หน้าแรก คลังความรู้ 30 ปี สวทช. งานวิจัย 30 ปี สวทช. eDLTV เนื้อหาอี-เลิร์นนิง เพื่อการศึกษาผ่านดาวเทียม
eDLTV เนื้อหาอี-เลิร์นนิง เพื่อการศึกษาผ่านดาวเทียม
10 มิ.ย. 2564
0
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

eDLTV เนื้อหาอี-เลิร์นนิง เพื่อการศึกษาผ่านดาวเทียม

หนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาด้านความทั่วถึงและเท่าเทียมของคุณภาพการเรียนการสอนในพื้นที่ห่างไกลก็คือ การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม หรือ DLTV ที่ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนครู ครูไม่ครบชั้นครูไม่ตรงสาขาของโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ที่พระองค์พระราชทานทุน ประเดิมและตราสัญลักษณ์เฉลิมฉลองสิริราชสมบัติ 50 ปี ซึ่งเดิมเป็นการถ่ายทอดสดการเรียนการสอนจากโรงเรียนวังไกลกังวล

จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มาออกอากาศให้นักเรียนในพื้นที่ห่างไกลได้เรียนทางโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม โดยที่ครูปลายทางไม่จำเป็นต้องสอนเองทั้งหมด จึงมักเรียกกันว่า “ครูตู้”

แต่การเรียนรู้ผ่าน “ครูตู้” นั้นยังมีข้อจำกัดด้านการควบคุมตารางการสอนให้ตรงกันและไม่สามารถชมย้อนหลังได้ โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งมีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ จึงร่วมมือกับมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ดำเนินการโครงการจัดทำเนื้อหาระบบ e-Learning ของการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ขึ้น ซึ่งเรียกสั้น ๆ ว่า “อีดีแอลทีวี” (Electronic Distance Learning Television: eDLTV)

โครงการอีดีแอลทีวี (eDLTV) เป็นการนำเนื้อหาของการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) ที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุและโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม จากโรงเรียนวังไกลกังวล มาลงระบบ e-Learning เพื่อใช้เผยแพร่แก่โรงเรียนในโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาของโรงเรียนในชนบท (ทสรช.) ที่ห่างไกล ขาดแคลนครู ได้ใช้ประโยชน์ในการสอน สอนเสริม หรือให้นักเรียนได้ใช้ทบทวนบทเรียนภายในโรงเรียนแบบออฟไลน์ (Off-line) และเผยแพร่แบบออนไลน์ (On-line) ผ่านทางอินเทอร์เน็ตที่ http://edltv.thai.net/

ทั้งนี้ eDLTV จะประกอบด้วย วีดิทัศน์ สไลด์บรรยาย ใบความรู้ ใบงานแบบทดสอบ ใน 6 สาระการเรียนรู้ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 ปีการศึกษา 2550 และปีการศึกษา 2551 ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม และสุขศึกษาและพลศึกษา โดยใช้เนื้อหาจากโครงการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม

ระบบ e-Learning นี้ มีความยืดหยุ่นสูง นอกจากจะใช้ในการสอนแบบในห้องเรียนในพื้นที่ห่างไกลหรือเรียนในวิชาที่ขาดแคลนครูได้แล้ว ผู้เรียนยังสามารถค้นหาเนื้อหาที่ต้องการจะเรียนได้ตลอดเวลา เรียนซ้ำแล้วซ้ำอีกได้ หรือเลือกเรียนบางบทก็ได้ ซึ่งเป็นการทบทวนแก่นักเรียนที่เรียนไม่ทันในชั้นเรียนได้อีกด้วย

สำหรับลิขสิทธิ์ของเนื้อหาระบบ e-Learning ของการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมเป็นของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม โดยมีครูของโรงเรียนวังไกลกังวลเป็นเจ้าของเนื้อหา มีคณะครูจากโรงเรียนในโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการศึกษาของโรงเรียนในชนบท (ทสรช.) ภายใต้โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นผู้ร่วมจัดทำ

มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมอนุญาตให้นำไปใช้ในการศึกษาและการเรียนการสอนภายในโรงเรียนใด ๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และไม่อนุญาตให้นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์

ดังนั้นระบบ e-Learning ของการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมจึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาผู้ด้อยโอกาส ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนในชนบทที่ห่างไกลคนพิการ ผู้ต้องขัง รวมถึงเด็กป่วยในโรงพยาบาล ก็สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้แบบทุกที่ทุกเวลา

ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม

แชร์หน้านี้: