หน้าแรก สวทช. ผนึกกำลัง สพฐ. จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ(ออนไลน์)หลักสูตรเคมีชีวภาพ เรื่อง “จากทรัพยากรชีวภาพสู่การวิจัยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์” สอดคล้องกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพื้นที่ EEC
สวทช. ผนึกกำลัง สพฐ. จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ(ออนไลน์)หลักสูตรเคมีชีวภาพ เรื่อง “จากทรัพยากรชีวภาพสู่การวิจัยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์” สอดคล้องกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพื้นที่ EEC
5 ม.ค. 2565
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กลุ่มงานพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาฉะเชิงเทรา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาชลบุรี ระยอง จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรเคมีชีวภาพ เรื่อง “จากทรัพยากรชีวภาพสู่การวิจัยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์” ระหว่างวันที่ 25 – 26 ธันวาคม 2564 ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนในโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับโรงเรียนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีครูผู้เข้าร่วมอบรมในระดับมัธยมศึกษา จากโรงเรียนในพื้นที่ EEC (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง) จำนวน 160 คน  พร้อมด้วยบุคลากรทางการศึกษามากกว่า 20 ท่าน เข้าร่วมสังเกตการณ์

ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และนายไพฑูรย์ จารุสาร ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมเป็นประธานเปิดงานในครั้งนี้

ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล  รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า การพัฒนาเด็กและเยาวชน รวมทั้งครูอาจารย์เป็นสิ่งสาคัญที่ควรเร่งดำเนินการ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับรองรับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก คณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Human Development Center หรือ EEC-HDC) ได้กำหนดความรู้และทักษะที่จำเป็นต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วน 3 ด้าน ได้แก่ ทักษะด้านภาษา (ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน) ทักษะ Coding และทักษะ STEAM ซึ่งการพัฒนาทักษะด้าน STEAM จำเป็นต้องเพิ่มความรู้ความสนใจด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของเด็กและเยาวชนให้มากขึ้นด้วยกิจกรรมและการเรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อเป็นการบ่มเพาะทักษะทางความคิดสร้างสรรค์ การคิดค้นสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมใหม่ พัฒนาและกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนเกิดความสนใจในการเข้าสู่เส้นทางอาชีพนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพครูอาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

การอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมภายใต้โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้กับโรงเรียนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ประกอบด้วย 4 หลักสูตร ได้แก่ 1) หลักสูตรยานยนต์และขนส่งสมัยใหม่ 2) หลักสูตรอาหารและอาหารเพื่ออนาคต 3) หลักสูตรเคมีชีวภาพ “จากทรัพยากรชีวภาพสู่การวิจัยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์” 4) หลักสูตร อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ตอน  ระบบ IoT กับการออกแบบกล่องปลูกพืชโดยใช้แสงเทียม ซึ่งเป็นหลักสูตรที่สอดคล้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักในเขตพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC

นางฤทัย จงสฤษดิ์  ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สวทช. กล่าวว่า หลักสูตรนี้เน้นความสำคัญของการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาพัฒนาต่อยอดงานวิจัยด้านทรัพยากรชีวภาพที่มีความหลากหลายของประเทศไทย รวมถึงการประยุกต์ใช้สารเคมีชีวภาพ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม หรือ BCG Model ที่มุ่งเน้นการพัฒนา 3 เศรษฐกิจไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน

ซึ่งเนื้อหาและกิจกรรมออกแบบเพื่อพัฒนา “คุณครู” ผู้ถ่ายทอดความรู้สู่เด็กและเยาวชนเพื่อให้เด็กและเยาวชนตระหนักถึงความสำคัญของการวิจัยและนวัตกรรมต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ โดยเสริมความรู้พื้นฐานให้ผู้เข้าร่วมอบรมมีความรู้ความเข้าใจด้านการวิจัยพัฒนาคัดแยกสารเคมีชีวภาพที่มีประโยชน์มาประยุกต์ใช้ในด้านต่าง ๆ ผ่านการทำกิจกรรมที่ส่งเสริมและพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 สอดแทรกแนวทางการทำโครงงานวิทยาศาสตร์เพื่อให้เห็นแนวทางการพัฒนาและต่อยอดแนวคิดเป็นนวัตกรรมที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้จริงในชั้นเรียนและชีวิตประจำวันได้

การจัดฝึกอบรมในครั้งนี้มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒินำโดยวิทยากร นางสาวสุปราณี สิทธิไพโรจน์สกุล นักวิชาการอาวุโส ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สวทช. จัดการอบรมด้วยการแนะนำภาพรวมหลักสูตร ซึ่งประกอบด้วยการบรรยายเนื้อหาความรู้และกิจกรรมปฏิบัติการเพื่อให้ครูมีความรู้ความเข้าใจ ได้ทดลองปฏิบัติการเกี่ยวกับสารเคมีชีวภาพและเชื่อมโยงไปสู่กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ และต่อด้วยการบรรยายปรับพื้นฐานหัวข้อ “ทรัพยากรชีวภาพและการวิจัยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์”

