สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สายงานพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาฉะเชิงเทรา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาชลบุรี ระยอง ร่วมจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรยานยนต์และขนส่งสมัยใหม่ ระหว่างวันที่ 17– 19 กรกฎาคม 2564 ผ่านระบบออนไลน์ด้วยโปรแกรม zoom เพื่อพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนในโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับโรงเรียนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ให้มีความรู้ ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่สอดคล้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกEEC) โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมในระดับมัธยมศึกษา จากโรงเรียนในพื้นที่ EEC (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง) จำนวน 60 คน ทั้งนี้ยังมีบุคลากรทางการศึกษาอีกมากกว่า 20 ท่าน เข้าร่วมสังเกตการณ์
นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สวทช. กล่าวต้อนรับ โดยกล่าวถึงกิจกรรมและสื่อจากหลักสูตร ที่จะช่วยส่งเสริมการออกแบบการเรียนรู้และการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน โดยท้ายที่สุดแล้วคุณครูสามารถนำไปประยุกต์ต่อยอดจัดทำเป็นรายวิชาเพิ่มเติมในหลักสูตรสถานศึกษา และขยายผลสู่การจัดกิจกรรมเพิ่มพูนความรู้และทักษะให้แก่นักเรียนในห้องเรียนได้
จากนั้นเป็นการบรรยายภาพรวมโครงการ EECi โดย ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. การอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมภายใต้โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้กับโรงเรียนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งประกอบด้วย 4 หลักสูตร ได้แก่ 1) หลักสูตรยานยนต์และขนส่งสมัยใหม่ 2) หลักสูตรอาหารและอาหารเพื่ออนาคต 3) หลักสูตรเคมีชีวภาพ “จากทรัพยากรชีวภาพสู่การวิจัยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์” 4) หลักสูตร อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ตอน ระบบ IoT กับการออกแบบกล่องปลูกพืชโดยใช้แสงเทียม สอดคล้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักในเขตพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC
โดยมี ดร.สมศักดิ์ ทองเนียม ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาชลบุรี ระยอง กล่าวเปิดการอบรม ต่อด้วยการบรรยายพิเศษ โดย อาจารย์ณภัทร ศรีละมัย ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาฉะเชิงเทรา
กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรยานยนต์และขนส่งสมัยใหม่ใน 2 วันแรกนำโดยวิทยากรหลัก ดร. ปิติวุฒญ์ ธีรกิตติกุล อาจารย์ประจำสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มจธ. และทีมผู้ช่วยวิทยากร เริ่มการอบรมด้วยการแนะนำภาพรวมหลักสูตรยานยนต์และขนส่งสมัยใหม่ ซึ่งประกอบด้วยการบรรยายเนื้อหาความรู้และกิจกรรมปฏิบัติการเพื่อให้ครูมีความรู้ความเข้าใจ ได้ประสบการณ์เกี่ยวกับยานยนต์และพลังงานทางเลือก ด้วยรูปแบบกิจกรรมและสื่อการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ที่กระตุ้นการมีส่วนร่วมผ่านช่องทางแชตหรือโปรแกรมช่วยสอน เช่น padlet และ livesheet
