หน้าแรก จดหมายข่าว สวทช. ฉ.10 – สัมภาษณ์ ดร.ศรชล โยริยะ
จดหมายข่าว สวทช. ฉ.10 – สัมภาษณ์ ดร.ศรชล โยริยะ
25 ธ.ค. 2558
0
จดหมายข่าว สวทช. ย่อย
บทความ

altalt

จากผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมนำมาซึ่งรางวัลที่ได้รับมากมาย

ดร.ศรชล โยริยะ 

นักวิจัย ห้องปฏิบัติการเซรามิกส์ประยุกต์ หน่วยวิจัยเทคโนโลยีเซรามิกส์ MTEC

alt

สัมภาษณ์พิเศษฉบับนี้ จะนำผู้อ่านไปพูดคุยกับ นักวิจัยรุ่นใหม่ ไฟแรง ที่มีผลงานมากมายพร้อมพ่วงรางวัลที่ยืนยันความสามารถของเธอ ทั้งวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกระดับดีเยี่ยม จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในปี 2554 และในปี 2556 ได้รับรางวัล 2 ผลงาน จาก วช. คือ ผลงานวิจัยดีเด่น เรื่องท่อนาโนไทเทเนีย : การศึกษาการขึ้นรูป ความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างกับคุณสมบัติเชิงพื้นผิวและการทดสอบความเข้ากันได้กับเลือดและรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นระดับประกาศเกียรติคุณ เรื่องเครื่องเคลือบฟิล์มบางแบบสปัตเตอร์ริงและได้รับรางวัลทุนวิจัยลอรีอัลเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ ในสาขาวัสดุศาสตร์ ในปี 2556 และล่าสุดคือรางวัลเหรียญทองแดง สาขาการแพทย์ จากงาน 42nd International Exhibition of Inventions of Geneva เมื่อเดือนเมษายน 2557 ที่ผ่านมา 

ไปรู้จักกับเธอกันค่ะดร.ศรชล โยริยะ หรือ ดร.โอ๋ นักวิจัย ห้องปฏิบัติการเซรามิกส์ประยุกต์

หน่วยวิจัยเทคโนโลยีเซรามิกส์ MTEC สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ถาม : ดร.โอ๋ ก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ สวทช. มีที่มาอย่างไรคะ

ตอบ : ต้องบอกว่าเป็นการทำตามความฝันเลย การทำงานที่ MTEC ถือว่าเป็นความตั้งใจและความฝันสูงสุดของชีวิตที่ตั้งเป้าไว้ตั้งแต่ตอนเรียน เพราะตอนที่เรียนระดับปริญญาตรีปีสาม ได้มาดูงานที่ สวทชก็รู้สึกได้เลยทันทีว่าตัวเองอยากเป็นนักวิจัย อยากทำงานในลักษณะที่หลากหลายไม่จำเจในแต่ละวัน ถ้าทำงานเป็นอาจารย์คิดว่าอาจไม่เหมาะกับบุคลิกและความชอบของตัวเอง จนเมื่อเรียนจบปริญญาโทก็ได้เดินตามความตั้งใจและมีโอกาสได้เข้ามาทำงานที่ MTEC ในตำแหน่งผู้ช่วยวิจัยที่หน่วยวิจัยเซรามิกส์ แต่พอทำงานไปสักสามปีก็เริ่มรู้สึกว่าความรู้และภาวะในการตัดสินใจด้านวิชาการเราเริ่มตัน คิดว่าเราอาจต้องเข้าสู่กระบวนการใดกระบวนการหนึ่งเพื่อพัฒนาความรู้และศักยภาพของตัวเองให้มากกว่านี้ จึงได้ไปสอบทุนบุคคลทั่วไปของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาเอก และได้ไปเรียนในสาขา Materials Sciences and Engineering ที่ The Pennsylvania State University ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อสำเร็จการศึกษาก็ได้กลับมาเป็นนักวิจัยที่ MTEC จนถึงปัจจุบันค่ะ

 

ถาม : มีแนวคิดในการทำงานอย่างไรคะ

ตอบ : สิ่งแรกที่ถามตัวเองคือ มีความสุขกับงานที่ทำไหม คำตอบก็คือเรามีความสุขกับงานที่ทำ แม้ว่าจะมีปัญหาหรือเหตุการณ์เฉพาะหน้าในแต่ละวันที่ต้องแก้ไข แต่สิ่งที่หล่อเลี้ยงเปรียบเสมือนเป็นรากแก้วที่อยู่ลึกๆ ให้เรา enjoy การทำงานในทุกวันนี้คือ ลักษณะของงานนั่นเอง เรามีความสุขกับงานวิจัยที่ทำ เรารักงานวิจัย การเป็นนักวิจัยคืออาชีพที่อยากทำ เป็นความรู้สึกที่มั่นคง มีมาตั้งแต่ตอนเรียนปริญญาตรีปีสาม และด้วยการทำงานที่ MTEC นี่แหละ ที่ทำให้เราได้ไปเรียนต่อต่างประเทศ ทำให้เราได้มีโอกาสเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่มีค่ากลับมาทำงาน ได้พัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพในการทำงานเฉกเช่นทุกวันนี้ 

หากคิดว่าเราทำงานเพื่อตัวเองเราจะเหนื่อย หรือคิดว่าถ้าหัวหน้าสั่งหรือผู้ใหญ่สั่งให้เราทำงานโดยเป็นฝ่ายตั้งรับอย่างเดียว เราจะรู้สึกเหนื่อย แต่ถ้าเราลองคิดในมุมกลับ เราลองมองดูงานที่เรามีอยู่ในมือ เราอยากเห็นอนาคตของมันเป็นอย่างไร ลองรู้สึกศรัทธาที่จะทำและอยากทำงานนั้นออกมาให้ดี เราก็จะไม่เหนื่อย

ถาม : ผลงานที่ประทับใจมีอะไรบ้างคะ ทราบว่า ดร.โอ๋ มีผลงานมากมายเลยทีเดียว

ตอบ : สิ่งแรกที่จะเอ่ยถึง ก็คงเป็นเรื่องที่ถนัดและเชี่ยวชาญตามที่เรียนจบมา ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ทำมาตลอดช่วงที่เรียนปริญญาเอกเป็นระยะเวลา 5 ปี คืองานวิจัยเกี่ยวกับการขึ้นรูปฟิล์มท่อนาโนไทเทเนีย (Titania Nanotube Array Films) ด้วยกระบวนการทางไฟฟ้าเคมีแบบแอโนไดเซชั่น ซึ่งเมื่อเรียนจบก็ได้รับการเสนอจากกลุ่มวิจัยจาก University of California at San Francisco (UCSF) สหรัฐอเมริกา ที่ได้เคยทำงานวิจัยร่วมกันมาให้ทำ postdoc ต่อโดยให้พัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ด้านการนำฟิล์มท่อนาโนไทเทเนียไปพัฒนาเป็นวัสดุนำส่งตัวยาเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบซี แต่ในตอนนั้นคิดว่าอยากรีบกลับมาทำงานและปรับตัวให้เร็วที่สุด จึงได้ปฏิเสธโอกาสนั้นไป ซึ่งงานวิจัยหัวข้อนี้ ปัจจุบัน ทาง UCSF ก็ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในด้านการออกแบบและปรับปรุงประสิทธิภาพของตัววัสดุนำส่งตัวยาโดยใช้สูตรในการขึ้นรูปฟิล์มท่อนาโนไทเทเนียที่เราคิดขึ้นเป็นเงื่อนไขหลัก โดยตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ศึกษาอยู่นั้น เราเป็นต้นน้ำมาตลอด แล้วส่งต่อให้กับคนที่ศึกษาด้านการประยุกต์ใช้งานฟิล์มในด้านต่างๆ ต่อไป เช่น Gas Sensor, Dye-Sensitized Solar cell และ Biomedical applications  

พอเรียนจบกลับมา ก็ได้มีโอกาสส่งวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกเข้าประกวดเพื่อเสนอขอรับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และก็ได้รับรางวัลระดับดีเยี่ยม สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย ประจำปี 2554 ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความประทับใจที่สะท้อนถึงความตั้งใจทุ่มเทในการทำงานตลอดช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา และเมื่อกลับมาอยู่ MTEC ก็เริ่มเดินหน้าสร้างฐานเทคโนโลยีของเราเองขึ้นที่นี่ สำหรับแผนการใช้งานวัสดุท่อนาโนไทเทเนีย ปัจจุบัน นอกจากวัสดุนำส่งตัวยาแล้ว การประยุกต์ใช้งานวัสดุฯ ด้านการช่วยการแข็งตัวของเลือดก็เป็นอีกหัวข้อวิจัยหนึ่งที่สนใจ โดยเราก็ได้พยายามมองหาพันธมิตรหรือมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและสถาบันต่างๆ ที่จะนำวัสดุของเราไปใช้งานต่อ

alt

ถาม : ผลงานมากมายที่ทำออกมา ตั้งเป้าไหมว่าจะต้องได้รับรางวัลทุกผลงาน

ตอบ : ในการทำงานวิจัยนั้น ไม่เคยคิดว่าเราจะทำงานวิจัยเรื่องนี้เพื่อท้ายที่สุดเราจะได้เอาไปส่งประกวดเพื่อให้ได้รางวัล ที่เคยตั้งใจมีอย่างเดียวคือ การส่งวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกเข้าประกวด เพราะทราบมาก่อนว่ามีพี่ๆ นักวิจัยที่ MTEC เคยส่งประกวด เราเลยอยากลองส่งงานวิจัยของตัวเองบ้างว่า จากผลงานทางวิชาการทั้งหมดที่ได้ตีพิมพ์เป็นบทความทางวิชาการและสิทธิบัตร รวมถึงจำนวนการอ้างอิง ประโยชน์ของเทคโนโลยีที่มีศักยภาพที่จะนำไปต่อยอด และผลกระทบในเชิงวิชาการและภาคอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้น งานวิจัยของเราอยู่ในระดับไหน

ในมุมมองของการวางแผนการทำงานวิจัย อยู่ที่ว่าเราตั้งใจอยากจะให้ผลงานหรือผลผลิตออกมาในรูปแบบไหน เส้นทางไหนที่ควรจะทำ เมื่อตั้งเป้าแล้วเราต้องทำให้สัมฤทธิ์ผลให้ได้แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นไปได้ด้วย สิ่งสำคัญข้อหนึ่งที่ตัวเองมักจะพึงตระหนักอยู่เสมอคือจะไม่ละเลยสิ่งที่ควรทำเราต้องทำสิ่งที่ควรทำนั้นๆ ในช่วงเวลาที่เหมาะสมด้วย เนื่องจากเวลาไม่รอใคร ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการเผยแพร่นำเสนอผลงาน ก็มีช่วงเวลาที่เหมาะสมของมันเช่นกัน 

จริงๆ การส่งผลงานเข้าประกวดในเวทีต่างๆ ถือเป็นข้อดีอย่างหนึ่งในแง่ของการเผยแพร่ผลงานให้กับคนภายนอกได้รับรู้งานวิจัยของเรา การส่งผลงานเข้าประกวด ถือว่าเป็นผลพลอยได้มากกว่า เพราะทำให้เราได้เพื่อนใหม่เรื่อยๆ ในทุกครั้ง อย่างเช่นงานด้านการประยุกต์ใช้งานฟิล์มท่อนาโนไทเทเนียที่ใช้คุณสมบัติการห้ามเลือด การที่เราได้ไปนำเสนอผลงานในงานประกวดสิ่งประดิษฐ์ หรือนวัตกรรมการประยุกต์ใช้งานวัสดุ ก็ทำให้เราได้เจอพันธมิตรจากหลายสถาบัน ได้รู้จักอาจารย์หรือนักวิจัยในหลากหลายสาขา เช่นหมอหรือเภสัชกร ที่บางทีจากการพูดคุยกันทำให้เราได้ทราบถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากผู้ใช้งานโดยตรง และได้โจทย์วิจัยใหม่ๆ กลับมาทำ แต่ละเวทีที่ไปประกวดหรือนำเสนอผลงานนั้นอาจทำให้คนอื่นเกิดไอเดียที่จะนำวัสดุของเราไปใช้งานต่อ มองเห็นโอกาสที่จะได้มาร่วมงานกับเรา หรือมองเห็นช่องทางที่จะมีโครงการวิจัยร่วมกันขึ้นในอนาคต 

นอกจากงานวิจัยเรื่องท่อนาโนไทเทเนีย ก็มีงานวิจัยอีกโครงการหนึ่งที่เกี่ยวกับ Application ด้านการแพทย์ เป็นโครงการวิจัยเรื่องการพัฒนากระบวนการเคลือบผิววัสดุอุปกรณ์ฝังในใช้สำหรับอุดรูรั่วผนังหัวใจ โดยเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีการเคลือบผิวฟิล์มบางโลหะบนวัสดุรูปร่างซับซ้อน ที่เป็นโครงการวิจัยร่วมระหว่าง MTEC กับบริษัทผู้ผลิตวัสดุอุปกรณ์การแพทย์ภายในประเทศ ซึ่งหากทีมวิจัยสามารถพัฒนากระบวนการเคลือบสำเร็จ ทางบริษัทผู้ผลิตก็มีความยินดีจะรับถ่ายทอดเทคโนโลยีในท้ายที่สุด จะถือเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายของบริษัทอย่างมากด้านการส่งตัวอย่างเข้าออกประเทศเพื่อปรับปรุงคุณสมบัติเชิงพื้นผิวของวัสดุ จุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดโครงการวิจัยนี้ขึ้นได้ ก็เนื่องมาจากการที่ทางทีมวิจัยได้ไปนำเสนอผลงานที่ วช. ในงานวันแถลงข่าวประกาศผลผู้ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ: รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2557 แล้วทางทีมวิจัยได้มีโอกาสพูดคุยกับบริษัทผู้ผลิตที่มีความต้องการทำวิจัยในเรื่องนี้ นี่ถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนหรือเป็นข้อดีของการส่งผลงานวิจัยเข้าประกวด และผลงานนี้ได้มีการต่อยอดไอเดียในการพัฒนาเป็นสิ่งประดิษฐ์ต้นแบบเพื่อให้ก้าวไปสู่การนำไปใช้งานได้จริงทางด้านการแพทย์ ทำให้ล่าสุดอีกหนึ่งรางวัลที่เราได้รับจากสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้คือ รางวัลเหรียญทองแดง สาขาการแพทย์ จากงาน 42nd International Exhibition of Inventions of Geneva โดยผลงานนี้ได้รับเชิญจาก วช. ให้ร่วมส่งผลงานเข้าประกวดสิ่งประดิษฐ์ที่เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเดือนเมษายน 2557 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ก็ได้รับทุนวิจัยลอรีอัลเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ ในสาขาวัสดุศาสตร์ ในปี 2556 เนื้อหาหลักเป็นผลงานวิชาการและงานวิจัยทั้งหมดที่ทำมาในช่วงเวลาหลายปี ดู Motivation ในการทำงานวิจัยด้านวัสดุศาสตร์ในหลายมิติ  อันจะก่อให้เกิดประโยชน์และผลกระทบต่อสังคมต่อไป รางวัลนี้ก็เป็นอีกหนึ่งความภูมิใจของชีวิต และรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ท่านคณะกรรมการได้พิจารณาให้ได้รับทุนฯ นี้จากลอรีอัล ซึ่งก็ถือเป็นแรงบันดาลใจอย่างมากในฐานะนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง ในการที่จะทำงานวิจัยเพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่ดี มีประโยชน์ สามารถนำไปใช้ได้จริงและถ่ายทอดสู่สังคมอย่างเป็นรูปธรรมได้ 

งานอีกด้านหนึ่งที่จริงๆ แล้วยังคงทำอย่างต่อเนื่องมาตลอดช่วงที่กลับมาทำงานที่ MTEC คือ งานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องน้ำ จุดเริ่มต้นเลยเกิดขึ้นเมื่อช่วงสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในประเทศเมื่อปลายปี 2554 ซึ่งตอนนั้นกลับมาทำงานได้ไม่ถึงปี ก็ได้รับโอกาสจากท่านอาจารย์วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการ MTEC สมัยนั้น ให้ได้มีส่วนร่วมเป็นคณะทำงานของ สวทช. ในโครงการวิเคราะห์น้ำท่วมขังภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยเพื่อทำการวิเคราะห์ทดสอบและประเมินคุณภาพของน้ำท่วมขังบริเวณต่างๆ ของ สวทช. ในช่วงน้ำท่วม และในขณะเดียวกันนั้น ก็ได้มีโอกาสร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีมวิจัย MTEC นำโดย ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ที่ได้ร่วมกันพัฒนานวัตกรรม เอ็นค่า : เทคโนโลยีการจัดการน้ำเสียที่ท่วมขังด้วยสารจับตะกอน (nCLEAR) ร่วมกับเครื่องเติมอากาศแบบประหยัด (nAIR) งานนี้ถือเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจของทีมนักวิจัยทุกคนที่ได้พัฒนางานวิจัยออกไปใช้อย่างเป็นรูปธรรมและเห็นผลชัดเจนจริงๆ จากการที่เราได้นำเอ็นค่าไปใช้งานในหลากหลายสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่น้ำท่วมปี 2554 จนถึงการปรับปรุงคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำชุมชน/คูเมืองในต่างจังหวัด เช่นจังหวัดเชียงใหม่และแพร่ในช่วงปี 2556 ที่ผ่านมา ซึ่งประสบการณ์ทุกอย่างที่เราเองได้มีส่วนร่วมและทำงานร่วมกับพี่ๆ เพื่อนๆ นักวิจัย ทำให้เราได้เรียนรู้อย่างมากในขั้นตอนการทำงาน ในเชิงเทคนิคจากสเกลเล็กๆ ในห้องแล็บสู่การขยายสเกลเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ และเทคนิคการทำงานให้เป็นไปอย่างราบรื่นร่วมกับคนในท้องถิ่นนั้นๆ  

งานบางอย่างที่เราได้รับโอกาสให้ทำ บางครั้งในตอนแรกเราอาจรู้สึกว่าไม่เกี่ยวหรือไม่ตรงกับพื้นฐานหรือสิ่งที่เราเรียนจบมา ไม่รู้ว่าจะมีประโยชน์ในการนำไปต่อยอดในอนาคตอันใกล้อย่างไร แต่จริงๆ แล้ว จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ตัวเองไม่เคยปฏิเสธโอกาสที่ได้รับหรือมอบหมายให้ทำ เพราะเราเองพบว่างานและกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ทำ สิ่งเหล่านั้นไม่มีอะไรที่จะกลายเป็นสิ่งไร้ค่าไปได้เลย เมื่อถึงเวลาหนึ่งที่เหมาะสม ทุกอย่างจะกลับกลายเป็นความรู้และประสบการณ์ที่มีคุณค่าได้เสมอ ณ วันหนึ่งข้อมูลเหล่านั้นก็จะสามารถมารวมตัวกันแล้วกลายเป็นฐานความรู้ให้เราคิดต่อยอด แตกแขนงไปได้อีกเรื่อยๆ ในลำดับขั้นต่อไป ตัวเราเองมีความเชื่ออย่างนั้นมาตลอดค่ะ

ถาม : ดร.โอ๋มีใครเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานคะ

ตอบ : ที่จริงก็มีจากหลายคนนะคะในแต่ละช่วงจังหวะของชีวิต เราเห็นพี่ๆ หลายคนประสบความสำเร็จ พวกเขาก็ล้วนแต่เป็นแรงบันดาลใจให้เราได้ทำสิ่งดีๆ เหมือนพี่ๆ เหล่านั้น แต่ถ้าถามถึงคนที่ฝึกให้เรามีแบบแผนของกระบวนการคิด ฝึกให้เรามีรูปแบบของลักษณะการทำงานแบบทุกวันนี้ บุคคลที่เป็นแรงบันดาลใจและระลึกถึงเสมอ ก็คืออาจารย์ที่ปรึกษาตอนเรียนปริญญาเอกค่ะ Professor Craig A. Grimes ท่านเป็นคนที่ทำงานหนัก มีวิญญาณนักสู้และไม่ท้อ อาจารย์บอกเราเสมอว่า ตอนเรียนเราเป็นนักเรียน ใช้ช่วงเวลาที่มีค่านี้ไว้ฝีกฝนตัวเองให้แกร่ง พัฒนาวุฒิภาวะ ทักษะและความสามารถของตัวเองที่จะจัดการกับปัญหาต่างๆ ให้ได้ด้วยดี ด้วยการคิดอย่างรอบคอบและรัดกุมที่สุด เพราะเมื่อเรียนจบออกไป เราจะมีคำว่า ดร. นำหน้าแล้ว จะไม่มีใครมาคอยให้อภัยและให้เวลาคุณฝึกซ้อมในการแก้ปัญหาต่างๆ ได้อยู่เรื่อยไป โลกใบนี้มันโหดร้ายและแข็งกร้าวนัก เราต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดที่จะสามารถเผชิญกับปัญหาต่างๆ เหล่านั้น ตอนเรียนเราอาจมีงาน 4 – 5 อย่างอยู่ตรงหน้า แต่พอเวลาเราจบไปทำงานจริง เราอาจมีงาน 20 อย่างอยู่ตรงหน้าให้ทำให้เสร็จพร้อมๆ กันก็ได้ ดังนั้นเราจะมีวิธีการบริหารจัดการอย่างไรเพื่อให้สามารถผ่านสิ่งเหล่านั้นไปด้วยดี  

อาจารย์สอนให้เราจะต้องมีความเชื่อในสิ่งที่เราทำว่าเป็นไปได้ ถ้าเราเชื่อว่าสิ่งนั้นเป็นไปได้ เราก็จะสามารถถ่ายทอดผลงานนั้นๆ ออกมาในลักษณะที่มันจะเป็นไปได้ แต่ถ้าเราไม่เชื่อ แม้แต่เราเขียนบทความครึ่งหน้ากระดาษโดยที่ยังกังขาและไม่เชื่อว่างานเราจะสำเร็จ คนอ่านก็จะรู้สึกและสัมผัสได้อยู่ดีว่า งานนี้เป็นไปไม่ได้ซึ่งก่อนจะเชื่อ เราต้องมีความเข้าใจในสิ่งที่เราทำให้ลึกซึ้ง ถ้าเปรียบเทียบให้เราอธิบายวิธีทำผัดไทกับแกงกะหรี่อินเดีย การที่เราเป็นคนไทยก็จะสามารถพูดอธิบายวิธีการทำผัดไทได้อย่างง่ายดายและคล่องแคล่ว นี่ก็เป็นเพราะเรารู้และเข้าใจสิ่งนั้นอย่างถ่องแท้ เราถึงพูดได้เป็นฉากๆ อธิบายได้อย่างชัดเจน เข้าใจง่าย ตรงประเด็น และสั้นกระชับ แต่ถ้าเราไม่เข้าใจเราก็จะรู้สึกว่ายากมากที่จะถ่ายทอดสื่อสารออกมา เราจะเริ่มวนเวียนในจุดเริ่มต้นแบบงงๆ ที่ไม่รู้ว่าสิ่งไหนคือผักบุ้งโหรงเหรงที่ควรทิ้ง หรือสิ่งไหนคือชิ้นเนื้อปลามันที่ต้องการ เพราะจริงๆ ในเมื่อคุณไม่รู้จัก แล้วคุณจะพูดถึงสิ่งนั้นได้อย่างสบายใจได้อย่างไร สิ่งที่อาจารย์สอนและตั้งคำถาม เรามักจะนำมาปรับใช้กับการทำงานของเราอยู่เสมอ ทำให้เรามีสติคิดให้รอบคอบก่อนจะทำการสิ่งใดในทุกทักษะ ซึ่งถือว่าเป็นข้อดีอย่างมากในการทำงาน 

การสร้างพลังใจให้กับตัวเองในการทำงานก็เป็นสิ่งสำคัญนะคะ มันจะช่วยให้เรามีพลังขับเคลื่อนตัวเองไปได้ในทางบวก ถึงแม้จะเหนื่อยกาย แต่เราจะไม่เหนื่อยใจค่ะ  คิดเช่นนี้ได้บ่อยๆ เราจะมีพลังใจเกิดขึ้นมาเองเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัวเลย ลองสังเกตดูสิคะว่าคนที่อยู่รอบข้างคุณเขาจะรู้สึกได้รับพลังจากเราไปด้วย  

กำลังใจที่ยั่งยืน ไม่มีใครที่จะมาสร้างหรือหยิบยื่นให้คุณได้ คุณต้องสร้างมันด้วยตัวของคุณเอง”  

“Lasting motivation can only come from you. You have to start building it in yourself.”

25 ธ.ค. 2558
0
แชร์หน้านี้: