ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านระบบสุขภาพ โดยเฉพาะปัญหาความแออัดในโรงพยาบาลและหน่วยบริการสาธารณสุข เนื่องมาจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นและทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ส่งผลให้จำนวนผู้เข้ารับบริการล้นโรงพยาบาล คนไข้ต้องรอคิวนานกว่าจะได้ตรวจรักษา บุคลากรทางการแพทย์มีเวลาดูแลผู้ป่วยน้อยลงและเหนื่อยล้าจากภาระงานที่มากเกินกว่าจะรองรับได้
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) วิจัยพัฒนาแพลตฟอร์มบริการทางการแพทย์เอเม็ด หรือ A-MED Care Platform ระบบหลังบ้านให้บริการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ช่วยสนับสนุนการทำงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และหน่วยงานด้านสาธารณสุขในประเทศ เพื่อให้ประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพผ่านโครงการ “30 บาทรักษาทุกที่”
ดร.กิตติ วงศ์ถาวราวัฒน์ หัวหน้ากลุ่มนวัตกรรมแพลตฟอร์มดิจิทัลสุขภาพและการแพทย์ สวทช. กล่าวว่า สวทช.ให้ความสำคัญกับงานวิจัยด้านการแพทย์และสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงสถานการณ์โควิดทีมวิจัยได้พัฒนาแพลตฟอร์มบริการการแพทย์ทางไกล หรือ A-MED Telehealth ซึ่งมีการนำไปใช้ดูแลผู้ป่วยโควิดที่แยกกักตัวที่บ้านในลักษณะโรงพยาบาลเสมือน เพื่อบรรเทาปัญหาคนไข้ล้นโรงพยาบาลในช่วงวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 ต่อมาได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พัฒนาต่อยอดเป็นระบบที่ดูแลข้อมูลการเบิกจ่ายในโครงการ “เจอ แจก จบ” เพื่อดูแลผู้ป่วยโควิดที่มีสิทธิบัตรทองและมีอาการไม่รุนแรงสามารถรับยารักษาจากร้านยาใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการ
ล่าสุดในปี 2567 สปสช.ได้ขับเคลื่อนโครงการ “30 บาทรักษาทุกที่” เพื่อยกระดับการดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทองให้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึงและลดปัญหาความแออัดในโรงพยาบาล โดย สวทช.ได้มีส่วนร่วมในการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพจากแพลตฟอร์มกลุ่ม AMED Care ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มหลังบ้านในการให้บริการการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ทั้งในกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ
“A-MED Care เป็นแพลตฟอร์มที่ สวทช.พัฒนาขึ้นเพื่อสนับสนุนการทำงานของหน่วยบริการนวัตกรรมบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ ที่ สปสช. ร่วมกับสภาวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุขภายใต้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งมีหน่วยบริการนวัตกรรมฯ รวม 7 ประเภทด้วยกัน ซึ่งนับว่าเป็นนวัตกรรมอย่างแท้จริงเพราะมีสถานพยาบาลเอกชนและคลินิกเอกชนเข้ามาร่วมให้บริการประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองด้วย โดยแพลตฟอร์ม A-MED Care เป็นระบบหลังบ้านที่ช่วยสนับสนุนหน่วยนวัตกรรมฯ ในการให้บริการคนไข้และจัดทำข้อมูลการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิบัตรทอง ปัจจุบันได้นำแพลตฟอร์ม A-MED Care ไปใช้กับหน่วยบริการนวัตกรรมฯ แล้ว 4 ประเภท ได้แก่ ร้านยาคุณภาพ คลินิกพยาบาล คลินิกเวชกรรม และคลินิกแพทย์แผนไทย และเร็ว ๆ นี้จะขยายการใช้งานไปยังหน่วยบริการนวัตกรรมฯ ที่เหลือให้ครอบคลุมทุกประเภท” ดร.กิตติ กล่าว
ทั้งนี้ แพลตฟอร์มกลุ่ม A-MED Care ประกอบด้วย 5 แพลตฟอร์ม ได้แก่
1. A-MED Care Pharma แพลตฟอร์มบริหารจัดการการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิบัตรทองของร้านยา ช่วยให้ประชาชนที่มีสิทธิบัตรทอง และมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 32 อาการ รับยาได้ที่ร้านขายยาที่มีสัญลักษณ์ “ร้านยาคุณภาพของฉัน” โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
2. A-MED Care for Nurse Clinics แพลตฟอร์มกลางสำหรับหน่วยบริการปฐมภูมิ ที่มีสัญญลักษณ์ คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น มุ่งเน้นให้บริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค การพยาบาลพื้นฐาน และตรวจรักษาโรคเบื้องต้นแก่ผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง ซึ่งครอบคลุม 10 กลุ่มโรคทั่วไป โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
3. A-MED Care for Medicine CLINIC แพลตฟอร์มกลางสำหรับหน่วยบริการปฐมภูมิ ที่มีสัญลักษณ์ คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น ช่วยเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนที่มีสิทธิบัตรทองเข้ารับการตรวจรักษาโรคทั่วไป โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
4. A-MED Care for Thai Traditional Medical Clinics แพลตฟอร์มกลางสำหรับคลินิกแพทย์แผนไทย ที่มีสัญลักษณ์ คลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น ให้บริการผู้มีสิทธิบัตรทองรักษาอาการเจ็บป่วยด้วยการนวด ประคบ หรืออบสมุนไพร ตามมาตรฐานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ และกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น
5. A-MED Care Home Ward แพลตฟอร์มที่พัฒนาต่อยอดจากระบบ A-MED Telehealth โดยร่วมกับสำนักการแพทย์ดิจิทัล กรมการแพทย์ สำนักสนับสนุนระบบปฐมภูมิ (สสป.) และ สปสช. สำหรับให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยในต่อเนื่องที่บ้าน ครอบคลุมโรคทางกาย 7 กลุ่ม โรคทางจิต และการบำบัดสารเสพติด 3 กลุ่ม ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างมีคุณภาพ และลดอัตราการครองเตียงในโรงพยาบาล
การพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อสุขภาพให้เป็นระบบหลังบ้านสำหรับการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิบัตรทอง ถือเป็นก้าวสำคัญของการนำนวัตกรรมดิจิทัลมาใช้เพื่อยกระดับบริการสาธารณสุขของไทยให้มีความทันสมัย เพิ่มความสะดวกให้ประชาชนผู้ใช้บริการ ลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดความแออัดในโรงพยาบาล และสร้างความมั่นคงในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างยั่งยืน
เรียบเรียงโดย วีณา ยศวังใจ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์กโดย ฉัตรทิพย์ สุริยะ ฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่ สวทช., วัชราภรณ์ สนทนา ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
ภาพประกอบโดย ชัชวาลย์ โบสุวรรณ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สวทช.