หน้าแรก “ศุภมาส” เปิดตัวเครือข่ายมหาวิทยาลัยและเครือข่ายคณะวิศวกรรมศาสตร์ “Upskill-Reskill อว. for EV” เร่งสร้างกำลังคนรองรับอุตสาหกรรม EV ของไทย ทะยานสู่ EV HUB ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
“ศุภมาส” เปิดตัวเครือข่ายมหาวิทยาลัยและเครือข่ายคณะวิศวกรรมศาสตร์ “Upskill-Reskill อว. for EV” เร่งสร้างกำลังคนรองรับอุตสาหกรรม EV ของไทย ทะยานสู่ EV HUB ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
2 ก.ค. 2567
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์

(วันที่ 2 กรกฎาคม 2567) น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการเปิดตัวเครือข่ายมหาวิทยาลัยและเครือข่ายคณะวิศวกรรมศาสตร์ในโครงการ “Upskill Reskill อว. for EV” โดยมี รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานคณะที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รักษาการเเทนที่ปรึกษาด้านพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวง อว. รศ.ร.อ.ดร.กนต์ธร ชำนิประศาสน์ หัวหน้าโครงการพัฒนาทักษะและความเชี่ยวชาญของกำลังคนด้านยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย รองผู้อำนวยการ สวทช. ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญ ชัย รองผู้อำนวยการ สวทช. และผู้บริหารกระทรวง อว. เข้าร่วม ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 มทส. จ.นครราชสีมา

น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า การเปิดตัวเครือข่ายมหาวิทยาลัยและเครือข่ายคณะวิศวกรรมศาสตร์ดำเนินการ “Upskill Reskill อว. for EV” ของกระทรวง อว. ในครั้งนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนากำลังคนด้วยองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการแรงงานของอุตสาหกรรม EV ในปัจจุบัน และเป็นหนึ่งในต้นแบบเครือข่ายที่ร่วมบูรณาการทำงานร่วมกันที่ประสบผลสำเร็จ เพื่อช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น EV HUB ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญอันดับหนึ่งของภูมิภาค และ 10 อันดับแรกของโลก

“นี่คือความมุ่งมั่นของกระทรวง อว. ที่ต้องการพัฒนาและสร้างกำลังคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรม EV ของประเทศอย่างเร่งด่วน ถือเป็น 1 ใน 3 เสาหลักของนโยบาย “อว.For EV” ได้แก่ 1.EV HRD หรือการผลิตกำลังคนให้เพียงพอต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย 150,000 คน ใน 5 ปี 2.EV Transformation หรือการเปลี่ยนรถ ICE เป็นรถ EV ในมหาวิทยาลัยและหน่วยงานของ อว. เป้าหมาย 30% ภายในปี 2030 และ 3.EV Innovation เพื่อยกระดับผู้ประกอบการด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ผ่านความร่วมมือจากทั้งภาคการศึกษา ภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของบอร์ดอีวีแห่งชาติที่ตั้งเป้าจะผลิตรถยนต์ที่ไม่ปล่อยมลพิษอย่างน้อยร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดของประเทศไทย ซึ่งคิดเป็นกำลังการผลิตรถยนต์ประมาณ 725,000 คัน และรถจักรยานยนต์ ประมาณ 675,000 คัน ภายในปี พ.ศ. 2573 หรือ เรียกว่านโยบาย “30@30” เพื่อสร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้กับประเทศ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แก้ไขความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม และสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” น.ส.ศุภมาส กล่าว

ด้าน นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวง อว. ได้ดำเนินนโยบาย อว. For EV เพื่อตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลเพื่อให้ทุกหน่วยงาน และมหาวิทยาลัยทุกแห่งในสังกัดกระทรวง อว. มีการดำเนินงานแบบบูรณาการในการขับเคลื่อนนโยบายอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้ กองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้จัดทำโครงการพัฒนาทักษะและความเชี่ยวชาญของกำลังคนด้านยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยและเครือข่ายคณะวิศวกรรมศาสตร์ พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวง อว. ดำเนินการ “Upskill Reskill อว. for EV” เพื่อพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศซึ่งเป็นรากฐานสำคัญผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นฐานการผลิตรถยนต์รายใหญ่ของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งสามารถสร้างความได้เปรียบให้แก่ประเทศไทยและสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงของภาคการผลิตยานยนต์ของประเทศไทยจากเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ไปสู่ศูนย์กลางนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEVs) การพัฒนาทักษะกำลังคนเพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อาทิ การออกแบบ การผลิต การพัฒนาซอฟต์แวร์ และการซ่อมบำรุงยานยนต์ไฟฟ้า สถานีบรรจุไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐาน มีเป้าหมายในการผลิตกำลังคน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า 150,000 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี โดยปี 2567 จะผลิตกำลังคนให้ได้ 5,000 คน และจะทำหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non-degree) เพื่อการมีงานทำและ เตรียมความพร้อมรองรับการทำงานในอนาคต

ทั้งนี้ เครือข่ายมหาวิทยาลัยและเครือข่ายคณะวิศวกรรมศาสตร์ในโครงการ “Upskill Reskill อว. for EV” ประกอบด้วย ม.เทคโนโลยีสุรนารี ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มทร.รัตนโกสินทร์ มรภ.นครราชสีมา มทร.อีสาน ม.เทคโนโลยีมหานคร ม.อัสสัมชัญ ม.กรุงเทพธนบุรี ม.ขอนแก่น ม.บูรพา ม.ทักษิณ ม.อุบลราชธานี มทร.ตะวันออก ม.เกษตรศาสตร์ ม.พะเยา มทร.สุวรรณภูมิ ม.วลัยลักษณ์ สภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) และบริษัทเชิดชัย คอร์ปอเรชั่น จำกัด

 

ข้อมูลและภาพข่าวจาก
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

แชร์หน้านี้: