หน้าแรก รัฐมนตรีศุภมาส ติดตามการดำเนินงานของ อว. ในพื้นที่จังหวัดสงขลา ภายใต้การประชุม ครม. สัญจร กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (จังหวัดสงขลา ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง)
รัฐมนตรีศุภมาส ติดตามการดำเนินงานของ อว. ในพื้นที่จังหวัดสงขลา ภายใต้การประชุม ครม. สัญจร กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (จังหวัดสงขลา ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง)
18 ก.พ. 2568
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์

ภาพถ่ายรูปหมู่ โดยมีป้ายข้อความว่า ยินดีต้อนรับ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี และมีผู้ร่วมถ่ายภาพประมาร 20 คน

หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.สงขลา วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 : นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของ อว. ในพื้นที่จังหวัดสงขลา ภายใต้การประชุม ครม. สัญจร กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (จังหวัดสงขลา ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง) โดยมี แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวง อว. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) นายณัฐฏ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สส. พรรคภูมิใจไทย ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเเห่งชาติ (สวทช.) ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัด อว. ผู้บริหารมหาวิทยาลัย และนักเรียนจาก จ.สงขลา ร่วมให้การต้อนรับ

โอกาสนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ได้ติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินงานในด้านต่างๆ อาทิ การส่งเสริมเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมยางพารา ซึ่งยางพาราไม่เพียงเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีผลต่อวิถีชีวิตของคนใต้เท่านั้น แต่ยังเกี่ยวพันหล่อเลี้ยงชีวิตเกษตรกรเกือบทั้งประเทศ เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกยางพารามากถึง 64 จังหวัด เกี่ยวข้องกับชีวิตเกษตรกรชาวสวนยางมากกว่า 1 ล้านครัวเรือน ทว่าที่ผ่านมา ภาคการผลิตยางพาราทั้งเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมยังเผชิญกับปัญหาหลายด้าน ทั้งต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง สัดส่วนการใช้ยางในประเทศยังมีน้อย ต้องพึ่งพาตลาดส่งออกเป็นหลัก และแม้ประเทศไทยจะเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางพาราอันดับ 1 ของโลก แต่ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกวัตถุดิบแปรรูปขั้นต้น ซึ่งมีมูลค่าไม่สูงนัก

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ได้จับมือกับเครือข่ายนวัตกรรมยางพารา และหน่วยงานพันธมิตร เดินหน้าวิจัยและพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคการผลิตยางพาราตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เร่งสร้างนวัตกรรมส่งเสริมภาคการผลิตยางพารา ครอบคลุมตั้งแต่การรักษาสภาพน้ำยางไปจนถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางเพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกให้แก่ประเทศ

โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. ดร.ปณิธิ วิรุฬห์พอจิต หัวหน้าทีมวิจัยผลิตภัณฑ์ยางรูปแบบใหม่ กลุ่มวิจัยนวัตกรรมการแปรรูปยาง เอ็มเทค สวทช. และทีมนักวิจัย นำเสนอความก้าวหน้าของผลงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม ที่เกี่ยวข้องกับยางพารา ประกอบด้วย

1) เบาะเจลยางพารากระจายแรงเพื่อสุขภาพ (PARA Cushion) ผลิตภัณฑ์ยางรูปแบบใหม่ที่เพิ่มมูลค่าให้แก่ยางพารา ช่วยเหลือเกษตรกร ตลอดจนส่งเสริมเอกชนรายย่อยให้มีโอกาสจําหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงกว่ายางดิบ ลดการใช้สารเคมีในผลิตภัณฑ์ ปลอดภัยต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์นี้ตอบโจทย์ Silver Economy และ Health Tech ที่มุ่งเน้นการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ และการพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

2) พาราเพลิน ชุดของเล่นจากยางพารา ได้แก่ Para Dough, Para Note และ Para Sand เป็นผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมการเพิ่มปริมาณการใช้หรือการเพิ่มมูลค่าให้แก่ยางพารา ด้วยการประยุกต์ใช้ยางพาราในมุมมองใหม่ๆ โดยคํานึงถึงความปลอดภัยและสุขอนามัยมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก เด็กสามารถเล่นของเล่นเพื่อเสริมพัฒนาการด้านร่างกายและจิตใจได้อย่างสนุกสนานและปลอดภัย

3) สารเคมียางจากธรรมชาติสำหรับประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมยาง “สารบีเทพ (BeThEPS)” ซึ่งสามารถใช้ทดแทนแอมโมเนีย มีประสิทธิภาพยืดอายุน้ำยางสดได้นาน 1-3 วัน ช่วยเกษตรกรลดความถี่ในการส่งน้ำยาง ลดต้นทุน น้ำยางสดที่ได้มีคุณภาพดี ทำให้แผ่นยางจับตัวรีดง่าย เกิดลายชัดเจน เพิ่มปริมาณยางแผ่นรมควันคุณภาพดี ลดปริมาณยางตกเกรด ที่สำคัญคือไม่มีกลิ่นฉุน ปลอดภัยต่อสุขภาพของเกษตรกรและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำมาตรฐานต่างๆ เช่น มาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices) มาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) รวมถึงแนวคิด Sustainable Natural Rubber Initiatives (SNR-i) ที่อาจเป็นข้อกีดกันทางการค้าในอนาคต

4) มาตรฐานผลิตภัณฑ์ยาง ช่วยให้ผู้ใช้ได้รับสินค้าที่มีคุณภาพและผู้ผลิตสามารถนําข้อกําหนดเกณฑ์คุณภาพ (specification) ใน มอก. 980-2552 น้ำยางข้นธรรมชาติมาตรฐานไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก แต่การกําหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางยังไม่ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ยางทั้งหมด จึงต้องกําหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางให้ครอบคลุมมากขึ้น และปรับปรุงให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและพื้นฐานเทคโนโลยีของประเทศ

5) นวัตกรรมการผลิตยางก้อนถ้วยและยางแท่งไร้กลิ่น โดยยางก้อนถ้วยเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตยางแท่ง STR10 และ STR20 การผลิตยางก้อนถ้วยจะใช้กรด เช่น กรดฟอร์มิก และกรดกํามะถัน จับตัวน้ำยางสดให้เป็นก้อนในถ้วยยางจนเต็ม ขั้นตอนนี้ใช้เวลานานทําให้ก้อนยางบูดเน่า เนื่องจากการทําปฏิกิริยาของแบคทีเรียกับองค์ประกอบในน้ำยาง เช่น ไขมัน โปรตีน และคาร์โบไฮเดรต ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง การพัฒนานวัตกรรมทดแทนการใช้กรดจับตัวน้ำยางสามารถป้องกันการเกิดปฏิกิริยาของแบคทีเรียกับองค์ประกอบในน้ำยางได้

 

แชร์หน้านี้: