หน้าแรก คลังความรู้ 30 ปี สวทช. งานวิจัย 30 ปี สวทช. “แม่ฮ่องสอนไอทีวัลเล่ย์” โอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีของเมืองสามหมอก
“แม่ฮ่องสอนไอทีวัลเล่ย์” โอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีของเมืองสามหมอก
10 มิ.ย. 2564
0
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

"แม่ฮ่องสอนไอทีวัลเล่ย์" โอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีของเมืองสามหมอก

การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นเครื่องมือในการสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปี

อย่างเช่น “โครงการแม่ฮ่องสอนไอทีวัลเล่ย์” โครงการที่ได้รับพระราชทานรางวัลโครงการดีเด่นของชาติ สาขาพัฒนาเศรษฐกิจ ประจำปี พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมพัฒนาทักษะด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี สารสนเทศของนักเรียนและครูผู้สอนวิชาคอมพิวเตอร์ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมสร้างเครือข่ายและสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ที่ยากต่อการเข้าถึงการพัฒนาด้านต่าง ๆ เป็นอย่างมาก

“เมืองหลังเขา 1,864 โค้ง” คือ คำจำกัดความที่แสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดด้านภูมิประเทศที่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ทำให้ในอดีต เด็กและเยาวชนของจังหวัดแม่ฮ่องสอนขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่ดี ขณะที่ภาคธุรกิจก็ไม่สามารถสร้างงานในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน

เนคเทค สวทช. จึงร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค สวทช.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ริเริ่มการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปช่วย โดยเริ่มจากการสนับสนุนด้านไอทีให้แก่โรงเรียนมัธยมในจังหวัดแม่ฮ่องสอนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 โดยเป็นโครงการที่จัดเป็นประจำทุกปีในชื่อว่า “งานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับวิถีชีวิตเมืองสามหมอก” ต่อมาโครงการได้รับการจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2549 และเปลี่ยนชื่อเป็น “โครงการแม่ฮ่องสอนไอทีวัลเล่ย์” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการภายใต้

แผนยุทธศาสตร์ 3 ด้านคือ สร้างคน เพื่อสนับสนุนและพัฒนาทักษะด้านคอมพิวเตอร์และไอทีของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาและครูผู้สอนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน สร้างงาน เพื่อให้เกิดการจ้างงานด้านการพัฒนาไอทีและเกิดร้ายได้ในท้องถิ่น และสร้างเครือข่าย เพื่อสร้างความตระหนักด้านคอมพิวเตอร์และไอที่ให้แก่ภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป เพื่อให้เกิดการนำระบบไอทีไปใช้ดำเนินงานภายในหน่วยงานต่าง ๆ

ในปี พ.ศ. 2550 โครงการแม่ฮ่องสอนไอที่วัลเล่ย์ได้รับการนำเสนอเข้าร่วมโครงการเฉลิมพระเกียรติ เพื่อต่อยอดพัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศในจังหวัดแม่ฮ่องสอนให้เข้มแข็งขึ้น ภายใต้ชื่อโครงการว่า “โครงการแม่ฮ่องสอนไอทีวัลเล่ย์เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

มีกิจกรรมและโครงการหลัก 5 โครงการ คือ โครงการพัฒนาทักษะคอมพิวเตอร์ของครูและนักเรียนระดับมัธยมศึกษา โครงการพัฒนาโครงงานวิทยาศาสตร์เมืองในหมอก โครงการส่งเสริมการใช้ Open source software และ e-Learning ใน จังหวัดแม่ฮ่องสอน โครงการนำร่องระบบเตือนภัยดินถล่ม และโครงการสื่อสัมพันธ์ ไทย-ญี่ปุ่น เฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับโรงเรียนมัธยมระหว่าง 2 ประเทศผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์และอินเทอร์เน็ต

ทั้งนี้โครงสร้างพื้นฐานทางด้านไอทีที่สนับสนุนโครงการแม่ฮ่องสอนไอทีวัลเล่ย์ ในระยะแรกนั้น เนื่องจากที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เส้นทางการเดินทางค่อนข้างยากลำบาก ใช้เวลาเดินทางนาน อินเทอร์เน็ตที่ใช้ในการเชื่อมต่อระหว่างโรงเรียนและหน่วยงานราชการต่าง ๆ เนคเทค สวช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ใช้ไวแมกซ์ (WIMAX) ซึ่งเป็นการออกแบบโครงสร้างและอุปกรณ์แบบไร้สายที่ได้พัฒนามาจากไวไฟ (WiFi) มาใช้ในการติดต่อสื่อสาร เนื่องจากมีความเหมาะสมกับพื้นที่แม่ฮ่องสอน เพราะเสาต้นหนึ่งสามรถปล่อยสัญญาณรัศมีได้ไกล 10 กิโลเมตร

ที่ผ่านมามีการนำเทคโนโลยีไวแมกซ์ไปใช้ประโยชน์ทั้งด้านการเรียนการสอนผ่านระบบ e-Leaning และการลดอุปสรรคด้านการทำงานในพื้นที่ห่างไกล ได้แก่ การประชุมทางไกล Video conference เช่น ที่สถานีตำรวจภูธร จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ในขณะนั้นได้รับการสนับสนุนจากเนคเทค สวทช. ในการใช้โปรแกรมระบบประชุมทางไกลผ่านจอภาพ สร้างความสะดวกและลดภาระการเดินทาง ทั้งการประชุมระหว่างสถานี ไปจนถึงการประชุมพิจารณาคดีผัดฟ้องและฝากขังระหว่างศาลกับสถานีตำรวจในพื้นที่ ซึ่งช่วยให้ประหยัดงบประมาณได้เป็นจำนวนมาก

แม้ปัจจุบันแม่ฮ่องสอนจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีศักยภาพสูงขึ้นและครอบคลุมแล้วในหลายพื้นที่ แต่จากจุดเริ่มต้นของโครงการ “แม่ฮ่องสอนไอทีวัลเล่ย์” ซึ่งมีการดำเนินงานที่เข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง ด้วยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐภาคการศึกษา ภาคเอกชน รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ ทำให้โครงการนี้สร้างโอกาสให้แก่เด็กและเยาวชนในการพัฒนาศักยภาพของตนเองโดยใช้ไอทีเป็นเครื่องมือ และมีหลาย ๆ คนที่สามารถชื่อมต่อตัวเองเข้าสู่ธุรกิจด้านไอทีทั้งในและนอกจังหวัดได้อย่างน่าภาคภูมิใจ สมดังเจตนารมณ์ของผู้ร่วมก่อตั้งโครงการในยุคบุกเบิกที่บอกว่า สิ่งที่โครงการนำมาให้ไม่ใช่คอมพิวเตอร์แต่เป็น “ความรู้และโอกาส”

จึงนับได้ว่า โครงการ “เม่ฮ่องสอนไอทีวัลเล่ย์” เป็นต้นแบบของการใช้ไอทีในการสร้างคนและสร้างโอกาส ซึ่งช่วยแก้ปัญหาและสร้างงานในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป

แชร์หน้านี้: