หน้าแรก สพฉ. ผนึก ศิริราชวิทยวิจัย และ สวทช. ยกระดับความร่วมมือด้านดิจิทัลเพื่อการแพทย์ฉุกเฉิน
สพฉ. ผนึก ศิริราชวิทยวิจัย และ สวทช. ยกระดับความร่วมมือด้านดิจิทัลเพื่อการแพทย์ฉุกเฉิน
17 ต.ค. 2567
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์

(17 ตุลาคม 2567) ณ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี: สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) และ บริษัท ศิริราชวิทยวิจัย จำกัด ลงนามและแถลงข่าวความร่วมมือความพร้อมด้านดิจิทัลเพื่อการแพทย์ฉุกเฉิน โดยมี
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการในพิธีลงนามความร่วมมือด้านดิจิทัลเพื่อการแพทย์ฉุกเฉิน ระหว่างสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน กับบริษัท ศิริราชวิทยวิจัย จำกัด และระหว่าง สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยมีศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ประธานกรรมการ บริษัท ศิริราชวิทยวิจัย จำกัด ศาสตราจารย์ พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ประธานฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ศิริราชวิทยวิจัย จำกัด เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมลงนาม เพื่อพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มการแพทย์ฉุกเฉินที่ทันสมัยอย่างครบวงจร ยกระดับระบบการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทยที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาสนับสนุน โดยได้ผู้เชี่ยวชาญจาก สวทช. ช่วยพัฒนาระบบสารสนเทศการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล หรือ iDEMS ที่จะครอบคลุมทั่วประเทศ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพร้อมทีมงานจากศิริราช ช่วยพัฒนาระบบปฏิบัติการอัจฉริยะ หรือ SAVER (Smart Approach Vital Emergency Responses) ช่วยทำให้ทีมแพทย์เข้าช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้ทันทีที่มีการแจ้งเหตุ ด้วยความรวดเร็ว แม่นยำ และส่งผลให้ผู้ป่วยฉุกเฉินที่เกิดเหตุในทุกที่ ได้รับการรักษาที่เหมาะสมที่สุด เสริมความเข้มแข็งให้กับระบบการจัดการข้อมูลทางการแพทย์ 

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าการลงนามในบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินผ่านการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง สพฉ. ศิริราชวิทยวิจัย และสวทช. ในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล iDEMS โดยเชื่อมั่นว่าจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน ที่ครอบคลุม มีคุณภาพสูง ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชน และผู้ปฏิบัติงานในระบบการแพทย์ฉุกเฉินต่อไปได้ในวงกว้าง”  

ด้าน เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะยกระดับการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินของไทยให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล เมื่อมีประชาชนขอความช่วยเหลือผ่านโทรศัพท์ เบอร์ 1669 ผู้ปฏิบัติการในศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการสามารถทราบเบอร์โทร และตำแหน่งของผู้แจ้งเหตุ และตอบสนองได้ทันที อีกทั้งสามารถมองเห็นผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุผ่านการโทร VDO call เพื่อให้คำแนะนำการปฐมพยาบาลอย่างถูกต้องก่อนรถพยาบาลไปถึง ส่งผลให้สามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินได้ 

ด้าน ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ประธานกรรมการ บริษัท ศิริราชวิทยวิจัย จำกัด ได้กล่าวถึง ภารกิจที่สำคัญของศิริราชวิทยวิจัย คือ ทำให้นวัตกรรมในศิริราชเกิดประโยชน์กับสังคมให้มากที่สุด ถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของสถาบันการศึกษา นอกเหนือจากเรื่องการเรียนการสอน การสร้างบุคลากรจึงเป็นส่วนสำคัญในการสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ การทำความร่วมมือกับ สพฉ. นี้ จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และนำจุดแข็งของแต่ละองค์กรมาสร้างประโยชน์กับระบบการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินในประเทศ 

ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ประธานฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ศิริราชวิทยวิจัย จำกัด กล่าวว่า บริษัท ศิริราชวิทยวิจัย จำกัด หรือ ศิวิทย์ เป็นวิสาหกิจศิริราช ที่กำเนิดจากศิริราชมูลนิธิ มีเป้าหมายในการดำเนินงานเพื่อสังคม การทำความร่วมมือนี้จะทำให้เกิดการพัฒนาระบบสารสนเทศการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล SAVER: Smart Approach Vital Emergency Responses ซึ่งเป็นแหล่งเก็บรักษาข้อมูลขนาดใหญ่ด้านการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อการวิจัย และเพิ่มศักยภาพบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (สวทช.) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีเป้าหมายในการสร้างเสริมการวิจัย พัฒนา ออกแบบและวิศวกรรม จนสามารถนำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง สำหรับการร่วมมือครั้งนี้ สวทช. กับ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) และภาคีเครือข่าย มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์ม iDEMS ให้เป็นแพลตฟอร์มกลางด้านการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศที่สนับสนุนการปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการ และเพิ่มอัตราการรับรู้ทางด้านการดูแลป้องกันการเจ็บป่วยฉุกเฉินให้ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย รวมทั้งการเชื่อมโยงกับระบบที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบสารสนเทศการแพทย์ฉุกเฉินให้ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรับเรื่องและสั่งการฉุกเฉินทางการแพทย์ ให้สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้รวดเร็วมากขึ้น ลดความซ้ำซ้อนในการสอบถามและนำเข้าข้อมูล และติดตามการปฏิบัติงานเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยก่อนถึงโรงพยาบาลได้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น การพัฒนาแพลตฟอร์ม iDEMS ครั้งนี้เป็นการยกระดับเทคโนโลยีสื่อสารและสารสนเทศในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ให้เป็นระบบที่มีความสากล ประชาชนเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และลดความเหลื่อมล้ำ ให้ได้รับการรักษาเบื้องต้นได้ทันท่วงที” 

แพลตฟอร์ม iDEMS มีการพัฒนาในส่วนของ “ระบบรับแจ้งเหตุฉุกเฉินดิจิทัล” ซึ่ง สวทช. ได้พัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศในส่วนของการให้บริการระบบโทรศัพท์ (Call Center) ที่สามารถแจ้งเหตุได้ทั้งเสียง ข้อความ ภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว (Total Conversation) และยังมีเทคโนโลยี AI ช่วยสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ เช่น การช่วยแปลภาษา การช่วยคัดกรองอาการ และการแนะนำรถปฏิบัติการที่อยู่ใกล้ ทำให้ผู้ป่วยทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ทุกเพศ ทุกวัย สามารถเข้าถึงบริการการรักษาได้อย่างทันท่วงทีและเท่าเทียมกัน และมีการพัฒนาในส่วนของ ระบบการแพทย์ฉุกเฉินทางไกลสำหรับผู้ป่วยในรถพยาบาล หรือ Emergency Telemedical Direction สำหรับการกู้ชีพในภาวะวิกฤตด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ และอุปกรณ์ Data Gateway” ที่ สวทช. พัฒนาให้สามารถบริหารจัดการข้อมูลจากอุปกรณ์หลายชนิด เช่น อุปกรณ์วัดสัญญาณชีพ ปริมาณออกซิเจน กล้อง BodyCam (CCTV ติดตัวเจ้าหน้าที่) และอุปกรณ์สแกนลายนิ้วมือ ได้สะดวกรวดเร็ว ทำให้แพทย์สามารถเรียกดูข้อมูลที่จำเป็นในการประเมินอาการผู้ป่วยในขณะนำส่งโรงพยาบาลได้แบบ Real Time  

ทั้งสองระบบนี้ จะช่วยให้ประเทศสามารถลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐ และการนำเข้าเทคโนโลยีสารสนเทศจากต่างประเทศ ยกระดับการรับแจ้งเหตุและการสั่งการของเจ้าหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ลดอัตราการเสียชีวิตจากภาวะวิกฤติขณะนำส่งโรงพยาบาล ตอบโจทย์ประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมยุคไทยแลนด์ 4.0 และและสอดรับกับนโยบายด้านดิจิทัลของรัฐบาล 

สวทช. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทย และเชื่อว่าการขยายผลการใช้งานระบบ iDEMS ในพื้นที่ต่าง ๆ รวมทั้งการเชื่อมโยงกับระบบที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบสารสนเทศการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล (SAVER) ของมหาวิทยาลัยมหิดล จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชน บุคคลากรทางการแพทย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”   

แชร์หน้านี้: