ที่มาความสำคัญ : การประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco efficiency, EE) เป็นแนวคิดที่ริเริ่มโดย สภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (World Business Council for Sustainable Development, WBCSD) ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มบริษัทชั้นนำระหว่างประเทศ และได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการในการประชุมสุดยอดด้านสิ่งแวดล้อม (Earth Summit) เมื่อปี พ.ศ. 2535 ให้เป็นเครื่องมือการจัดการให้ภาคธุรกิจมีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น มีนวัตกรรมมากขึ้นควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยคำว่า Eco-efficiency มาจากการรวมกันของคำว่า Ecology ที่แปลว่าระบบนิเวศ และ Economy ที่แปลว่าเศรษฐกิจ กับคำว่า Efficiency ที่แปลว่าประสิทธิภาพ เป้าหมายหลักสำคัญของ Eco-efficiency คือ การสร้างสมดุลระหว่างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและการปกป้องรักษาระบบนิเวศไปพร้อมๆ กัน ด้วยวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรและลดการปล่อยมลพิษซึ่งก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับองค์กรและภาคธุรกิจทั้งการผลิตและการบริการ เพื่อการพัฒนาประสิทธิภาพควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถสร้างโอกาสและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันอีกทางหนึ่ง คณะกรรมการประเมินผลงานรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้กำหนดให้ตัวชี้วัดประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ เป็นตัวชี้วัดหนึ่งในการประเมินผลการดำเนินงานประจำปีของรัฐวิสาหกิจ และได้ทยอยนำรัฐวิสาหกิจเข้าสู่การประเมินผลในระยะแรก 18 แห่ง และจะเพิ่มขึ้นเป็นระยะจนครบทุกแห่งภายใต้การกำกับดูแลของ สคร. ด้วยเหตุนี้จึงได้เกิดความร่วมมือระหว่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในการพัฒนาคู่มือการประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจของรัฐวิสาหกิจไทย (ฉบับผู้ปฏิบัติ) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงานให้กับทางหน่วยงานรัฐวิสาหกิจสามารถนำไปใช้ในการประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจขององค์กร รวมถึงเพื่อจัดทำเป็นตัวชี้วัดในการประเมินองค์กรที่ตอบโจทย์ของ สคร. ได้ โดยทาง สวทช. ได้ดำเนินการจัดทำคู่มือการประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจของรัฐวิสาหกิจไทย (ฉบับผู้ปฏิบัติ) ซึ่งร่วมพัฒนากับคณะกรรมการเทคนิคด้านประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจของรัฐวิสาหกิจ ที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินวัฏจักรชีวิต และ ประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ โดยดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วในปีงบประมาณ2563 การประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco efficiency, EE) ที่ทางคณะกรรมการประเมินผลงานรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้กำหนดให้เป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่สำคัญในการประเมินผลการดำเนินงานประจำปีของรัฐวิสาหกิจ และ สคร. กำหนดให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2561 ดังนั้นในการดำเนินการจนถึงปัจจุบัน จะมีรัฐวิสาหกิจที่ทยอยเข้าร่วมดำเนินการในแต่ละปีตามที่ทาง สคร. กำหนดไว้ในแผนการประเมิน โดยในจะมีทั้งที่ดำเนินการในปีแรก ปีที่ 2 และปีที่ 3 ไปแล้ว
จุดเด่นของผลงาน/อธิบายรายละเอียดผลงาน : แนวทางหรือวิธีการประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ ที่ใช้ประเมินหน่วยงาน รส. นี้ จะอ้างอิงตามกรอบการดำเนินงานตามมาตรฐาน ISO 14045 Eco-efficiency assessment of product systems-Principles, requirements and guidelines ซึ่งจะพิจารณาควบคู่ไปกับแนวคิดการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิต (LifeCycle Asessment, LCA) แต่เนื่องจากเทคนิคด้านการประเมิน ISO14045 รวมถึงข้อมูลที่จะนำมาสนับสนุนการประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจทั้งด้าน หรือการประเมิน LCA และด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เป็นเรื่องี่ต้องใช้ทักษะและข้อมูลด้านเทคนิคมาประกอบการประเมิน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ในประเทศยังมีอยู่ในวงจำกัด ด้วยเหตุนี้จึงได้เกิดความร่วมมือระหว่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในการพัฒนาคู่มือการประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจของรัฐวิสาหกิจไทย (ฉบับผู้ประเมิน) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงานให้กับทางหน่วยงานผู้ประเมินผล สามารถเข้าใจในกรอบแนวคิดของการดำเนินการ และนำไปใช้ประกอบการประเมินหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีการประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจขององค์กรแล้วในระยะต่างๆ เพื่อประเมินผลองค์กรด้วยตัวชี้วัดที่ตอบโจทย์ของ สคร. ได้ คู่มือการประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจของรัฐวิสาหกิจไทย (ฉบับผู้ประเมิน) นี้ร่วมพัฒนาโดยคณะกรรมการเทคนิคด้านประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจของรัฐวิสาหกิจ ที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินวัฏจักรชีวิต และ ประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ โดยในกระบวนการประเมินฯ นั้น สามารถเชื่อมโยงกับการใช้ประโยชน์ฐานข้อมูลบัญชีรายการสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิต (LCI database) ที่ทาง TIIS ได้พัฒนา อีกด้วย นอกจากนี้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เตียมความพร้อมสำหรับการประเมินผลปลายปี สามารถนำคู่มือฉบับนี้ไปใช้ในการเตรียมความพร้อมเบื้องต้นก่อนการประเมินผลจากหน่วยงานตรวจประเมินได้อีกทางหนึ่ง โดยในคู่มือฯ ได้อธิบายและยกตัวอย่างข้อมูลที่ใช้ประกอบการตรวจประเมินตามขั้นตอนที่อธิบายไว้ในคู่มือฯฉบับผู้ปฏิบัติด้วย