โดยมีรายละเอียดที่สนใจในหัวข้อ “สนุกคิดพิชิตยานยนต์ไฟฟ้าและพลังงานแสงอาทิตย์” เกี่ยวกับพื้นฐานความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า การสร้างรถพลังงานไฟฟ้า ความรู้ไฟฟ้าเบื้องต้นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการใช้งานอุปกรณ์ เครื่องมือ และเครื่องมือวัดต่าง ๆ รวมถึงกิจกรรมทดลองเกี่ยวกับรถพลังงานไฟฟ้า และหลักการทำงานและกิจกรรมทดลองเกี่ยวกับรถเก็บประจุพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นกิจกรรมปฏิบัติการรายบุคคล ที่สามารถแชร์ผลการทดลองผ่าน livesheet
ส่วนกิจกรรมกลุ่ม ในห้องย่อยของ Zoom จะเป็นปฏิบัติการทีม เพื่อพัฒนายานยนต์ตามที่กำหนด แล้วนำเสนอผลงานผ่าน Padlet โดยที่ภารกิจมีดังนี้ 1) รถพลังงานไฟฟ้าที่สามารถบรรทุกมวลน้ำหนักที่กำหนด ในระยะทางที่กำหนดได้ 2) รถเก็บประจุพลังงานแสงอาทิตย์ที่สามารถเคลื่อนที่ไปถึงระยะทางที่กำหนดได้เร็วที่สุด
ปิดท้าย ด้วย “ยานยนต์ล้อเดียว นวัตกรรมแห่งอนาคต” โดยนำกิจกรรมด้วยกระบวนการทางสะเต็มศึกษา กระตุ้นความสนใจและความท้าทาย จากตัวอย่างสถานการณ์ในภาพยนตร์จูราสสิคเวิลด์ การออกแบบยานยนต์ไจโรสเฟียร์ เพื่อนำเข้าสู่ความรู้ทางด้านยานยนต์แห่งอนาคต หลักการทำงานของยานยนต์ล้อเดียว รวมถึงกิจกรรมปฏิบัติการประกอบสร้างยานยนต์ล้อเดียว การทดลองเกี่ยวกับปัจจัยการทำงานของยานยนต์ล้อเดียว และภารกิจปฏิบัติการกลุ่มเพื่อพัฒนายานยนต์ล้อเดียวที่สามารถเคลื่อนที่ถึงระยะทางที่กำหนด ตามเวลาที่กำหนด แล้วนำเสนอผลงานผ่าน Padlet
วันสุดท้ายของการอบรมเริ่มด้วยการแชร์ประสบการณ์ โดย อาจารย์มานะ อินทรสว่าง โรงเรียนศึกษานารี กรุงเทพฯ ครูแกนนำโครงการพัฒนาศักยภาพครูและขยายผลสื่อการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษา สวทช. ในหัวข้อ “การจัดการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษาที่เชื่อมโยงสู่ชั้นเรียน”
เสริมด้วยการบรรยาย หัวข้อ การนำกิจกรรมยานยนต์และขนส่งสมัยใหม่ ไปสู่การออกแบบการจัดทำรายวิชาเพิ่มเติมในสถานศึกษา โดย คณะศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาฉะเชิงเทรา นำโดย ศน.ณภัทร ศรีละมัย และคณะศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาชลบุรี ระยอง นำโดย ศน.อมร สุดแสวง เพื่อให้ผู้เข้าอบรมระดมความคิดในกลุ่มย่อย ช่วยกันออกแบบร่างแนวทางการนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมนำไปใช้ในสถานศึกษา นำเสนอแผน ก่อนที่จะสรุปกิจกรรมและร่วมกันวางแผนการดำเนินงานติดตามการนำกิจกรรมไปใช้ในสถานศึกษาต่อไป
เสียงสะท้อนส่วนหนึ่งจากผู้เข้าร่วมอบรม คุณครูบุษกร สุภาผล รร.ทุ่งศุขลาพิทยา”กรุงไทยอนุเคราะห์” ชลบุรี “เป็นกิจกรรมที่ทำให้เรารู้จักการแก้ปัญหาค่ะ ออกแบบการเรียนการสอนโดยการให้แก้ปัญหา ซึ่งวิธีการอบรมของวิทยากร สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้เลยค่ะ เป็นการฝึกทั้งกระบวนการกลุ่ม กระบวนการคิด และกระบวนการแก้ปัญหา”
“ได้รับองค์ความรู้ใหม่ๆจากที่มีองค์ความรู้อยู่แล้ว ทำให้มีองค์ความรู้เพิ่มมากขึ้นและยังสามารถแก้ปัญหาคิดสร้างสรรค์สร้างยานยนต์ขึ้นมาจากอุปกรณ์ที่มีให้อย่างจำกัด และที่สำคัญยังสามารถนำไปต่อยอดจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมศักยภาพพัฒนาให้ผู้เรียนได้อย่างไม่มีข้อจำกัดในการเรียนรู้โดยการจัดกิจกรรมหรือในรายวิชาให้นักเรียนได้” จากคุณครูสมพงศ์ จากโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 3 ฉะเชิงเทรา
“ได้รับความรู้ความเข้าใจเรื่องยานยนต์สมัยใหม่ชัดเจนมากขึ้นเพื่อนำไปต่อยอดความรู้ที่มีอยู่และนำไปปรับใช้ในการสอน สอดแทรกในรายวิชาต่างๆ เพื่อให้นักเรียนเห็นความสำคัญของยานยนต์สมัยใหม่ที่สามารถเกิดในอนาคตได้ รวมถึงยังสามารถนำรูปแบบการจัดอบรมรูปแบบใหม่ ที่มีความปลอดภัย แต่ก็ยังได้รับความรู้เต็มที่ ไปปรับใช้กับทางรร. และนักเรียน ได้ด้วย” จากคุณครูวรมิตา โรงเรียนบางปะกงบวรวิทยายน ฉะเชิงเทรา