ที่มาความสำคัญ : ต้นแบบผลิตภัณฑ์ เกิดจากความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ด้วยทั้งสองหน่วยงานมีความมุ่งหวังที่จะนำความรู้ทางด้านนาโนเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทย เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสมุนไพร ยกระดับผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงเพื่อให้สามารถลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย สมุนไพร ที่ทางทีมวิจัยเล็งเห็นถึงศักยภาพที่สามารถจะนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรนาโน คือ พริก เนื่องจาก พริกเป็นสมุนไพรที่ปลูกได้ง่าย พบได้ทั่วไป และมีกรรมวิธีในการสกัดได้เองในประเทศไทย นอกจากนี้ พริกยังถูกบรรจุไว้ในบัญชี ยาสมุนไพร พ.ศ.2549 ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบของสมุนไพรชนิดนี้ โดยในบัญชียาสมุนไพร กำหนดให้เจลพริก ที่มีปริมาณ capsaicin 0.025% ทาเวลาที่ปวด 3 – 4 ครั้งต่อวัน เป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับผู้ป่วยที่มีอาการปวดข้อและกล้ามเนื้อโดยข้อจำกัด ของผลิตภัณฑ์ในปัจจุบัน คือความถี่ในการบริหารยาที่ต้องทาวันละ 4 ครั้ง ซึ่งสร้างความไม่สะดวกให้กับผู้ป่วย และผลข้างเคียงที่เกิดกับผู้ป่วยจากการใช้ครีมพริก คือ อาการแสบร้อนและคัน
จุดเด่นของผลงาน/อธิบายรายละเอียดผลงาน : การใช้เทคโนโลยีการเก็บกัก (Encapsulation) ชนิดนาโนอิมัลชั่น (Nanoemulsion) มาใช้ในการเก็บกักสารออกฤทธิ์แคบไซซิน (capsaicin) ในสารสกัดพริก โดยมีความต้องการให้สามารถควบคุมการปลดปล่อยอย่างช้าๆตลอด 24 ชั่วโมง ในขณะเดียวกันสามารถช่วยเพิ่มการซึมผ่านและสะสมบนผิวหนังชั้นหนังแท้ ที่มีปลายประสาทอยู่ โดยแคบไซซินมีฤทธ์กระตุ้น vanilloid receptor หรือ TRPV1 ที่ปลายประสาทรับความรู้สึกปวดการใช้ตอนแรกจะกระตุ้น TRPV1 เปิด calcium channel ทำให้รู้สึกแสบร้อน แต่เมื่อใช้ติดต่อกันนานจะทำให้กิด down regulation ของ TRPV1 ทำให้หายปวด ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยสามารถลดความถี่ในการใช้ผลิตภัณฑ์จากเดิมวันละ 4 ครั้ง เป็นวันละ 1 ครั้ง เพิ่มความสะดวกในการบริหารยา และประสิทธิศักย์ในการรักษาทางคลีนิค