เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มอบหมายให้ ดร.พัชร์ลิตา ฉัตรวริศพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. นำคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยในโครงการ TAIST-Science Tokyo (เดิม TAIST-Tokyo Tech) ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ปกรณ์ โอภาประกาสิต หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์บูรณาการและนวัตกรรม สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ผู้อำนวยการหลักสูตร SERE รองศาสตราจารย์ ดร.ปวีนา ประไพนัยนา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ผู้อำนวยการร่วมหลักสูตร SERE รองศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบันฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ดร.ยุทธนา อิสสระชัยยศ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เจรจาหารือความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในกรุงโตเกียว ระหว่างวันที่ 12 – 15 ตุลาคม 2567 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อสนับสนุนการขยายเครือข่ายของโครงการและพัฒนาระบบนิเวศทางการศึกษา และการพัฒนาหลักสูตรใหม่ของโครงการ TAIST-Science Tokyo ให้ครอบคลุมสาขาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และนวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์และแก้ไขปัญหาความท้าทายระดับโลกด้วยงานวิจัยและพัฒนาที่เป็นนวัตกรรมที่สอดคล้องกับนโยบายของประเทศ
รูปภาพ : คณะเข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ Bio-Nano Technology และ ห้องปฏิบัติการฺ Bio-sensor Technology
โดยเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2567 ณ Tokyo University of Technology เขต Hachioji เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นำโดย Prof. Dr. Yasuyuki Egashira คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมด้วย Prof. Dr. Takahiro Arakawa อาจารย์คณะ Electric and Electronic Engineering, Tokyo University of Technology ให้การต้อนรับและเจรจาหารือร่วมกับคณะผู้บริหารโครงการ TAIST-Science Tokyo เพื่อขยายเครือข่ายและสร้างโอกาสให้นักศึกษาไทยได้มีโอกาสเข้าร่วมฝึกปฏิบัติวิจัยระยะสั้น ภายใต้โปรแกรม “Cooperative Education” ในสาขาเทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาไทย-ญี่ปุ่น ให้เข้าร่วมทำวิจัยระหว่าง คณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย สวทช. กับ Tokyo University of Technology ด้วย
ทั้งนี้การหารือร่วมกันของฝ่ายไทยและญี่ปุ่นได้มีการแลกเปลี่ยนถึงบทบาทและรูปแบบของโครงการ TAIST-Science Tokyo ภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ขับเคลื่อนและสนับสนุนนักวิจัย โดย สวทช. และการพัฒนาหลักสูตร ออกแบบการจัดการเรียนการสอนจากมหาวิทยาลัยเครือข่ายไทย 6 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยมหิดล และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ Tokyo University of Technology
จากนั้นในวันที่ 15 ตุลาคม 2567 ณ Tokyo Medical and Dental University (TMDU) ศูนย์ Ochanomizu ของ Institute of Science Tokyo เมืองโตเกียว Prof. Hiroshi Nishina ผู้อำนวยการสถาบัน Institute of Integrated Research Developmental and Regenerative Biology และ Prof. Hiroyuki Kagechika ผู้อำนวยการศูนย์ Biomaterials and Bioengineering organic and Medicinal Chemistry และคณะ ได้ให้การต้อนรับคณะผู้บริหารโครงการ TAIST-Science Tokyo และได้แนะนำรูปแบบการดำเนินงานของ TMDU โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1) Institute of Integrated Research (IIR) เพื่อการสนับสนุน cutting-edge research ในด้านการแพทย์ 2) Institute of Future Science สำหรับการพัฒนางานวิจัยสหวิทยาการเพื่อการค้นพบใหม่ที่ตอบโจทย์ความท้าทายต่างๆ 3) Institute of New Industry Incubation เพื่อการพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้างเครือข่ายงานวิจัยและบุคคลากรกับพันธมิตร ซึ่ง TMDU ได้มุ่งเน้นทำงานวิจัยทั้งสิ้น 10 ด้าน คือ 1) Rare diseases 2) Generative medicines 3) Oral Science 4) Quantum Science and Technology 5) Next-generation element strategy 6) Sustainable Social Infrastructure 7) Cyber Physical and Social Systems (CPS2) 8) Holistic Life Science 9) Integrated Energy Science 10) Digital Society devices and systems และฝ่ายไทยได้นำเสนอภาพรวมการดำเนินงานของ สวทช. และ โครงการ TAIST-Science Tokyo โดยมีความมุ่งหวังในการขยายเครือข่ายและพัฒนาหลักสูตรใหม่ด้าน Biomedical Engineering Program ร่วมกับ Tokyo Medical and Dental เพื่อสร้างและพัฒนานักศึกษาและบุคคลากรด้านการวิศวกรรมชีวการแพทย์โดยเฉพาะ
รูปภาพ : คณะ TAIST-Science Tokyo เข้าหารือกับ Tokyo Medical and Dental University (TMDU)
จากนั้น คณะผู้บริหารโครงการ TAIST-Science Tokyo ได้เข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการด้าน Precision Biomedical Engineering ห้องปฏิบัติการ Biomedical Informatics ห้องปฏิบัติการ Material-based Medical Engineering และห้องปฏิบัติการด้าน Diagnostic and Therapeutic Systems Engineering โดยจะนำสู่การพัฒนาหลักสูตรใหม่ด้าน Biomedical Engineering Program ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ความท้าทายของสถานการณ์ปัจจุบัน
รูปภาพ : เข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการต่างๆและหารือหัวข้องานวิจัยในการทำงานร่วมกัน