หน้าแรก คลังความรู้ 30 ปี สวทช. งานวิจัย 30 ปี สวทช. อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย “นิคมวิจัยสําหรับเอกชน” แห่งแรกในไทย
อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย “นิคมวิจัยสําหรับเอกชน” แห่งแรกในไทย
13 มิ.ย. 2564
0
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย “นิคมวิจัยสำหรับเอกชน” แห่งแรกในไทย

            ปฏิเสธไม่ได้ว่า “อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย” (Thailand Science Park) ภายใต้การดูแลของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ก็คือ “นิคมวิจัยสำหรับเอกชน” แห่งแรกของประเทศไทย และยังคงเป็นนิคมวิจัยที่มีความสำคัญและขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน

            เป็นเวลาเกือบ 20 ปีที่ “อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย” เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2545 เพื่อเป็น “โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ” ที่ทุกฝ่ายคาดหวังว่าจะรองรับการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ได้อย่างยั่งยืน

            จุดเริ่มต้นของอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยนั้นเกิดขึ้นจากการเล็งเห็นถึงความจำเป็นของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนภาคเอกชนในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และก้าวทันกระแสของการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น อีกทั้งเสริมสร้างระบบนวัตกรรมของประเทศ โดยเฉพาะความเชื่อมโยงระหว่างภาคการศึกษาและวิจัยกับภาคการผลิต รวมถึงความเชื่อมโยงระหว่างภาคการผลิตด้วยกันเอง

            สำหรับการพัฒนาประเทศในอนาคต จำเป็นต้องมีการพัฒนากลไกที่มีประสิทธิภาพเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่โครงสร้างพื้นฐานของประเทศและแก้ไขจุดอ่อนที่เป็นอยู่ ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6 จึงกำหนดให้มีการจัดตั้งและพัฒนาอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ และมอบหมายให้ 3 กระทรวง คือ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และการพลังงาน (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในปัจจุบัน) ทบวงมหาวิทยาลัย และกระทรวงศึกษาธิการไปศึกษาเพื่อดำเนินการ

            ในช่วงปี พ.ศ. 2528-2530 กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ (ปัจจุบันเป็นกระทรวงการอุดมศึกษา) โดยการสนับสนุนของรัฐบาลออสเตรเลีย ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปศึกษาดูงาน ณ ประเทศออสเตรเลียหลายครั้ง และในปี พ.ศ. 2531 กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ติดต่อขอความร่วมมือไปยังสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology: AIT) ในการจัดหาที่ดินที่เหมาะสมสำหรับร่วมพัฒนาเป็นอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

            จากนั้นในเดือนเมษายน พ.ศ. 2532 ได้ติดต่อกองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนานาชาติ (United Nations Fund for Science and Technology for Development: UNFSTD) ซึ่งมีประสบการณ์ในโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ในเอเชีย ให้มาสำรวจการจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย รวมถึงได้มีการจัดสัมมนาเพื่อให้ข้อมูลและปรึกษาหารือกับนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ นักวิชาการ ผู้ใช้เทคโนโลยี ฝ่ายสถาบันการเงิน ภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งผู้เข้าร่วมการสัมมนาส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนในการจัดตั้ง

            คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจฯ จึงมีมติให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ดำเนินการจัดตั้ง “โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย” ขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย และมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นผู้ดำเนินการในเวลาต่อมา

 

           ภายใต้งบโครงการที่มีมูลค่าประมาณ 7,000 ล้านบาท เป็นงบก่อสร้างอาคารสถานที่ประมาณ 4,000 ล้านบาท และเครื่องมือและอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์อีกประมาณ 3,000 ล้านบาท อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยก่อตั้งขึ้นบนพื้นที่กว่า 200 ไร่ โดยตั้งอยู่บริเวณถนนพหลโยธิน กิโลเมตรที่ 42 ระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย

            พันธกิจหลักคือ การเป็นศูนย์รวมของการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ครบวงจร เป็นแหล่งพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือแบบไตรภาคี ระหว่างสถาบันการศึกษาภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการนำเทคโนโลยีไปใช้เชิงพาณิชย์ พร้อมทั้งกระตุ้นการพัฒนาอุตสาหกรรมผ่านการทำวิจัยและพัฒนาโดยภาคเอกชน

            ปัจจุบันอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ เป็นที่ตั้งของสำนักงานกลาง สวทช. และศูนย์วิจัยแห่งชาติทั้ง 5 ศูนย์ คือ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค) และศูนย์ใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงศูนย์บ่มเพาะธุรกิจนวัตกรรมตามแนวทางธุรกิจที่หลากหลายตามความเหมาะสม ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบที่ได้มาตรฐานสากล และโรงงานต้นแบบต่าง ๆ

            ด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ครบวงจร ทั้งสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก อุปกรณ์วิจัยทางวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยที่เชี่ยวชาญที่พร้อมให้คำปรึกษา ร่วมวิจัย และกลไกสนับสนุนที่ช่วยลดข้อจำกัดต่าง ๆ ทำให้ปัจจุบันมีบริษัทเอกชนทั้งไทยและต่างชาติไม่น้อยกว่า 100 บริษัท เช่าพื้นที่เพื่อทำวิจัยและพัฒนา

            ส่วนใหญ่เป็นบริษัทด้าน Automation Robotics & Intelligent System และ Food & Agriculture เช่น บริษัทกราวิเทคไทย (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งวิจัยและพัฒนาออกแบบผลิตบอร์ดไมโครคอนโทรเลอร์สำหรับทดลองเป็นบอร์ดต้นแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ และให้บริการออกแบบชิ้นงานต้นแบบเพื่อนำไปทำการวิจัยต่อยอดทางธุรกิจ บริษัทเกรนาเดส ไบโอเทค จำกัด ใช้เป็นสำนักงานประสานงานสำหรับงานด้านเกษตรอาหาร นวัตกรรมด้านการผลิตปศุสัตว์สารเสริมสำหรับสัตว์ การวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริษัทซีพี ฟู้ดแล็บ จำกัด เป็นศูนย์วิจัยและพัฒนา และห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ทางด้านเชื้อจุลินทรีย์ในผลิตภัณฑ์อาหาร

          นอกจากนี้ยังมีสถาบันพลังงานขั้นสูง มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ใช้เป็น Kyoto University ASEAN Center เพื่อประสานงานวิจัยและให้ทุนวิจัยแก่มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย รวมถึงบริษัทเฮเดล เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด ใช้เพื่อเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับ Graphene

            สำหรับเป้าหมายในอนาคตของอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย นอกจากจะกระตุ้นและผลักดันให้เกิดการพัฒนา “เมืองวิทยาศาสตร์ ปทุมธานี” แล้ว คือการก้าวสู่การเป็นสถานที่ชั้นนำของภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ ที่ผู้ประกอบการและธุรกิจที่ใช้ความรู้ วทน. เป็นองค์ประกอบสำคัญ สามารถกำเนิดเติบโต และเจริญรุ่งเรืองได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม

แชร์หน้านี้: