หน้าแรก ผลงาน ผลงานวิจัยเด่น “ไลน์บอทโรคข้าว” นวัตกรรม AI อัจฉริยะ ตัวช่วยที่ชาวนาทุกคนเข้าถึงได้
“ไลน์บอทโรคข้าว” นวัตกรรม AI อัจฉริยะ ตัวช่วยที่ชาวนาทุกคนเข้าถึงได้
21 ต.ค. 2565
0
ผลงานวิจัยเด่น

ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีต่าง ๆ ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนในทุกสังคมไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะด้านการเกษตรที่หลายหน่วยงานพยายามผลักดันและพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ มาเป็นตัวช่วยเสริมให้กับเกษตรกรมากขึ้น

เช่นเดียวกับ คุณวศิน สินธุภิญโญ นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) ที่มองเห็นถึงปัญหาของชาวนาไทย นำมาสู่การวิจัยและพัฒนาจนเกิดเป็นกลุ่มไลน์ “บอทโรคข้าว” (Rice Disease Linebot) ตัวช่วยวินิจฉัยโรคข้าวที่ชาวนาทุกคนเข้าถึงได้

ภาพจากเพจ เพจเกษตรกรก้าวหน้า https://www.facebook.com/photo/?fbid=496446682512223&set=a.493266419496916

คุณวศินบอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของโครงการดังกล่าวว่า มาจากการรับรู้ปัญหาของเกษตรกรตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันที่ต้องแบกรับต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูงในแต่ละปี ทำให้หลายคนพยายามมองหาตัวช่วยในการลดต้นทุนลงเท่าที่จะทำได้ สิ่งนี้นำมาซึ่งการตั้งโจทย์ว่าจะมีเทคโนโลยีอะไรบ้างที่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ หลังผ่านการวิเคราะห์ในหลากหลายมุมมอง ทำให้พบว่าหนึ่งในต้นทุนหลักที่เกษตรกรต้องเสียไปอย่างเปล่าประโยชน์ทุกปีคือ สารเคมี จำพวกยาปราบวัชพืช และยาฆ่าแมลง เป็นต้น

ซึ่งสาเหตุมักเกิดจากความไม่รู้หรือไม่แน่ใจจนต้องลองผิดลองถูก ทำให้ทีมวิจัยเกิดความคิดว่าจะดีแค่ไหนหากสามารถช่วยให้เกษตรกรเลือกใช้ยาที่ถูกต้องตรงกับอาการของพืชได้ เพราะการแก้ปัญหายิ่งทำได้รวดเร็วเท่าไร ก็จะช่วยลดความสูญเสียของข้าวที่ถูกศัตรูพืชทำลายได้มากเท่านั้น

“ปกติเวลาเกษตรกรมีปัญหาเกี่ยวกับโรคพืชเขามักจะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญว่าจะแก้ยังไงครับ แต่ในความเป็นจริงผู้เชี่ยวชาญมีน้อย เราก็มองว่าเทคโนโลยีที่เรามีจะสามารถนำมาช่วยตรงนั้นได้ไหม ก่อนหน้านี้ผมเคยทำแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มาก่อน พอมาทำตรงนี้ก็พบปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องของระบบที่จะต้องตามอัพเดตอยู่ตลอด เลยต้องมองหาว่าจะมีระบบไหนที่คนส่วนใหญ่มีความคุ้นเคยหรือใช้งานกันเป็นประจำอยู่แล้ว จนสุดท้ายก็มาจบที่ไลน์ครับ

เพราะทุกวันนี้เชื่อว่าทุกคนต่างมีไลน์ติดตั้งไว้อยู่แล้ว ระบบของเราน่าจะเอามาใช้ในไลน์ได้ เราจึงพัฒนาจนได้วิธีการใช้ที่ง่ายที่สุดคือ ให้ผู้ใช้เข้าร่วมในกลุ่มไลน์ที่เราตั้งขึ้น สมาชิกในกลุ่มก็จะส่งรูปต้นข้าวที่มีปัญหาเข้ามา จากนั้นระบบ AI ที่เราฝังไว้ก็จะทำหน้าที่วิเคราะห์จากภาพนั้นและส่งคำตอบกลับไป ถือเป็นวิธีที่สะดวกกับทั้งเกษตรกรและทีมวิจัย เพราะผู้ใช้ไม่ต้องติดตั้งแอปพลิเคชันเพิ่ม ส่วนทีมพัฒนาก็อัพเดตเวอร์ชันผ่านตัว Server ที่ติดตั้งไว้ได้เลย โดยไม่กระทบกับส่วนอื่น ๆ เหมือนการอัพเดตแอป และไม่สร้างภาระให้ผู้ใช้ด้วยครับ” คุณวศินกล่าว

สำหรับการพัฒนาระบบคุณวศินอธิบายว่า หลังจากพัฒนาตัวโรบอทขึ้นมาแล้วจะใช้วิธีลงพื้นที่เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล รูปภาพ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใช้ทั้งเวลาและทรัพยากรจำนวนมาก หลังจากนั้นจะนำภาพที่ได้ไปให้อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคข้าวของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ช่วยดูและวิเคราะห์ให้ว่าภาพที่เก็บมาคือโรคอะไร

นั่นหมายความว่าภาพที่ใช้ต้องมีความคมชัดในระดับที่ผู้เชี่ยวชาญแค่มองก็สามารถตอบได้ว่าเป็นโรคอะไร หลังยืนยันข้อมูลส่วนนี้แล้วจึงจะนำภาพที่ผ่านการคัดเลือกป้อนลงในระบบ เพื่อสอนให้ AI ได้เรียนรู้และ คัดแยกได้ว่าภาพแบบไหนเป็นโรคอะไร เป็นกระบวนการที่ต้องทำซ้ำ ๆ เพื่อเพิ่มความแม่นยำให้กับระบบ

คุณวศินบอกอีกว่า ก่อนเปิดตัวระบบนี้ ทีมวิจัยสามารถทดลองให้ AI เรียนรู้ได้มากถึง 16 โรค แต่มีเพียง 10 โรคเท่านั้นที่มีความแม่นยำสูงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ประกอบด้วยโรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง โรคใบจุดสีน้ำตาล โรคใบขีดสีน้ำตาล โรคใบขีดโปร่งแสง

โรคไหม้คอร่วง โรคดอกกระถิน โรคใบวงสีน้ำตาล โรคเมล็ดด่าง และโรคใบหงิก หลังปรึกษากับทีมพัฒนาและอาจารย์จาก ม.เกษตร จึงได้ผลสรุปว่าจะเริ่มเปิดให้บริการตรวจสอบเฉพาะ 10 โรค ที่มีความแม่นยำสูงก่อน ส่วนโรคอื่น ๆ ที่ยังไม่สมบูรณ์ก็ยังคงพัฒนาต่อไป

“เราเปิดให้ใช้มาได้ประมาณ 2-3 ปีแล้วครับ ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 3 พันคน โดยแยกออกเป็นหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มเราก็จะขอให้มีผู้เชี่ยวชาญอยู่ในกลุ่มด้วยอย่างน้อย 1 คน เพราะอย่างน้อยอะไรที่เอไอตอบไม่ได้ก็ยังมีผู้เชี่ยวชาญที่สามารถให้คนในกลุ่มปรึกษาได้ อย่างที่บอกว่าตัวที่ใช้เป็นกลุ่มแชตในไลน์ เพราะฉะนั้นการใช้งานมันไม่ได้มีแค่ส่งรูปให้ระบบวิเคราะห์อย่างเดียว แต่คนในกลุ่มซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรก็สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยน แนะนำ หรือขอคำปรึกษากันเองกับสมาชิกในกลุ่มได้เช่นกัน

นอกจากข้าวแล้วเรายังมีการต่อยอดนำระบบไปใช้กับพืชชนิดอื่น ๆ ด้วย โดยล่าสุดอยู่ระหว่างการพัฒนาโรคพืชในสตรอว์เบอร์รีร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง และโรคมันสำปะหลังร่วมกับ ม.เกษตรครับ ถ้าองค์กรไหนสนใจอยากร่วมวิจัยสามารถติดต่อมาได้ ทางผมพัฒนาระบบ อีกฝั่งต้องเชี่ยวชาญโรคพืชเพื่อมาร่วมมือกัน ส่วนบุคคลทั่วไปที่อยากเข้าร่วมกลุ่มหรือเปิดกลุ่มไลน์แยกก็ติดต่อมาได้ครับ ตอนนี้เราเปิดให้ใช้ฟรีครับ” คุณวศินกล่าวทิ้งท้าย

➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖
วิจัยพัฒนาโดย : ทีมวิจัยการประมวลผลและเข้าใจภาพ (IPU) กลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ (AINRG) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖
ข้อมูลเพิ่มเติม : อีเมล : wasin.sinthupinyo@nectec.or.th หรือโทร 0-2564-6900 ต่อ 2247

ที่มาข้อมูล : เพจเกษตรกรก้าวหน้า

แชร์หน้านี้: