หน้าแรก คลังความรู้ 30 ปี สวทช. งานวิจัย 30 ปี สวทช. “BIC” บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี
“BIC” บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี
11 มิ.ย. 2564
0
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

"BIC" บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี

“ยูนิคอร์น” คือความใฝ่ฝันของสตาร์ตอัป หรือผู้ประกอบการรุ่นใหม่
ที่เริ่มต้นธุรกิจบนฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรม

            เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการและสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีที่คาดหวังว่าจะเป็นนักรบเศรษฐกิจใหม่ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ประเทศสามารถเริ่มต้นธุรกิจได้อย่างเป็นระบบและเติบโตได้อย่างยั่งยืน ศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (Business Innovation Center: BIC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) คือตัวช่วยที่สำคัญในการบ่มเพาะและเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ สตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีที่มีไอเดียแล้วต้องการต่อยอดธุรกิจ หรือช่วยแก้ปัญหาเมื่อผู้ประกอบการรุ่นใหม่เหล่านี้พบอุปสรรคในการทำธุรกิจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม

            BIC สวทช. เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2545 จาก 19 ปีที่ผ่านมาสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ Tech Startup ดำเนินธุรกิจได้จริงมากกว่า 2,700 กิจการ และสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยเก็บผลจากรายได้ของผู้ประกอบการฯ รวมกันมากกว่า 6,000 ล้านบาท ลงทุนในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งการขยายกิจการ 3,000 ล้านบาท และได้วางกลยุทธ์ในการสร้างโครงการใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์รัฐบาลและทิศทางการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจปัจจุบันเพื่อสร้างและส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีของไทยให้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งโครงการต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจตาม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) เพื่อเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มีประสิทธิภาพ

            นอกจากนี้ยังบ่มเพาะและสนับสนุนผู้ประกอบการไทยจำนวนมากผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี ซึ่งร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างกลุ่มบริษัทสามารถคอร์ปอเรชั่น บ่มเพาะผู้ประกอบการธุรกิจรุ่นใหม่ทั้งด้านซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีที่การันตีได้ถึงความพร้อมด้วยการอบรมทุกเรื่องในเชิงธุรกิจ การให้คำปรึกษา รวมถึงการส่งเสริมและเชื่อมโยงโอกาสทางการตลาดและการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเพื่อต่อยอดไอเดียให้เกิดเป็นธุรกิจในที่สุด เช่น

            โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ที่มีกลไกต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการใหม่และผู้ที่สนใจจะสร้างหรือขยายธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้เรียนรู้หลักสูตรและเทคนิคต่าง ๆ สร้าง Business model ที่นำไปใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์

            โครงการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี (SUCCESS) สำหรับเจ้าของธุรกิจเทคโนโลยีและสตาร์ตอัปในธุรกิจเทคโนโลยีต่าง ๆ อาทิ เทคโนโลยีชีวภาพ การแพทย์การสาธารณสุข ด้านพลังงาน เทคโนโลยีดิจิทัล โลจิสติกส์ เทคโนโลยีเกษตรและการผลิตในโครงงานอุตสาหกรรม Deep Tech ประเภท IoT AR/VR เป็นต้น โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้เข้ารับการวินิจฉัยธุรกิจ รับคำปรึกษา กระบวนการเรียนรู้การบ่มเพาะและได้รับการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากพี่เลี้ยง เพื่อสร้างรายได้ เพิ่มทุน ขยายฐานลูกค้า และพันธมิตรธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ

            โครงการเร่งการเติบโตของผู้ประกอบการเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมอาหาร (Food Accelerate) มุ่งเน้นผู้ประกอบการเทคโนโลยีด้านนวัตกรรมอาหารที่มีมูลค่าสูงให้เข้าถึงผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านการตลาดและโอกาสขยายธุรกิจ ทั้งยังสนับสนุนผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ในลักษณะเงินสนับสนุนรูปแบบ Matching fund เพื่อวัตถุประสงค์ในการออกตลาดทั้งในและต่างประเทศ

            ทั้งในและต่างประเทศโครงการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรในโรงพยาบาล (2P Safety Tech: Patient and Personal Safety Technology) ที่ BIC สวทช. ร่วมกับสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่นำมาแก้โจทย์และปัญหาที่ได้เกิดขึ้นจริงจากบุคลากรในโรงพยาบาล เพื่อแก้ไขปัญหาและป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยและผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล

            โครงการสร้างผู้ประกอบการเทคโนโลยีเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Tech Startup @EECi) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้วยการนำเทคโนโลยีมาทำธุรกิจ โดยเปิดกว้างแก่ผู้ประกอบการทุกอุตสาหกรรมในพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เพื่อสามารถเข้าถึงนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ และเทคโนโลยีด้วยความสะดวก และเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ต่อยอดให้ธุรกิจของผู้ประกอบการในพื้นที่

            โครงการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ (Startup Voucher) สนับสนุนทุนและส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีความพร้อม มีสินค้าหรือบริการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ออกสู่ตลาดแล้ว และมีแผนการตลาดที่ชัดเจนในการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศผ่านกิจกรรมการตลาดต่าง ๆ ให้สามารถสร้างรายได้แบบก้าวกระโดด

            BIC สวทช. ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศสนับสนุนผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไป เช่น โครงการ Panus Thailand Log Tech Award ที่ร่วมมือกับบริษัทพนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด และสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปและเยาวชนไทยได้มีเวทีในการแสดงความสามารถด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ อีกทั้งร่วมมือกับเครือข่ายความร่วมมือของศูนย์บ่มเพาะธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Business Incubator Network: ABINet) ในการแลกเปลี่ยนผู้ประกอบการให้ได้รับคำปรึกษาสร้างเครือข่ายธุรกิจ รวมถึงเทคนิคและความรู้ความเข้าใจในการขยายธุรกิจสู่ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน

            ยกตัวอย่างของผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จล่าสุดหนีไม่พ้นบริษัทคิวคิวประเทศไทย จำกัด ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน QueQ หนึ่งในผู้ประกอบการนวัตกรรมภายใต้โครงการบ่มเพาะธุรกิจฯ สวทช. และได้รับทุน Startup Voucher ที่สนับสนุนการจับคู่ระหว่างเจ้าของนวัตกรรมกับผู้ใช้งานจริง โดยการจับคู่บริษัทคิวคิว (ประเทศไทย) จำกัด กับชมรมธุรกิจการท่องเที่ยวอ่าวไร่เลย์แหลมพระนางไร่เลย์นำแอปพลิเคชัน QueQ ไปใช้งานจริงจัดความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวในสถานการณ์หลังคลายล็อกโควิด-19 รอบแรกเพื่อตรวจสอบคิวก่อนเข้าเกาะนับเป็นการนำเทคโนโลยีจากผู้ประกอบการไปเสริมศักยภาพการท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

            จากการดำเนินงานที่ผ่านมา BIC สวทช. ได้รับรางวัลวิทยาศาสตร์สู่ความเป็นเลิศจากวุฒิสภา รางวัล Incubator of the Year 2016 จาก Asian Association Business Incubation และรางวัล Incubator of the Year 2016 Thai Business Incubators and Science Parks Association (Thai BISPA)

ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม

แชร์หน้านี้: