(วันที่ 12 – 13 พฤศจิกายน 2567) ณ โรงแรมเจพี เอมเมอรัลด์ (JP Emerald Hotel) จังหวัดยโสธร: สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) จัดอบรม เชิงปฏิบัติการเทคโนโลยีการผลิตพืชหลังนาแบบครบวงจร: ถั่วเขียวพันธุ์ KUML ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ (1) กลุ่ม Train the trainer ได้แก่ กลุ่มเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดยโสธร และเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรในจังหวัดยโสธร และ (2) กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ จ.ยโสธร เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจในการปลูกถั่วเขียว KUML อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ รวมถึงยกระดับเกษตรกรให้สามารถนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์จริง สร้างรายได้เสริม อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาการเผาฟางข้าวและเศษวัสดุทางการเกษตร ซึ่งส่งผลดีต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน
ภายในงานได้มีการมอบปัจจัยการผลิตให้กับเกษตกร โดย สวทช. สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว KUML เบอร์ 4 และปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียม และสำนักงานเกษตรจังหวัดยโสธรสนับสนุนเชื้อราไตรโคเดอร์มาให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเพื่อใช้ในการปลูกหลังฤดูทำนาปีนี้อีกด้วย
นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร กล่าวว่า จังหวัดยโสธรมีความพร้อมในการขับเคลื่อนการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรหลังฤดูทำนา โดยการร่วมมือกันของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดยโสธร และภาคเอกชน ในการเป็นตลาดรับซื้อถั่วเขียวพันธุ์ KUML สำหรับถั่วเขียวพันธุ์ KUML นอกจากจะเป็นพืชที่สร้างรายได้แก่เกษตรกรหลังฤดูทำนาแล้ว ยังช่วยในการบำรุงดินด้วย พร้อมทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรลดการเผาฟางข้าวหลังฤดูทำนา หันมาปลูกพืชอายุสั้น สร้างรายได้อีกทางหนึ่ง ทั้งนี้การอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการมีองค์ความรู้จะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถส่งเสริมให้พี่น้องเกษตรกรปลูกถั่วเขียวพันธุ์ KUML ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถกระจายสู่ทุกอำเภอภายในจังหวัดยโสธร เกิดการสร้างอาชีพที่ยั่งยืนในชุมชน พร้อมทั้งเป็นการรณรงค์งดการเผาตอซัง หันมาสร้างรายได้หลังการทำนาแก่พี่น้องเกษตรกร
นายนพดล ผุดผ่อง เกษตรจังหวัดยโสธร กล่าวว่า วัตถุประสงค์การจัดอบรมครั้งนี้เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียว KUML ให้กับนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรระดับอำเภอ, ระดับจังหวัด, เกษตรอำเภอของสำนักงานเกษตรจังหวัดยโสธร และเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร รวม 100 คน ให้มีองค์ความรู้การปลูกถั่วเขียวพันธุ์ KUML ตามหลักวิชาการ สามารถนำความรู้ไปส่งเสริมการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ รวมถึงเกษตรกรที่ผ่านการประเมินคัดเลือกของ สวทช. ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอและจังหวัด จำนวน 350 ราย เพื่อให้เกษตรกรมีองค์ความรู้ทั้งเทคนิคการปลูก การเก็บเกี่ยว และการรักษาเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวพันธุ์ KUML อย่างมีประสิทธิภาพ
นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) กล่าวว่า ถั่วเขียวถือเป็นพืชทางเลือกที่สำคัญสำหรับเกษตรกรไทยในช่วงหน้าแล้งหลังการทำนา เนื่องจากเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย เก็บเกี่ยวได้เร็ว และยังช่วยบำรุงดิน สวทช. ในฐานะหน่วยงานในกำกับของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์พัฒนาถั่วเขียวสายพันธุ์ KUML จำนวน 6 สายพันธุ์ ที่ให้ผลผลิตสูงถึง 300 กิโลกรัมต่อไร่ มีเมล็ดขนาดใหญ่ และต้านทานต่อโรคราแป้งและใบจุด เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่ขาดแคลนน้ำช่วงฤดูแล้ง
โครงการขยายผลการผลิตถั่วเขียวคุณภาพสายพันธุ์ KUML ได้รับการสนับสนุนจาก ธ.ก.ส. โดยใช้กลไก “ตลาดนำการผลิต” ผ่านความร่วมมือกับภาคเอกชนในการรับซื้อผลผลิต ได้แก่ บริษัท กิตติทัต จำกัด รับซื้อถั่วเขียวปลอดภัยในจังหวัดสุพรรณบุรี สุรินทร์ และศรีสะเกษ เพื่อแปรรูปเป็นถั่วกะเทาะซีกปีละ 4,000 ตัน และบริษัท ข้าวดินดี จำกัด รับซื้อถั่วเขียวอินทรีย์ในจังหวัดอำนาจเจริญเพื่อแปรรูปเป็นพาสต้าปีละ 20 ตัน
ในปี พ.ศ. 2566 ได้นำร่องในจังหวัดยโสธร 2 กลุ่ม คือ กลุ่มสหกรณ์เกษตรอินทรีย์เลิงนกทาและไทยเจริญ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตปุ๋ยอินทรีย์และข้าวอินทรีย์บ้านคำครตา ซึ่งประสบความสำเร็จในการสร้างรายได้ให้เกษตรกร โดยกลุ่มแรกมีรายได้สุทธิ 28,650 บาท และกลุ่มที่สองมีรายได้สุทธิ 31,175 บาท โดยหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตเกษตรกรยังสามารถไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดบำรุงดินได้ ทำให้ลดการใส่ปุ๋ยในนาข้าวลงได้
ล่าสุดปี พ.ศ. 2567 สวทช. ได้รับทุนสนับสนุนจาก ธ.ก.ส. ในการขยายผลสู่ 17 กลุ่มใน 8 อำเภอของจังหวัดยโสธร แบ่งเป็นกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ 2 กลุ่ม และกลุ่มผลิตเพื่อการค้า 15 กลุ่ม โดย สวทช. สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ 1,750 กิโลกรัม พร้อมปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียม และจัดอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีแบบครบวงจร การดำเนินงานนี้นอกจากจะสร้างรายได้ให้เกษตรกรแล้ว ยังช่วยปรับปรุงบำรุงดินสำหรับการเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไปอีกด้วย
ภายในการอบรมฯ ผู้เข้าอบรมทุกท่านได้เรียนรู้ตั้งแต่ภาคทฤษฎีการผลิตอย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็น เทคนิคการปลูกถั่วเขียวเพื่อยกระดับคุณภาพและปริมาณผลผลิต การเก็บเกี่ยว การบริหารจัดการหลังเก็บเกี่ยว การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ บรรยายโดย รองศาสตราจารย์ประกิจ สมท่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน อีกทั้งยังได้ทราบแนวทางของตลาดรับซื้อถั่วเขียว KUML จากนางสาวเนาวลักษณ์ แสงสุวรรณ สหกรณ์เกษตรอินทรีย์นกทาและไทยเจริญ จำกัด ไปจนถึงแนวทางการพิจารณาสินเชื่อบุคคลและวิสาหกิจชุมชนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจังหวัดยโสธร
นอกจากนี้นางสาวณิฎฐา คุ้มโต นักวิชาการอาสุโส ฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี สท. สวทช. ยังได้จัดกิจกรรมเปิดโอกาสให้ผู้เข้าอบรมกลุ่ม Train the trainer ได้ลงมือปฏิบัติจริงในการจัดทำสื่อการสอนและทดลองนำเสนอให้กับกลุ่มเกษตรกรอีกด้วย