โดย รศ.ดร.เทียนทอง ทองพันชั่ง จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นภาพรวมของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพในตลาดโลกและไทย เชื่อมโยงสู่ “จากทรัพยากรชีวภาพสู่การวิจัยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์” และภาพรวมของกระบวนการศึกษาวิจัยทรัพยากรชีวภาพ ตั้งแต่การสกัดสารสำคัญ การทำให้บริสุทธิ์ การศึกษาโครงสร้าง การปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีและการนำไปใช้ประโยชน์

กิจกรรมส่งเสริมเทคโนโลยีการสอนออนไลน์ โดย ดร.กมลรัตน์ ฉิมพาลี ครูชำนาญการพิเศษ (คศ.3) โรงเรียนถนนหักพิทยาคม จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งกระตุ้นการมีส่วนร่วมให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้รับความรู้ผ่านกิจกรรมที่ส่งเสริมและพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ด้วยรูปแบบกิจกรรมและสื่อการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ที่ผ่านช่องทางแชตหรือโปรแกรมช่วยสอนรวมถึง สื่อ แอปพลิเคชันต่าง ๆ เช่น padlet  Quizlet  wordwall FizziQ และการใช้ Canva ผลิตสื่อนำเสนอ

ต่อด้วยกิจกรรมที่ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ผ่านการทดลองปฏิบัติการในหัวข้อ “เทคนิคการสกัด และการทำสารให้บริสุทธิ์ด้วยวิธีโครมาโทกราฟี” เป็นหลักการสกัดสารสำคัญจากพืชและการทำสารให้บริสุทธิ์ด้วยวิธีโครมาโทกราฟี การแยกสารเพื่อนำไปใช้ และกิจกรรมหัวข้อ “การศึกษาโมเลกุลสารเคมี” ซึ่งจะเรียนรู้หลักการศึกษาโมเลกุลของสารสำคัญที่ได้จากทรัพยากรชีวภาพ โมเลกุลสารเคมีที่ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า การเปลี่ยนสีและการเปลี่ยนแปลงทางเคมีรวมไปถึงการเกิดการเรืองแสง

กิจกรรมบรรยายหัวข้อ การนำกิจกรรมไปสู่การออกแบบการจัดทำรายวิชาเพิ่มเติมในสถานศึกษา โดยคณะศึกษานิเทศก์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาชลบุรี ระยอง  นำโดย นายอมร สุดแสวง และคณะศึกษานิเทศก์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาฉะเชิงเทรา พร้อมด้วยนางสาวชานิศรา แสงอินทร์ และ นายวรพจน์ สิงหราช ผู้อำนวยการ เขตสำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษาฉะเชิงเทรา เพื่อให้ผู้เข้าอบรมเห็นแนวทางการนำความรู้และกิจกรรมที่ได้รับจากการอบรมไปใช้ปรับ ประยุกต์ใช้ในชั้นเรียน และร่วมกันวางแผนการดำเนินงานกิจกรรมไปใช้ในสถานศึกษาต่อไป

และกิจกรรมการบรรยายสุดท้ายหัวข้อ “การเปลี่ยนโครงสร้างโมเลกุลผ่านปฏิกิริยาเคมี” เพื่อเรียนรู้หลักการเปลี่ยนโครงสร้างโมเลกุลผ่านปฏิกิริยาเคมี นำโดย รศ.ดร.เทียนทอง ทองพันชั่ง และทีมงาน จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อด้วยกิจกรรมปฏิบัติการหัวข้อ “การนำสมุนไพรมาใช้ประโยชน์” เพื่อเรียนรู้แนวทางการนำผลิตภัณฑ์ที่สกัดได้จากพืชมาใช้ประโยชน์ ผ่านตัวอย่างกิจกรรมการทำยาหม่องสมุนไพร และการระดมสมอง ในห้องย่อยเพื่อสรุปแนวทางการนำกิจกรรมไปสู่ชั้นเรียน แนวทางการพัฒนานวัตกรรมต่อยอด นำเสนอ แลกเปลี่ยนผลงานผ่าน Padlet คือ เว็บไซต์ที่ให้บริการกระดานแสดงความคิดเห็นออนไลน์

หลังจากการเข้าร่วมกิจกรรมครูทุกท่านต่างก็มีความรู้สึกประทับใจและดีใจที่ตัวเองได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมนี้ ครูทศพร หลียะวงค์ รร.สวนกุหลาบวิทยาลัย ชลบุรี กล่าวถึงความรู้สึกว่า มันเป็นความประทับใจที่ยากจะบรรยาย ตนชอบกิจกจรรมเช่นนี้เพราะได้มาทบทวนความรู้ที่เคยเรียนมา ซึ่งบางเรื่องอาจจะลืมไปแล้ว ทำให้มีความแม่นยำในเนื้อหามากขึ้น สามารถนำไปใช้ได้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการสอนที่น่าสนใจเพื่อนำไปจัดกิจกรรมให้กับนักเรียน อาจจะประยุกต์ใช้ทั้งในรูปแบบออนไลน์ และออนไซต์ต่อไป

5 ม.ค. 2565
0
แชร์หน้านี้: