หน้าแรก คลังความรู้ 30 ปี สวทช. งานวิจัย 30 ปี สวทช. IP-Licensing กลไกผลักดันงานวิจัยสู่ตลาด
IP-Licensing กลไกผลักดันงานวิจัยสู่ตลาด
14 มิ.ย. 2564
0
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

IP-Licensing กลไกผลักดันงานวิจัยสู่ตลาด

“จากหิ้งสู่ห้าง” คำนี้คงเคยได้ยินกันบ่อย ๆ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับงานวิจัยไทยที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จและมีการนำไปใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย จำเป็นต้องมีกลไกหรือตัวช่วยในการเชื่อมต่อระหว่างนักวิจัย ผู้พัฒนาเทคโนโลยีกับผู้ประกอบการที่จะส่งผ่านผลงานดี ๆ ไปสู่ผู้ใช้งานจริง

           เรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property: IP) และการอนุญาตใช้เทคโนโลยีก็เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ผลงานวิจัยก้าวออกจากห้องปฏิบัติการไปสู่การใช้งานเชิงพาณิชย์ได้มากขึ้น

            สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี (TLO) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา (IP Management) ของสวทช. และศูนย์วิจัยแห่งชาติ (ไบโอเทค เอ็มเทค เนคเทค นาโนเทค และเอ็นเทค) รวมไปถึงการให้คำปรึกษาทางด้านนโยบายและกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาแก่นักวิจัยจากหน่วยงานภายในเครือข่ายพันธมิตร

            อีกทั้งยังเป็นหน่วยงานกลางในเรื่องการอนุญาตให้ใช้สิทธิเทคโนโลยี (Licensing) ซึ่งมีการประสานงาน เจรจา และดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างศูนย์วิจัยแห่งชาติหน่วยงานวิจัยภายในและหน่วยงานพันธมิตรของ สวทช. กับภาคเอกชน ภาคธุรกิจ และการผลิต

            ด้วยการมุ่งเน้น “การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในรูปแบบที่เหมาะสมสู่การนำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์” เพื่อผลักดันให้มีการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศภายใต้แนวคิด “จากงานวิจัยสู่ตลาด…From Lab to Market”

            การบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาของ สวทช. มีการดำเนินงานตั้งแต่ การสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่มีต่องานวิจัยและการนำไปใช้ประโยชน์ การวางแผนความคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา การขอรับความคุ้มครอง การใช้ประโยชน์ และการสร้างแรงจูงใจให้สร้างผลงานวิจัยที่นำมาใช้ประโยชน์ รวมถึงการให้คำปรึกษาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการ บริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา

            นอกจากการให้บริการแก่หน่วยงานภายใน สวทช. แล้ว สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี ยังมีส่วนร่วมในการสร้างความตระหนักด้านทรัพย์สินทางปัญญาและการนำไปใช้ประโยชน์กับหน่วยงานภายนอก และมีส่วนร่วมในการให้ความเห็นเพื่อการขับเคลื่อนมาตรการนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญาต่าง ๆ ของประเทศด้วย

            ปัจจุบัน สวทช. มีผลงานที่พร้อมถ่ายทอดอนุญาตให้ใช้สิทธิเทคโนโลยีครอบคลุมทั้งด้านเกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงานและสิ่งแวดล้อม คอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ อุตสาหกรรมการผลิตและบริการ พอลิเมอร์ สิ่งทอ และเคมี

            โดยมีผลงานพร้อมใช้งาน เช่น น้ำยาเคลือบสิ่งทอสำเร็จรูปสูตรต้านเชื้อแบคทีเรีย กันยูวี สะท้อนน้ำ มีกลิ่นหอม ด้วยกระบวนการผลิตแบบตกแต่งสำเร็จ (Garment Finish/Exhaustion) สำหรับผลิตภัณฑ์สิ่งทอสำเร็จรูป ตัวเร่งปฏิกิริยาไบโอดีเซลจากเปลือกไข่ Eco-Cata ซึ่งสามารถใช้ทดแทน ตัวเร่งปฏิกิริยาของเหลวที่ใช้ในกระบวนการผลิตไบโอดีเซลในปัจจุบัน (แบบ Batch) โดยไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนสภาวะในการทำปฏิกิริยาเพิ่มเติมได้

            พร้อมทั้งจมูกอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้สาย (Smart E-Nose) ซึ่งเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทำขึ้นเลียนแบบการรับรู้กลิ่นของมนุษย์ โดยนำเอาเทคโนโลยีของเซนเซอร์อาเรย์ในการตรวจวัดก๊าซต่าง ๆ ซึ่งมีการนำมาประยุกต์ใช้ด้านการตรวจวัดสภาพแวดล้อม เพื่อตรวจวัดคุณภาพของอากาศ ณ บริเวณต่าง ๆ ด้วยคุณสมบัติที่ติดตั้งง่ายและใช้ได้ในหลายพื้นที่

            เครื่องผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ในระบบบำบัดน้ำเสีย (Onsite Microbial Reactor: OMR) สำหรับผลิตจุลินทรีย์เพื่อใช้บำบัดน้ำเสีย มีระบบเติมอากาศและระบบจัดการน้ำเข้า-ออกแบบอัตโนมัติ ใช้งานได้ง่ายและสะดวก โดยจุลินทรีย์ที่นำมาใช้ผ่านการคัดเลือกแล้วว่ามีความสามารถในการย่อยสลายทั้งน้ำเสียปกติและน้ำเสียที่มีน้ำมันหรือไขมัน เป็นองค์ประกอบ เครื่องนี้ใช้ระยะเวลาเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์เพียง 24-48 ชั่วโมง เมื่อเติมเชื้อจุลินทรีย์ที่ผลิตจากเครื่องฯ พบว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียให้สามารถปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมมีค่าตามเกณฑ์มาตรฐานน้ำทิ้งของกรมโรงงานและอิฐมวลเบาคอมโพสิตจากจีโอพอลิเมอร์และวัสดุมวลเบาจากเศษแก้ว ซึ่งสามารถผลิตได้โดยใช้เครื่องมือง่าย ๆ และนำไปใช้เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น วัสดุทดแทนอิฐมวลเบาในการก่อสร้างผนังอาคารต่าง ๆ โดยจะแข็งแรงมากกว่าอิฐมวลเบาทั่วไป และเนื่องจากมีผิวเรียบอยู่แล้ว จึงช่วยลดการใช้ปูนซีเมนต์ในการฉาบปูนทับได้

           การอนุญาตใช้สิทธิผลงานวิจัยให้แก่ผู้ประกอบสามารถนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้นี้ นอกจากจะเป็นการผลักดันให้งานวิจัยออกจากทั้งสู่ห้างแล้ว รายรับที่ได้จากผู้ขอรับอนุญาตให้ใช้สิทธิยังทำให้เกิดการพัฒนางานวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยจะเป็นทั้งทุนสำหรับการวิจัยและพัฒนาต่อไป และมีการจัดสรรผลประโยชน์บางส่วนให้แก่นักวิจัย เพื่อเป็นแรงจูงใจในการวิจัยและพัฒนาอีกด้วย

ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม

แชร์หน้านี้: