หน้าแรก สวทช. ผนึกสถาบันวิจัยเทคนิครถไฟประเทศญี่ปุ่น ผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมอุตสาหกรรมด้านระบบรางของไทย
สวทช. ผนึกสถาบันวิจัยเทคนิครถไฟประเทศญี่ปุ่น ผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมอุตสาหกรรมด้านระบบรางของไทย
1 ก.ค. 2564
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

วันที่ 1 กรกฎาคม 2564  ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้จัดพิธี  ลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อความร่วมมือด้านเทคนิค (Memorandum of Understanding (MoU) : Technical Cooperation) ระหว่างสถาบันวิจัยเทคนิครถไฟ ประเทศญี่ปุ่น (Railway Technical Research Institute: RTRI) ประเทศญี่ปุ่น และ สวทช. ผ่านระบบออนไลน์ โดยมี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. ดร.อิคุโอะ วาตานาเบะ (Dr. Ikuo Watanabe) ประธานสถาบันวิจัยเทคนิครถไฟประเทศญี่ปุ่น ดร.เอกรัตน์ ไวยนิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ สวทช. และ ดร. เทตสุโอะ อุซุกะ (Dr. Tetsuo Uzuka) ผู้อำนวยการทั่วไปฝ่ายต่างประเทศ สถาบันวิจัยเทคนิครถไฟประเทศญี่ปุ่น

เข้าร่วมในพิธีลงนาม และได้รับเกียรติจาก นายโฮโซโนะ เคสุเกะ (Mr. Hosono Keisuke) เลขานุการเอกด้านดิจิทัล สารสนเทศ เทคโนโลยีการสื่อสาร วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ร่วมกล่าวคำแสดงความยินดี โดยบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อผลักดันการร่วมมือวิจัยและพัฒนา การสร้างนวัตกรรม การถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาบุคลากร และการเปลี่ยนข้อมูล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการยกระดับคุณภาพของระบบขนส่งทางราง รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถให้กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งทางรางของประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ถึง 30 มิถุนายน 2567

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. และ RTRI  ได้มีการทำงานร่วมกันตั้งแต่ปี 2554 โดย RTRI ได้ให้การสนับสนุนการจัดฝึกอบรม “หลักสูตรวิศวกรรมระบบขนส่งทางราง (วศร.)” รวมถึง การร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการและนิทรรศการ “อุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทย (The Thai Rail Industry Symposium and Exhibition: RISE) ตั้งแต่ปี 2559 จนนำมาสู่พิธีการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมมือด้านเทคนิคครั้งนี้ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างและขยายความร่วมมือของสองหน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างด้านการวิจัยและพัฒนา การสร้างนวัตกรรม และการพัฒนาบุคลากรวิจัย ซึ่งเป็นพันธกิจของ สวทช. และเป็นกลไกสำคัญต่อการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศตามนโยบายภาครัฐ ที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของอาเซียน รวมถึงการสร้างความยั่งยืนให้กับภาคอุตสาหกรรมในประเทศ พร้อมกับกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ดร.อิคุโอะ วาตานาเบะ (Dr. Ikuo Watanabe) ประธานสถาบันวิจัยเทคนิครถไฟประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ สวทช. เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญด้านการวิจัยและพัฒนาระบบรางในประเทศไทย ดังนั้นการลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ระหว่าง RTRI และ สวทช. จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง นอกเหนือจากความร่วมมือทางด้านการวิจัยและพัฒนาที่จะดำเนินการกันแล้ว RTRI ยังสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่นำไปสู่การยกระดับมาตรฐานด้านการขนส่งระบบรางในกลุ่มประเทศเอเชียด้วย

นายโฮโซโนะ เคสุเกะ (Mr. Hosono Keisuke) เลขานุการเอกด้านดิจิทัล สารสนเทศ เทคโนโลยีการสื่อสาร วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวว่า ระบบการขนส่งทางรางเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทย ซึ่งประเทศไทยได้มีความก้าวหน้าในระบบขนส่งทางอย่างชัดเจน จะเห็นได้จากมีการเปิดการเดินรถไฟสายใหม่ทุกปี และได้ใช้เทคโนโลยีรถไฟของประเทศญี่ปุ่นในระบบรถไฟฟ้าชานเมืองทั้งสายสีม่วงและสายสีแดง  สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย จึงขอแสดงความยินดีกับ RTRI และ สวทช. ที่จะมีความร่วมมือในด้านระบบขนส่งทางราง ผ่านบันทึกความเข้าใจฯ นึ้

สวทช. ได้เล็งเห็นและให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมรองรับความต้องการใช้งานในระบบขนส่งทางมาโดยตลอด จึงได้จัดตั้ง ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ (Rail and Modern Transports Research Center : RMT) ซึ่งเป็นหน่วยงานในรูปแบบศูนย์วิจัยและพัฒนาเฉพาะทาง (Focus Center) ในปี 2563 เพื่อรับผิดชอบดำเนินการวิจัยและพัฒนาที่มีเป้าหมายในการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีความพร้อมสำหรับใช้งานในภาคอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางและการขนส่งสมัยใหม่ อาทิ การพัฒนาเทคโนโลยีการซ่อมบำรุงเชิงคาดการณ์ การพัฒนาเทคนิคการตรวจสอบแบบอัตโนมัติสำหรับรถไฟ การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนทดแทนเพื่อการใช้งานในรถไฟ และการสร้างฐานข้อมูลเพื่อการวางแผนซ่อมบำรุงรถไฟ รวมถึง การพัฒนาเทคโนโลยีการขนส่งเชื่อมต่อเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารที่ต้องการเข้าสู่การใช้งานระบบขนส่งทางรางหลัก

ในส่วนของมาตรฐานและการทดสอบ  สวทช. ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบที่มีขีดความสามารถด้านการทดสอบและตรวจสอบผลิตภัณฑ์และสินค้าให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วน ผู้สร้างระบบ และผู้ให้บริการเดินรถไฟในประเทศ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อรองรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของระบบขนส่งทางรางของประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต

1 ก.ค. 2564
0
แชร์หน้านี้: