรงที่นกเงือกทำรังจำนวน 10 โพรง แบ่งเป็นนกเงือกหัวแรด 6 โพรง นกเงือกกรามช้าง 3 โพรง และนกเงือกปากดำ 1 โพรง

ชนันรัตน์ นวลแก้ว

ชนันรัตน์ นวลแก้ว

ชนันรัตน์ นวลแก้ว นักวิชาการป่าไม้ หนึ่งในเจ้าหน้าที่โครงการฯ เล่าว่า โครงการฯ ได้จัดฝึกอบรมชาวบ้านเกี่ยวกับนกเงือก วิธีการดูโพรงนกเงือก รวมถึงวิธีการซ่อมแซมโพรงรัง โดยได้รับความร่วมมือจากโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก ซึ่งในการอบรมครั้งแรกมีชาวบ้านเข้าร่วม 20 คน จากนั้นจะสลับมาอยู่ประจำกับเจ้าหน้าที่ 5-6 คน เพื่อช่วยสำรวจและซ่อมแซมโพรงรัง ในการสำรวจเมื่อเจอโพรงจะเฝ้าสังเกตว่าเป็นโพรงที่มีนกเงือกหรือไม่ หากมีจะดูว่าเป็นนกเงือกชนิดใด และนกเงือกป้อนอาหารชนิดใดให้กับลูกเพื่อเก็บข้อมูล แต่สำหรับโพรงร้างจะปีนขึ้นไปสำรวจว่าโพรงมีปัญหาอะไร เช่น โพรงกว้างไป แคบไป หรือพื้นโพรงทรุด เพื่อเตรียมแผนในการซ่อมปรับปรุง

 

การซ่อมแซมโพรงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากเจ้าหน้าที่และชาวบ้านจะต้องช่วยกันขนอุปกรณ์ที่มีน้ำหนักเกือบ 100 กิโลกรัม ย่ำเท้าบุกพงไพรเป็นระยะทางไกลแล้ว พวกเขายังต้องเสี่ยงชีวิตปีนต้นไม้สูงหลาย สิบเมตร และยังไม่รวมอุปสรรคสำคัญนั่นคือฝน

สุเนตร เล่าเสริมว่า การซ่อมโพรงรังแต่ละครั้งต้องใช้เจ้าหน้าที่และชาวบ้านเกือบ 20 คน เพราะต้องช่วยกันชนอุปกรณ์ในการปีนชักรอกเข้าไป เนื่องจากโพรงรังนกเงือกส่วนใหญ่อยู่บนต้นไม้สูง บางโพรงอยู่สูงถึง 40 เมตร ต้องชักรอกตัวเองให้ไต่ต้นไม้ขึ้นไปถึงโพรงรัง บางโพรงต้องใช้เวลาเดินทางเป็นวันกว่าจะถึง ซึ่งทางเดินในป่าฮาลา-บาลา ล้วนเป็นทางชัน และถ้าวันใดเข้าไปแล้วเจอฝนก็ต้องขนของกลับทันที เพราะว่าตัวเบรกในการชักรอกจะทำงานไม่ได้เป็นอันตราย ซึ่งภาคใต้ขึ้นชื่ออยู่แล้วว่าฝนแปดแดดสี่

ซ่อมโพรงรังขยายพันธุ์นกเงือก

“การซ่อมโพรงรังจะยึดข้อมูลจากมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือกเป็นหลัก ว่ามาตรฐานโพรงรังของนกเงือกแต่ละชนิดต้องมีความกว้าง ความยาว ความหนาของโพรงเท่าไหร่ สมมติว่าเป็นนกเงือกตัวใหญ่ ปากโพรงอาจจะกว้าง 13 เซนติเมตร สูง 30 เซนติเมตร ถ้าโพรงไหนที่ความกว้างน้อย เราก็พยายามเจาะปากโพรงให้กว้างขึ้น แต่ถ้าโพรงกว้างเกินไปก็พยายามเอาไม้กระดานมาปิดให้เหลือ 10-13 เซนติเมตร หรือถ้าโพรงทรุดก็เทดินเสริม อันนี้คือตัวอย่าง สิ่งสำคัญคือต้องรู้ก่อนว่าโพรงรังนี้ เจ้าของเดิมเป็นนกเงือกชนิดไหน เพื่อซ่อมแซมรังให้ได้ตามมาตรฐานของนกเงือกชนิดนั้น”

อนุรักษ์นกเงือกเชื่อมสำนึกชุมชน

“ขณะนี้โครงการฯ ได้ทำการซ่อมแซมโพรงรังของนกเงือกไปทั้งหมด 10 โพรงรัง” ชนันรัตน์ กล่าวและเล่าต่อว่า ที่น่ายินดีคือมีนกเงือกเข้าใช้ประโยชน์จากโพรงที่ซ่อมแล้ว 2 โพรง คือโพรงนกเงือกหัวแรด 1 โพรง และโพรงนกเงือกปากดำ 1 โพรง ซึ่งชาวบ้านต่างก็ร่วมดีใจว่านกเงือกได้ใช้ประโยชน์แล้ว ถ้าโพรงที่พวกเราทยอยซ่อมไปเรื่อยๆ แล้วนกเงือกได้เข้าใช้ทำรัง ก็หวังว่าจะช่วยเพิ่มจำนวนประชากรนกเงือกในพื้นที่ป่าฮาลา-บาลาได้เพิ่มขึ้น”

อย่างไรก็ดี จำนวนโพรงรังที่เพิ่มมากขึ้นไม่เพียงเป็นหนทางอนุรักษ์ประชากรนกเงือก แต่ยังเท่ากับช่วยรักษาความหลากหลายของพันธุ์ไม้ในผืนป่าให้คงอยู่ด้วย เพราะนกเงือกคือ ‘นักปลูกป่า’ ที่มีบทบาทสำคัญในการกระจายพันธุ์ไม้จากการกินและนำพาเมล็ดไปทิ้งในพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทว่าเหนือสิ่งอื่นใดคงไม่เท่ากับ ‘การปลูกจิตสำนึกรักษ์’ ให้กับคนในพื้นที่ เพราะจะนำมาซึ่งการดูแลหวงแหนทรัพยากรเหล่านี้ไว้ได้อย่างยั่งยืน

นกเงือกหัวแรด

นกเงือกหัวแรด

“สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากการทำโครงการฯ คือชาวบ้านพร้อมที่จะมาร่วมกันทำงาน และมีความขยันขันแข็งที่ได้มาช่วยเหลือนกเงือก สัมผัสได้เลยว่าชาวบ้านรู้สึกหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่มากขึ้น โดยเฉพาะนกเงือก จากเดิมที่อาจสงสัยว่าทำไมต้องหาโพรงรังให้นกเงือกอยู่ แต่เมื่อเขาได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ธรรมชาติในพื้นที่ เมื่อเจอเหตุการณ์อะไรที่แม้จะไม่ใช่นกเงือก เขาก็จะนึกถึงและคอยมาแจ้งเจ้าหน้าที่ในโครงการฯ เสมอ” ชนันรัตน์ กล่าว

เช่นเดียวกับ สุเนตร ที่บอกว่า “ความสำเร็จของโครงการฯ ที่เกิดขึ้น คือการมีเวทีให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ทำให้เกิดความร่วมแรงร่วมใจ เกิดความรัก ความหวงแหน และอยากให้นกเงือกยังคงอยู่ในพื้นที่ป่าบาลาเพื่อเป็นทรัพยากรไว้ให้ลูกหลานในพื้นที่และผู้คนอื่นๆ ได้ดูต่อไป”

นกเงือกมีความผูกพันกับป่าที่สมบูรณ์ และป่าจะสมบูรณ์ได้ต้องอาศัยนกเงือกเช่นกัน ความร่วมมือร่วมใจของเจ้าหน้าที่และชาวบ้าน จะทำให้ป่าฮาลา-บาลา แห่งนี้ยังคงได้รับการกล่าวขานว่าเป็นแหล่งชมนกเงือกที่ดีสุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย

/////////////////////////

ผู้เรียบเรียง: นางสาววัชราภรณ์ สนทนา ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.

ภาพ: สถานีวิจัยสัตว์ป่าป่าพรุ – ป่าฮาลา บาลา

กราฟิก: นางสาวฉัตรทิพย์ สุริยะ ฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่ สวทช.

31 มี.ค. 2563
0
แชร์หน้านี้: