หน้าแรก คลังความรู้ 30 ปี สวทช. งานวิจัย 30 ปี สวทช. ActivePAKTM และ ActivePAKTM Ultra ฟิล์มบรรจุภัณฑ์หายใจได้ ยืดอายุผัก-ผลไม้สด
ActivePAKTM และ ActivePAKTM Ultra ฟิล์มบรรจุภัณฑ์หายใจได้ ยืดอายุผัก-ผลไม้สด
11 มิ.ย. 2564
0
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

ActivePAKTM และ ActivePAKTM Ultra
ฟิล์มบรรจุภัณฑ์หายใจได้ ยืดอายุผัก-ผลไม้สด

พฤติกรรมการซื้ออาหารของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยโดยเฉพาะในกลุ่มผักและผลไม้ จากการเลือกซื้อในตลาดสดตามน้ำหนักที่ต้องการ ก้าวมาสู่ยุคปัจจุบันที่ผู้คนหันมานิยมการซื้อผักและผลไม้จากร้านค้าปลีก ซูเปอร์มาร์เก็ตหรือโมเดิร์นเทรดมากขึ้นผักและผลไม้ที่บรรจุในถุงพลาติกใสหรือห่อหุ้มด้วยฟิล์มพลาสติกจึงเป็นที่คุ้นตาเพราะให้ทั้งความสวยงามเป็นระเบียบ ความสะดวกสบายและมีความปลอดภัยในการบริโภคมากขึ้น อย่างไรก็ดีขั้นตอนการบรรจุเหล่านี้ก็เพิ่มระยะเวลาภายหลังการเก็บเกี่ยวจากแหล่งปลูกสู่มือผู้บริโภคมากขึ้น ทำให้มีการนำเทคโนโลยีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวร่วมกับเทคโนโลยีการบรรจุภัณฑ์เข้ามาช่วยรักษาคุณภาพของผักผลไม้ให้คงคุณภาพจนถึงมือผู้บริโภค

กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีของผักและผลไม้ภายหลังการเก็บเกี่ยว เช่น การหายใจ การคายน้ำ การผลิตก๊าซเอทิลีน และเกิดการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบเคมี เป็นสาเหตุหลักของการสูญเสียสภาพ รสชาติ และการเน่าเสีย

ในรอบกว่า 20 ปีที่ผ่านมา มีการพัฒนากระบวนการต่าง ๆ เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาพืชผักและผลไม้ โดยหนึ่งในหลักการที่มีประสิทธิภาพคือหลักการของบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรักษาสภาวะบรรยากาศให้เหมาะต่อความต้องการของผลิตผลนั้น ๆ หรือบรรจุภัณฑ์ที่ยอมให้มีการแลกเปลี่ยนก๊าซในระดับสูงเพื่อสร้างสภาวะรอบผลิตผลให้เป็นสภาวะสมดุล (Equilibrium Modified Atmosphere, EMA) อันจะส่งผลให้เกิดการลดอัตราการหายใจของพืชผักและผลไม้ ชะลอการสุก ลดการคายน้ำ และยืดอายุการเก็บรักษา

นักวิจัยจากทีมวิจัยเทคโนโลยีพลาสติก ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ(เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาคุณภาพผักและผลไม้สดไทยขึ้นในปี พ.ศ. 2544 และประสบความสำเร็จในการพัฒนาสูตรฟิล์ม “ActivePAKTM” ที่มีค่าการผ่านของก๊าซสูง ประกอบด้วยการพัฒนาในส่วนของสูตรเม็ดพลาสติกเข้มข้นและกระบวนการเป่าขึ้นรูปฟิล์มด้วยเครื่องจักรในระดับอุตสาหกรรม และได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้สิทธิแก่เอกชนเพื่อใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549

“ActivePAKTM” หรือที่เรียกกันว่า เป็นถุงหายใจได้ มีสมบัติเด่นคือเป็นฟิล์มที่ยอมให้ก๊าซที่ใช้ในกระบวนการหายใจ ได้แก่ ก๊าซออกซิเจนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านเข้าออกได้ดี และสอดคล้องกับอัตราการหายใจของผักและผลไม้สดที่บรรจุช่วยชะลอการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพ จึงสามารถยืดอายุการเก็บรักษาผักและผลไม้สดได้นานขึ้น 2-5 เท่า โดยที่ผลิตผลยังคงมีคุณภาพและรสชาติที่ดี นอกจากนี้ถุงที่ทำจากฟิล์ม ActivePAKTM ยังมีลักษณะใส ไม่เกิดฝ้าขณะวางจำหน่าย ทำให้มองเห็นสินค้า และสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพให้แก่ผู้บริโภค

จากประสิทธิภาพดังกล่าวทำให้ ActivePAKTM ถุงหายใจได้มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในซูเปอร์มาร์เก็ต เช่น ท๊อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต เทสโก้โลตัส ทีมนักวิจัยฯ ได้มีการพัฒนาต่อยอดและร่วมมือกับมูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งเป็นผู้ประกอบการผักและผลไม้สด ต่อยอดพัฒนาเป็นฟิล์มบรรจุภัณฑ์ “ActivePAKTM Ultra” ที่เน้นไปที่ผลิตผลสดที่มีอัตราการหายใจสูง เช่น หน่อไม้ฝรั่ง เห็ด ซึ่งเน่าเสียอย่างรวดเร็วหลังการเก็บเกี่ยว และทำให้ยากต่อการจัดการเพื่อกระจายสินค้าและจำหน่าย

การใช้หลักการสร้างสภาวะบรรยากาศภายในบรรจุภัณฑ์ให้มีความสมดุลควบคุมก๊าซออกซิเจนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ไหลผ่านเข้า-ออกถุงได้ในระดับที่พอเหมาะ ช่วยให้ผลิตผลสดที่อยู่ในถุงมีอัตราการหายใจลดต่ำลง สามารถยืดอายุความสดได้นานขึ้น เช่น เห็ดหอมสด สามารถคงคุณค่าและรสชาติได้นานถึง 9 วัน ที่อุณหภูมิ 4-8 องศาเซลเซียส ซึ่งจากเดิมเก็บรักษาไว้ได้เพียง 3 วันเท่านั้น

การรับโจทย์จากผู้ประกอบการ ผสมผสานกับการพัฒนาและร่วมทดสอบกับภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ ActivePAKTM และ ActivePAKTM Ultra ประสบความสำเร็จ สามารถต่อยอดจากงานวิจัยในห้องปฏิบัติการสู่การใช้งานจริงเชิงพาณิชย์ ที่สำคัญก็คือ สามารถช่วยภาคการเกษตรของไทยในการยืดอายุการเก็บรักษาผลิตผลสด ซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอีกด้วย

จากองค์ความรู้และงานวิจัยที่ สวทช. ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องโดยมุ่งเน้นพัฒนาอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาอุตสาหกรรมยางไทยได้อย่างยั่งยืน

ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม

แชร์หน้านี้: