หน้าแรก คลังความรู้ 30 ปี สวทช. งานวิจัย 30 ปี สวทช. เซนเซอร์-ไอโอทีเทคโนโลยีตัวเร่ง “สมาร์ตฟาร์มเมอร์”
เซนเซอร์-ไอโอทีเทคโนโลยีตัวเร่ง “สมาร์ตฟาร์มเมอร์”
10 มิ.ย. 2564
0
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

เซนเซอร์-ไอโอทีเทคโนโลยีตัวเร่ง “สมาร์ตฟาร์มเมอร์”

เป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งของการพัฒนาด้านการเกษตรของไทยตามนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” ก็คือ การยกระดับเกษตรกร “สมาร์ตฟาร์มเมอร์” ที่มีการเปลี่ยนแปลงจากการทำเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่ “การเกษตรสมัยใหม่” หรือ “Smart farm” ที่เน้นการบริหารจัดการและนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนและยกระดับมาตรฐานเกษตรกรรมไทย

ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนางานวิจัยด้านการเกษตรของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่ปัจจุบันมีการหลอมรวมหลากหลายเทคโนโลยีจากความเชี่ยวชาญของศูนย์แห่งชาติฯ เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพตลอดจนสร้างรายได้ ทำให้เกษตรกรไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

หนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญที่จะทำให้เกษตรกรไทยสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ “สมาร์ตฟาร์มเมอร์” ได้อย่างรวดเร็วก็คือการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเครื่องมือสำหรับบริหารจัดการระบบการผลิตการเกษตรรูปแบบใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว ช่วยลดข้อจำกัดในภาคการเกษตร ทั้งในเรื่องแรงงานคน พื้นที่ และความต้องการของตลาด

ทั้งนี้ สวทช. โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้มีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนด้านการเกษตรสมัยใหม่มาอย่างต่อเนื่อง โดยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมุ่งเน้นทำให้เกิดการวางแผนจัดการการผลิตที่ดี ทั้งปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาด และการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งจะมีทั้งแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงข้อมูลสภาพแวดล้อมทางด้านการเกษตร ระบบควบคุมการเกษตรแม่นยำ ระบบตรวจสอบสภาพของพืชและสภาพแวดล้อม และระบบสนับสนุนการตัดสินใจ ที่มีการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่เข้ามาช่วย

ที่ผ่านมาเนคเทค สวทช. ได้มีการนำเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น อย่างเช่น สถานีวัดอากาศ อุปกรณ์สำหรับผลิตภัณฑ์ระบบควบคุมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กล่องควบคุมวาล์วให้น้ำ และโซลาร์ปั้มอินเวอร์เตอร์มาประกอบรวมเป็นต้นแบบนวัตกรรมพร้อมใช้ให้กับเกษตรกร ที่เรียกว่า “NECTEC FAARM series หรือฟาร์มเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมด้านการเกษตร” ปัจจุบันมีการต่อยอดไปสู่ระบบเกษตรอัจฉริยะต่าง ๆ ที่ได้รับความสนใจจากเกษตรกรผู้ใช้งานจริงในพื้นที่

เช่น “HandySense” (แฮนดี้เซนส์) ระบบเกษตรแม่นยำที่นำเทคโนโลยีเซนเซอร์ (Sensor) ผนวกเข้ากับอุปกรณ์ไอโอที (Internet of Things: IoT)พัฒนาเป็นอุปกรณ์ตรวจวัดและควบคุมสภาพแวดล้อมที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชผล ตั้งแต่การปลูกจนกระทั่งเก็บเกี่ยว ไม่ว่าจะเป็นการให้น้ำให้ปุ๋ย ป้องกันแมลง รวมทั้งควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และปริมาณแสง

โดยระบบจะเก็บบันทึกผลสภาวะแวดล้อม สามารถควบคุมและสั่งการอุปกรณ์ให้ทำงานอัตโนมัติได้ผ่านแอปพลิเคชันทั้งบนมือถือและคอมพิวเตอร์พีซีผู้ใช้งานหรือเกษตรกรสามารถเรียกดูข้อมูลต่าง ๆ ได้ผ่านเว็บแอปพลิเคชัน และสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการบริหารจัดการ ช่วยการตัดสินใจในกระบวนการเพาะปลูกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จากการทดสอบใช้งานจริงพบว่าสามารถเพิ่มคุณภาพและปริมาณของผลผลิตในกระบวนการเพาะปลูกพืชโดยเฉลี่ย 20% ของผลผลิตที่มีอยู่เดิม นอกจากนี้ยังใช้แรงงานโดยเฉลี่ยลดลง 52%

ระบบนี้มีการนำไปใช้งานในพื้นที่ปลูกผักปลอดภัยสูงและฟาร์มสมายเมล่อนจังหวัดฉะเชิงเทรา และขยายผลสู่เกษตรกรในพื้นที่โครงการเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

ขณะที่ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เนคเทค สวทช. ได้พัฒนา “Aqua Grow” (อะควาโกรว์) ซึ่งเป็นระบบอัจฉริยะที่ช่วยเกษตรกรติดตามดูแลคุณภาพน้ำในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ โดยใช้ 3 เทคโนโลยีหลัก คือ ระบบบริหารจัดการคุณภาพน้ำ อุปกรณ์ตรวจวัดปริมาณสารเคมี และอุปกรณ์ตรวจวัดการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย

มีการบันทึกและรวบรวมข้อมูลทั้ง 3 ด้านแบบเรียลไทม์ผ่านเครือข่ายไอโอทีระบบสามารถนำข้อมูลที่บันทึกมาวิเคราะห์เพื่อแจ้งเตือน พร้อมทั้งให้คำแนะนำการปรับสภาพบ่อเลี้ยงในเบื้องต้นให้แก่ผู้ใช้เมื่อบ่อเลี้ยงอยู่ในสถานะสุ่มเสี่ยงขณะเดียวกันผู้ใช้หรือเจ้าของฟาร์มสามารถติดตามข้อมูล บริหาร และจัดการฟาร์มได้อย่างสะดวกรวดเร็วแบบทุกที่ทุกเวลาผ่านสมาร์ตโฟน

ด้วยการยกระดับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างต่อเนื่องเนคเทค สวทช. ได้ดำเนินงานโครงการระบบและเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์สำหรับสัตว์น้ำ และขยายผลสู่ “โครงการยกระดับผู้ประกอบการสัตว์น้ำด้วยระบบติดตามแจ้งเตือนสภาพบ่อเพาะเลี้ยงทั้งทางกายภาพ เคมีและชีวภาพด้วยเทคโนโลยี IoT ในพื้นที่ภาคตะวันออก (Aqua-IoT ภาคตะวันออก)” ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยในการเฝ้าระวัง ส่งเสริมศักยภาพในการผลิตสัตว์น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที และสามารถวางแผนป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงต่อความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากสภาวะต่าง ๆ ในบ่อเลี้ยงได้ โดยเฉพาะในการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล และปลากะพง สัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญสร้างรายได้ให้ประเทศอย่างยั่งยืน

ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม

แชร์หน้านี้: