หน้าแรก คลังความรู้ 30 ปี สวทช. งานวิจัย 30 ปี สวทช. “SOS Water” แก้ปัญหาน้ำดื่มยามประสบภัยพิบัติ
“SOS Water” แก้ปัญหาน้ำดื่มยามประสบภัยพิบัติ
11 มิ.ย. 2564
0
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

“SOS Water” แก้ปัญหาน้ำดื่มยามประสบภัยพิบัติ

การขาดแคลนน้ำสะอาดในการอุปโภคและบริโภค นับเป็นปัญหาสำคัญที่สร้างความเดือดร้อนอย่างมากให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะในยามที่ต้องประสบกับภัยพิบัติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม แผ่นดินไหว ภัยแล้ง หรือภัยธรรมชาติอื่น ๆ ซึ่งล้วนสร้างความยากลำบากในการดำรงชีวิตและมีผลต่อสุขภาพอนามัยของผู้คนเป็นจำนวนมาก

จากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2554 มีประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน ไร้ที่อยู่ต้องอพยพไปอาศัยตามศูนย์ช่วยเหลือต่าง ๆ ซึ่งประสบปัญหา ทั้งด้านอาหารและน้ำที่สะอาดในการอุปโภคและบริโภคสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) เล็งเห็นถึงปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าว จึงนำความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการเคลือบผิวในระดับนาโนและเทคนิคการกำจัดเชื้อแบคทีเรีย มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบการผลิตน้ำดื่มสะอาดเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย เกิดเป็น “โครงการพัฒนาเครื่องผลิตน้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยเทคโนโลยีไส้กรองนาโน” หรือ “SOS Water” (Solar-Operating System Water ) ที่สามารถผลิตน้ำดื่มที่สะอาดได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และทำงานได้ในทุกสภาวการณ์ แม้ไม่มีกระแสไฟฟ้า 

“SOS Water” เป็นนวัตกรรมการกรองน้ำด้วยนาโนเทคโนโลยีที่ประยุกต์ใช้ไส้กรองเซรามิกเคลือบอนุภาคเงิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย โดยใช้กรรมวิธีการตรึงอนุภาคเงินระดับนาโนลงบนพื้นผิวและรูพรุนของไส้กรองเซรามิก ทำให้มีประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อแบคทีเรียและป้องกันการสะสมของเชื้อที่ไส้กรอง สามารถผลิตน้ำดื่มสะอาดจากแหล่งน้ำจืดธรรมชาติทั่วไปได้ โดยไม่ต้องใช้สารเคมีหรือระบบการตกตะกอน

นอกจากนี้เครื่องกรองน้ำดังกล่าว ยังมีระบบกรองร่วมกันอีก 5 ชนิด เช่น ถังกรองทราย (Sand filter) เพื่อกรองตะกอนและสารแขวนลอยขนาดใหญ่ที่ปะปนมาในน้ำก่อนเข้าสู่ระบบกรองอื่น ๆ มีไส้กรองเรซิ่น (Resin) ที่ช่วยปรับความกระด้างของน้ำ ไส้กรองคาร์บอน (Activated carbon) ที่ช่วยกรองกลิ่น สี คลอรีน และดูดจับสารอินทรีย์และสารเคมีต่าง ๆ ที่ตกค้างปนมากับน้ำ รวมทั้งโลหะหนัก ไส้กรองแมงกานีส ซีโอไลต์ (Manganese zealite) ช่วยกรองโลหะหนัก และไส้กรองยูเอฟ (Ultra filtration) ที่เป็นใยสังเคราะห์สามารถกรองละเอียดได้ถึง 10 นาโนเมตร สามารถดักจับสิ่งสกปรกและเชื้อแบคทีเรียที่ปะปนมากับน้ำดื่มได้

สำหรับเครื่อง SOS Water มีน้ำหนัก 160 กิโลกรัม กำลังการผลิต 200 ลิตรต่อชั่วโมง เพียงพอต่อชุมชนขนาดประมาณ 1,000 คน สามารถเลือกใช้งานได้ทั้งแบบกระแสไฟฟ้าตรงจากเซลล์แสงอาทิตย์ หรือโซล่าร์เซลล์จำนวน 4 แผงหรือใช้ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ได้ จึงเหมาะอย่างยิ่งกับการใช้งานในพื้นที่ห่างไกลในถิ่นทุรกันดารโดยสามารถติดตั้งและเริ่มใช้งานได้อย่างรวดเร็วแผงโซลาร์เซลล์ถอดพับเก็บได้ สะดวกในการเคลื่อนย้าย ซึ่งใช้งานได้ทั้งบนรถ บนเรือ รวมถึงพื้นที่ห่างไกล

ที่ผ่านมานาโนเทค สวทช. ร่วมมือกับสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย นำเครื่อง SOS Water ไปทดสอบประสิทธิภาพการทำงานจริงในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ผลจากการทดสอบในภาคสนามสามารถใช้งานได้ดีโดยระบบการทำงานของเครื่อง SOS Water และคุณภาพของน้ำดื่มที่ผลิตได้ตามตามมาตรฐานน้ำดื่มของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

“SOS Water” นวัตกรรมนี้ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องผลิตน้ำดื่มที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในยามประสบภัยพิบัติเท่านั้น แต่ยังเป็นนวัตกรรมที่ประหยัดพลังงานและช่วยเสริมสร้างสุขอนามัยที่ดีให้ประชาชน แม้อยู่ในพื้นที่ทุรกันดารไม่มีไฟฟ้าใช้ก็ตาม

ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม

แชร์หน้านี้: