(5 กุมภาพันธ์ 2568) ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร จ.ปทุมธานี: กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดกิจกรรมประกาศผลการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 27 หรือ (Young Scientist Competition: YSC2025) ซึ่งผู้ชนะจะได้รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และโอกาสได้รับสิทธิ์คัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันในงาน Regeneron ISEF 2025 สหรัฐอเมริกา
โอกาสนี้ ดร.พัชร์ลิตา ฉัตรวริศพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. เป็นประธานมอบรางวัล พร้อมด้วย คุณศิรินทร์พร เดียวตระกูล ผู้อำนวยการกองบริหารทรัพยากรการวิจัยและนวัตกรรม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมกล่าวแสดงความยินดี รวมถึงมหาวิทยาลัยศูนย์ประสานงานโครงการ YSC ทั้ง 6 แห่งทั่วทุกภูมิภาค คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นักเรียน อาจารย์ที่ปรึกษาและผู้ปกครอง เข้าร่วมงานลุ้นการประกาศผลการประกวดดังกล่าว
ดร.พัชร์ลิตา ฉัตรวริศพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. ภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนและบ่มเพาะเยาวชนไทยให้ก้าวไปสู่เวทีระดับนานาชาติ โครงการ YSC เป็นมากกว่าการประกวด แต่เป็นเวทีแห่งการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และจุดประกายแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนในการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ด้วยกระบวนการวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ถูกต้อง เราเชื่อมั่นว่าเยาวชนเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ และสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติในอนาคต โครงการนี้เป็นปีที่ 27 แล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของสวทช. และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทย เราขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการสนับสนุนโครงการนี้มาโดยตลอด และขอเป็นกำลังใจให้นักเรียนทุกคนที่ได้รับรางวัลและเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันในระดับนานาชาติ
“การจัดการประกวดครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการสนับสนุนทุนพัฒนาผลงานผ่านมหาวิทยาลัยเครือข่าย พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในการบ่มเพาะเยาวชนพร้อมทั้งสนับสนุนเยาวชนให้เข้าร่วมการประกวด Regeneron ISEF2025 ซึ่งมีกำหนดจัดในระหว่างวันที่ 10-16 พฤษภาคม 2568 เมืองโคลัมบัส รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา และการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์อื่น ๆ ในระดับนานาชาติ” ดร.พัชร์ลิตา กล่าวเสริม
คุณศิรินทร์พร เดียวตระกูล ผู้แทนสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า วช. ในฐานะหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ได้ให้การสนับสนุน สวทช. และมหาวิทยาลัยเครือข่ายทั้ง 6 แห่ง จัดกิจกรรมโครงการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Scientist Competition : YSC) มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ พ.ศ. 2564 – ปัจจุบัน ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งส่งเสริมเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาให้ได้รับองค์ความรู้และพัฒนาทักษะด้านโครงงานวิทยาศาสตร์ อันเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างนักวิทยาศาสตร์และนักนวัตกรรมรุ่นใหม่ของประเทศ วช. ขอแสดงความยินดีกับนักเรียนและคุณครูทุกท่าน ที่ได้ทุ่มเทและพัฒนาทักษะความสามารถจนได้รับรางวัลในการประกวดในครั้งนี้ และได้รับโอกาสในการพัฒนาทักษะในระดับนานาชาติต่อไป สำหรับเยาวชนที่ไม่ได้รับรางวัลในปีนี้ วช. ขอเป็นกำลังใจ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าน้องๆ จะยังคงมุ่งมั่นและพัฒนาฝีมือเพื่อโอกาสต่อไปในอนาคต เราเชื่อมั่นว่าการจัดกิจกรรมการประกวดเช่นนี้ จะเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้เยาวชนและพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ อันจะนำไปสู่การพัฒนากำลังคนเพื่อการพัฒนาประเทศ
สำหรับการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 27 ในปีนี้มีโครงงานส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น 2,429 โครงงาน มีนักเรียนเข้าร่วม 6,442 คน และอาจารย์ที่ปรึกษา 1,555 คน จาก 326 โรงเรียนทั่วประเทศ โครงงานที่ผ่านเข้ารอบข้อเสนอเพื่อรับทุนพัฒนา 307 โครงงาน และมี 65 โครงงานจาก 41 โรงเรียนที่ได้เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ โดยผลการประกวด มีดังนี้
รางวัลชนะเลิศ 3 รางวัล ได้แก่
BeeShield: การพัฒนาอุโมงค์ทางเข้าป้องกันไรผึ้งโดยใช้พฤติกรรมการเข้ารังของผึ้งและการตอบสนองของไร ต่อกรดฟอร์มิก
ผู้พัฒนา: ปัณณวิชญ์ ธีรนันท์พัฒธน, กฤตนน เมืองแก้ว และวิภารัศม์ ธะนะวงค์
อาจารย์ที่ปรึกษา: เกียรติศักดิ์ อินราษฎร โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จังหวัดเชียงราย
โครงงานนี้พัฒนาอุโมงค์ป้องกันไรผึ้ง โดยใช้ AI แยกแยะผึ้งที่ติดไร จากพฤติกรรมการเข้ารัง และใช้ ระบบฉีดพ่นกรดฟอร์มิกอัตโนมัติ ในระดับที่ปลอดภัยต่อผึ้ง ผลการทดลองพบว่า กรดฟอร์มิก 75% สามารถกำจัดไรได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อผึ้ง เมื่อทดสอบเป็นเวลา 2 เดือน ระบบนี้ช่วยลดการติดไรของผึ้งได้ 3 เท่า ลดอัตราการตายของผึ้ง 4 เท่า และเพิ่มผลผลิตน้ำผึ้ง 4 เท่า เมื่อเทียบกับชุดควบคุม นวัตกรรมนี้จึงเป็น ทางเลือกที่ปลอดภัยและยั่งยืน สำหรับการเลี้ยงผึ้งและการอนุรักษ์ระบบนิเวศ
การสังเคราะห์โมเลกุลเซนเซอร์ฐานสารสีย้อมเคอร์คูมินที่สกัดจากขมิ้นชันสำหรับตรวจวัดแอลดีไฮด์สายาว ซึ่งเป็นสารบ่งชี้โรคมะเร็งปอด
ผู้พัฒนา: ธนัช ไชยมงคล
อาจารย์ที่ปรึกษา: ธีรพัฒน์ ขันใจ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงราย และบุษยรัตน์ ธรรมพัฒนกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร
โครงงานนี้พัฒนา อนุภาคกักเก็บโมเลกุลเซนเซอร์ EC@ccdz สำหรับการวินิจฉัยคัดกรองโรคมะเร็งปอด โดยเพิ่มความจำเพาะในการตรวจวัด nonanal (C9) ซึ่งเป็นสารบ่งชี้ทางชีวภาพ ผ่านปฏิกิริยากับ hydrazine-เคอร์คูมิน ทำให้สัญญาณฟลูออเรสเซนต์เพิ่มขึ้นและแยกแยะแอลดีไฮด์สายยาวได้อย่างแม่นยำ ด้วยการห่อหุ้มพอลิเมอร์ เอทิลเซลลูโลส (EC) เพื่อเสริมอันตรกิริยาแบบ hydrophobic interaction ส่งผลให้เกิดการจับตัวที่เสถียรและตรวจวัดได้ที่ ความยาวคลื่น 409 นาโนเมตร นอกจากนี้ยังพัฒนาชุดตรวจเชิงแสงบนกระดาษเคลือบโมเลกุลเซนเซอร์ ซึ่งสามารถตรวจวัด nonanal ในเหงื่อสังเคราะห์ ได้อย่างแม่นยำ โดยให้ขีดจำกัดการตรวจพบ (LOD) และขีดจำกัดการตรวจวัด (LOQ) ที่ 0.898 และ 2.994 µg/mL ตามลำดับ เทคโนโลยีนี้มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นชุดทดสอบคัดกรองมะเร็งปอดที่ง่ายและมีประสิทธิภาพสูง
โครงงานการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ Low Carbon สำหรับป้องกันไฟฟ้าสถิตและสารเคมีจากเศษข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ร่วมกับฟางข้าว
ผู้พัฒนา: ชวกร สงจันทร์, ปัณณพงค์ สงขกุล และทุกกร ประโพพิศ
อาจารย์ที่ปรึกษา: จันทร์จิรา ชัยอินทรีอาจ โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่
โครงงานนี้พัฒนาบรรจุภัณฑ์ป้องกันไฟฟ้าสถิตและสารเคมีจากเศษข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผสมเยื่อฟางข้าว เพื่อลดขยะเกษตรและทดแทนวัสดุสังเคราะห์ โดยได้พัฒนาสูตรวัสดุผสมคาร์บอนรูพรุนและเยื่อฟางข้างเป็น 7 สูตร พบว่า สูตรที่ 3 อัตราส่วนคาร์บอนรูพรุนต่อเยื่อฟางข้าวเป็น 1:1 มีความแข็งแรงสูง สามารถป้องกันการซึมผ่านของสารเคมีได้ดี ขณะที่สูตรที่ 6 อัตราส่วนเป็น 1:4 มีค่าความจุไฟฟ้าสูง เหมาะสำหรับป้องกันไฟฟ้าสถิต นอกจากนี้ บรรจุภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 45-63% และใช้พลังงานต่ำกว่าพลาสติกทั่วไป จึงเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม
ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศทั้ง 3 ทีม จะได้รับถ้วยพระราชทานฯ ในงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. (NAC2025) วันที่ 27 มีนาคม 2568 และจะได้รับการบ่มเพาะเสริมศักยภาพเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาโครงงานต่อยอดภายใต้การดูแลของนักวิจัย สวทช. ผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานชั้นนำในประเทศไทย ไปพร้อมกับน้องๆ ผู้ได้รับรางวัลที่ 1 และที่ 2 อีกกว่า 50 คน ก่อนคัดเลือกและประกาศผลเยาวชนตัวแทนประเทศไทยที่จะได้เดินทางไปแข่งขันในเวที Regeneron ISEF 2025 ระหว่างวันที่ 10-16 พฤษภาคมนี้
นอกจากนี้ยังมีโครงงานที่ได้รับรางวัลที่ 1 จำนวน 8 รางวัล รางวัลที่ 2 จำนวน 10 รางวัล และรางวัลชมเชยอีก 12 รางวัล รวมถึงรางวัลพิเศษอื่น ๆ รวมทั้งสิ้น 14 รางวัลจากผู้สนับสนุน ได้แก่ สวทช. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และบริษัท รีเวสเทค จำกัด อาทิ รางวัลด้านนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน รางวัลพิเศษนวัตกรรมรักษ์โลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน รางวัลพิเศษนวัตกรรมด้านการแก้ปัญหาร่วมสมัย เป็นต้น
“สวทช. ขอขอบคุณอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานทุกท่าน ที่เสียสละเวลาและความรู้ความสามารถในการพัฒนาเยาวชนไทย ขอขอบคุณผู้บริหารโรงเรียนทุกท่านที่สนับสนุนให้นักเรียนและอาจารย์ได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ และขอขอบคุณมหาวิทยาลัยศูนย์ประสานงานทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ร่วมเป็นส่วนสำคัญในการจัดการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ในครั้งนี้” ดร.พัชร์ลิตา กล่าวทิ้งท้าย
นอกจากการแข่งขันแล้ว โครงการยังมีการอบรมเสริมทักษะแก่นักเรียนและอาจารย์ที่ปรึกษา นำเยาวชน YSC สร้างแรงบันดาลใจด้านวิทยาศาสตร์ให้โรงเรียนทั่วประเทศ จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างเครือข่าย และเปิดโอกาสให้เยาวชนแลกเปลี่ยนประสบการณ์ YSC Education Outreach Day เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรอีกด้วย
//////
ข่าวโดย พัชรพร แววนิล และ วราภรณ์ โลหะเลิศ คณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์