หน้าแรก สวทช. จับมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์บ่มเพาะเยาวชนด้านนวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะ และมอบชุดสื่อการเรียนรู้นวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะให้โรงเรียนขยายผลจัดกิจกรรม
สวทช. จับมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์บ่มเพาะเยาวชนด้านนวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะ และมอบชุดสื่อการเรียนรู้นวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะให้โรงเรียนขยายผลจัดกิจกรรม
23 พ.ค. 2567
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์

โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จัดงานอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง โครงงานด้านนวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะ และการเพิ่มมูลค่าผลผลิตในโรงเรียน ภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิใจกระทิง จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-25 พฤษภาคม 2567 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี โดย นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สวทช. ประธานในพิธีในการเปิดงานและกล่าวต้อนรับ นักเรียนและครูจากโรงเรียนปทุมธานี “นันทมุนีบำรุง” อ.เมืองปทุมธานี จ.ปทุมธานี โรงเรียนชัยสิทธาวาส “พัฒน์ สายบำรุง” อ.สามโคก จ.ปทุมธานี และอาจารย์จากศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา อ.วังจันทร์ จ.ระยอง เข้าร่วมกิจกรรมรวมทั้งสิ้น 40 คน

นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สวทช. กล่าวต้อนรับและกล่าวเปิดการจัดงานว่า กิจกรรมในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เด็กไทยได้เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติและสร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับอาชีพด้วยการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้สูงขึ้น ครูและนักเรียนที่เข้ารับการอบรมจะได้รับความรู้เรื่องของเกษตรสมัยใหม่และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อได้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เราจึงมุ่งเน้นหาวิธีที่จะทำอย่างไรให้การเพาะปลูกได้ผลผลิตดีและมีคุณภาพ ซึ่งการใช้วิธีเพาะปลูกแบบดั้งเดิมนั้นไม่เพียงพอ และในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมาก การเพิ่มผลผลิตให้มีคุณภาพดีจึงต้องนำเกษตรสมัยใหม่หรือนวัตกรรมการเกษตรเข้ามาช่วยในกระบวนการต่าง ๆ ครูและนักเรียนจะได้เรียนรู้จากกิจกรรมในครั้งนี้โดยทีมอาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มาเป็นวิทยากรให้ความรู้ตั้งแต่เรื่องของเทคโนโลยีระบบ IoT และเซนเซอร์ การออกแบบโรงเรือนอัจฉริยะ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร รวมถึงได้ลองนำเสนอโมเดลโรงเรือนอัจฉริยะและตัวอย่างโครงงานที่นักเรียนสนใจ

สำหรับกิจกรรมที่จัดในการอบรมครั้งนี้เน้นให้นักเรียนและครูได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเองและได้เยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ทางด้านเกษตรอัจฉริยะเพื่อให้ทั้งนักเรียนและครูได้รับประสบการณ์ตรง ได้รับแรงบันดาลใจ และได้แนวคิดเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดจัดทำเป็นโครงงานนวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะที่เป็นประโยชน์ต่อโรงเรียนและชุมชน ในส่วนของกิจกรรมที่นักเรียนและครูได้ลงมือทำ ได้แก่

1. กิจกรรมเรียนรู้ระบบ IoT และเซนเซอร์ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้งานบอร์ดสมองกลฝังตัว KidBright เรียนรู้การต่อวงจรและการเขียนโปรแกรมเชื่อมต่ออุปกรณ์ภายนอก รู้จักการทำงานของเซนเซอร์ชนิดต่าง ๆ เช่น เซนเซอร์วัดระดับแสง เซนเซอร์วัดอุณหภูมิ เซนเซอร์วัดความชื้นในดิน เรียนรู้ระบบ IoT การสั่งงานรดน้ำต้นไม้เมื่อดินแห้ง และการแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชันไลน์

2. กิจกรรมการออกแบบโรงเรือนและสร้างโมเดลโรงเรือนอัจฉริยะ ซึ่งได้เรียนรู้เกี่ยวกับระบบการให้น้ำพืช เช่น การใช้น้ำของพืช ความสัมพันธ์ระหว่างดินและน้ำ แหล่งน้ำที่พืชได้รับ และวิธีการให้น้ำแก่พืช เนื่องจากพืชแต่ละชนิดมีความต้องการปริมาณน้ำที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงต้องรู้จักเลือกวิธีการให้น้ำแก่พืชที่จะปลูกอย่างเหมาะสม จึงจะทำให้พืชชนิดนั้นเจริญเติบโตได้ดีและให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้รูปแบบของโรงเรือนชนิดต่าง ๆ และนำความรู้ที่ได้รับไปออกแบบและสร้างโมเดลโรงเรือนอัจฉริยะที่เหมาะสมกับพืชที่จะเลือกปลูก

3. เทคนิคการเตรียมสไลด์นำเสนอด้วย Canva สำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างสื่อนำเสนอที่มีความน่าสนใจผ่านรูปแบบที่หลากหลาย รู้จักออกแบบกราฟิกออนไลน์ที่ใช้ในการสร้างกราฟิกและการนำเสนอสู่สาธารณะ

4.กิจกรรมการแปรรูปอาหาร การออกแบบผลิตภัณฑ์ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการแปรรูปผักและผลไม้ที่วางจำหน่ายในท้องตลาด รู้จุดเด่นและจุดด้อยของวิธีการแปรรูปแต่ละวิธี นอกจากนี้ยังได้รู้จักอาหารโมเลกุล (Molecular gastronomy) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนออาหารแบบเดิม ๆ ให้ออกมาในรูปแบบใหม่ด้วยการประยุกต์ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ มีคอนเซ็ปต์คือต้องเด่นเรื่องรสชาติ มีความสวยงาม และแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร โดยใช้เทคนิคการสร้างของเหลวให้ขึ้นรูปเป็นทรงกลม (สเฟียริฟิเคชัน; Spherification) 2 วิธี ได้แก่ 1. สเฟียริฟิเคชันพื้นฐาน (Basic Spherification) จะได้ผลผลิตเป็นเม็ดเจลใสแบบเม็ดไข่ปลาคาเวียร์ 2. สเฟียริฟิเคชันย้อนกลับ (Reverse Spherification) จะได้ผลผลิตเป็นเม็ดเจลขุ่นแบบไข่แดงเจาะแล้วเนื้อไข่แดงทะลักออกมา

5. แนวคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งต้องเน้นไปที่ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้าและจุดเด่นของผลิตภัณฑ์เป็นสำคัญ โดยมีหลักสำหรับการสร้างผลิตภัณฑ์ดังนี้ ผู้นำต้องมีวิสัยทัศน์ (Leadership) กระบวนการคิดออกแบบ (Concept design) สร้างแบรนด์ (Branding) บรรจุภัณฑ์สินค้า (Packaging) และมีสตอรี่ (Storytelling) และรู้จักการนำเสนอด้วยการ Pitching ที่มุ่งเน้นการนำเสนอให้กลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้าสนใจในผลิตภัณฑ์

6. เยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ทางด้านนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่ นักเรียนและครูได้ไปเยี่ยมชมนวัตกรรมโรงงานผลิตพืช สวทช. (Plant Factory) เพื่อศึกษาดูงานวิจัยการปลูกพืชระบบปิดและการให้แสงที่แตกต่างกัน งานวิจัยปลูกพืชสมุนไพร และเยี่ยมชมสวนผักและแปลงสาธิต สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร สวทช. (AGRITEC) เพื่อดูตัวอย่างรูปแบบโรงเรือน และระบบการควบคุมการให้น้ำโดยใช้เซนเซอร์ตรวจวัดสภาพอากาศและความชื้นดิน

นอกจากนี้ได้มอบชุดสื่อการเรียนรู้สะเต็มศึกษา “นวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะและการเพิ่มมูลค่าผลผลิตในโรงเรียน” ให้แก่โรงเรียนปทุมธานี “นันทมุนีบำรุง” และโรงเรียนชัยสิทธาวาส “พัฒน์ สายบำรุง” โรงเรียนละ 10 ชุด เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ขยายผลจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้แก่นักเรียนกลุ่มอื่นในโรงเรียนต่อไป

รศ. ดร.สุเพชร จิรขจรกุล คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวปิดการจัดงานอบรมในครั้งนี้ว่า คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมกับ สวทช. และมูลนิธิใจกระทิง จัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่นักเรียนและครูจากโรงเรียนโรงเรียนปทุมธานี “นันทมุนีบำรุง” และโรงเรียนชัยสิทธาวาส “พัฒน์ สายบำรุง”เนื่องจากทางคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีอาจารย์และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลายไม่ว่าจะเป็นทางด้านการออกแบบโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ ระบบ IoT และเซนเซอร์ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร รวมถึงให้นักเรียนรู้จักการ Pitching นำเสนอผลิตภัณฑ์ของตนเองให้น่าสนใจ ซึ่งการอบรมในครั้งนี้เป็นการจัดกิจกรรมครอบคลุมเนื้อหาครบทั้งกระบวนการ ได้แก่ 1) ต้นน้ำ คือการออกแบบโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ ควบคุมด้วย IoT สำหรับการเพาะปลูกพืช 2) กลางน้ำ คือการนำวิทยาศาสตร์การอาหารมาใช้ในการแปรรูปผลผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่า 3) ปลายน้ำ คือการออกแบบผลิตภัณฑ์และการนำเสนอ ทั้งหมดนี้เป็นการบ่มเพาะให้กับนักเรียนได้เรียนรู้ครบทุกกระบวนการ ซึ่งนักเรียนสามารถนำองค์ความรู้และทักษะที่ได้รับไปปรับใช้ต่อยอดได้ทั้งในส่วนของการต่อยอดทางอาชีพสามารถสร้างรายได้ที่มีประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม การประกวดแข่งขัน หรือการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น นอกจากนี้เมื่อนักเรียนกลับไปที่โรงเรียนของตนเองแล้วก็ขอให้นักเรียนช่วยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงช่วยเหลือคุณครูขยายผลจัดกิจกรรมให้กับเพื่อนนักเรียนในโรงเรียนให้ได้รับความรู้และทักษะต่อไป

 

นายโฉม บุญจันทร์ อาจารย์จากศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา อ.วังจันทร์ จ.ระยอง กล่าวว่ากิจกรรมที่ได้เรียนรู้และจะนำไปปรับใช้ที่ศูนย์เรียนรู้ฯ ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ 1) การใช้ KidBright ซึ่งเป็นโปรแกรมพื้นฐานที่เข้าใจง่าย สามารถนำไปใช้ให้นักเรียนได้ฝึกฝนและประยุกต์ใช้กับโรงเรือนปลูกพืชภายในศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัตได้ 2) การออกแบบและสร้างโมเดลโรงเรือน สามารถนำไปบูรณาการกับการเรียนการสอนได้ 3) เทคนิคการ Pitching นำเสนอสินค้าหรือบริการ ซึ่งจะทำให้ในอนาคตนักเรียนได้ผลิตสินค้าเกษตรเพื่อการค้าและสามารถสร้างรายได้ให้ตนเองได้ ซึ่งการเข้าร่วมอบรมครั้งนี้ได้รับประโยชน์และสามารถนำไปใช้จัดกิจกรรมได้จริง

ส่วนนางสาวพีรดา จันคำ และนายพรชัย ศรีวิชัย ครูจากโรงเรียนชัยสิทธาวาส “พัฒน์ สายบำรุง” ได้กล่าวว่าการเข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้ได้รับความรู้และทักษะที่เป็นประโยชน์มาก และจะนำไปประยุกต์ใช้จัดกิจกรรมโครงงานด้านนวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะให้กับนักเรียนในโรงเรียนต่อไป ซึ่งการจัดกิจกรรมที่สถานศึกษาหรือโรงเรียนจะต้องเตรียมความพร้อมในหลายเรื่อง ได้แก่ เนื้อหา วิทยากร สื่อและอุปกรณ์ และผู้ช่วยวิทยากร และสิ่งสำคัญสำหรับการจัดกิจกรรมนั้นจะต้องเน้นให้นักเรียนได้รับความรู้ ได้ลงมือทำจริงและรู้สึกสนุก นอกจากนี้ควรมีนักเรียนที่ทำหน้าที่พี่เลี้ยงคอยช่วยเหลือครูและให้คำแนะนำแก่เพื่อน ๆ ระว่างทำกิจกรรมเพื่อให้นักเรียนคนอื่นได้เข้าใจและได้ลงมือทำครบทุกกระบวนการ
และเด็กชายธีธัช ปรีกมล นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนปทุมธานี “นันทมุนีบำรุง” กล่าวว่ารู้สึกประทับใจที่ได้เข้าร่วมการอบรม โดยกิจกรรมที่ชอบที่สุดคือการออกแบบและสร้างโรงเรือน เพราะสามารถนำไปสร้างโรงเรือนได้จริง และยังสร้างความสามัคคีภายในกลุ่มตั้งแต่ตอนช่วยกันคิด ออกแบบ และสร้างโรงเรือนจำลอง ส่วนกิจกรรมการแปรรูปอาหารก็ชอบ เพราะสนุกและได้รับความรู้ ได้ลงมือทำด้วยตนเอง ซึ่งเมื่อกลับไปโรงเรียนแล้วก็ตั้งใจจะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงช่วยคุณครูสอนเพื่อนนักเรียนคนอื่น ๆ ต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แชร์หน้านี้: