หน้าแรก คลังความรู้ คลังความรู้ นานาสาระน่ารู้ ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัล ประจำปี 2562 โดย IMD (2019 IMD World Digital Competitiveness Ranking)
ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัล ประจำปี 2562 โดย IMD (2019 IMD World Digital Competitiveness Ranking)
8 พ.ย. 2562
0
นานาสาระน่ารู้

ในปี 2562 IMD ได้จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของ 63 ประเทศทั่วโลก และได้เผยแพร่ไว้ที่ IMD WORLD DIGITAL COMPETITIVENESS RANKING 2019 โดยมีผลการจัดอันดับดังนี้

ตารางผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของประเทศ 5 อันดับแรกและประเทศไทย ปี 2561-2562 โดย IMD

ประเทศ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ สวีเดน เดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ ไทย
ปี 2562 2561 2562 2561 2562 2561 2562 2561 2562 2561 2562 2561
อันดับรวม 1 1 2 2 3 3 4 4 5 5 40 39
1. ความรู้ 1 4 3 1 4 7 6 8 2 6 43 44
1.1 ความสามารถพิเศษ 14 11 1 1 8 10 6 6 2 2 40 42
1.2 การฝึกอบรมและการศึกษา 25 21 4 1 2 5 6 3 15 15 50 44
1.3 ความเข้มข้นทางวิทยาศาสตร์ 1 1 22 19 3 3 17 14 7 6 35 45
2. เทคโนโลยี 5 3 1 1 7 5 11 10 10 9 27 28
2.1 โครงสร้างการควบคุม 19 16 2 2 5 12 10 8 14 15 33 34
2.2 เงินทุน 1 1 8 8 4 10 27 22 16 15 21 28
2.3 โครงสร้างเทคโนโลยี 11 9 1 1 12 7 8 5 9 8 29 23
3. ความพร้อมในอนาคต 1 2 11 15 6 5 2 1 10 10 50 49
3.1 ทัศนคติที่ปรับตัวได้ 2 1 19 20 8 9 1 5 11 12 58 55
3.2 ความคล่องตัวทางธุรกิจ 2 9 6 18 13 10 10 6 14 7 30 34
3.3 การรวมกันของเทคโนโลยีสารสนเทศ 5 8 4 3 12 11 1 5 7 16 51 55

สหรัฐอเมริกา, สิงคโปร์, สวีเดน, เดนมาร์ก และสวิตเซอร์แลนด์ ยังคงครองอันดับรวมที่ 1 ถึง 5 ไว้เหมือนกับปีที่แล้ว (2561)  ตามลำดับ ซึ่งตรงข้ามกับไทยที่ในปีนี้ (2562) ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 40 ซึ่งเลื่อนลงมา 1 อันดับจากปีที่แล้ว

ปัจจัยที่ทำให้สหรัฐอเมริกายังคงรักษาอันดับ 1 ได้อย่างเดิม มาจากการพัฒนาด้านความรู้ที่ได้อันดับ 1 ในปีนี้เลื่อนขึ้นมาถึง 3 อันดับ และด้านความพร้อมในอนาคตที่ได้อันดับ 1 ในปีนี้ส่วนปีที่แล้วได้อันดับ 2 ส่วนด้านเทคโนโลยีมีอันดับเลื่อนลง 2 อันดับ ได้อันดับ 5 ในปีนี้ การพัฒนาด้านความรู้ของสหรัฐอเมริกาที่ดีขึ้นเกิดจากปัจจัยย่อยคือ การยังคงรักษาอันดับ 1 ไว้ได้ของความเข้มข้นทางวิทยาศาสตร์ ถึงแม้ปัจจัยย่อยการฝึกอบรมและการศึกษา และความสามารถพิเศษจะมีอันดับเลื่อนลงกว่าปีก่อน 4 อันดับ และ 3 อันดับ ตามลำดับ ปีนี้ได้อันดับ 25 และ 14 ตามลำดับ ตัวชี้วัดที่ส่งผลให้ปัจจัยย่อยความเข้มข้นทางวิทยาศาสตร์ยังคงรักษาอันดับ 1 ได้คือ รายจ่ายทั้งหมดในการวิจัยและพัฒนา ผลิตผลทางการวิจัยและพัฒนาในรูปของสิ่งพิมพ์เผยแพร่ การจ้างงานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การให้ทุนสิทธิบัตรที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และการศึกษาวิจัยพัฒนาเกี่ยวกับหุ่นยนต์ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่เพิ่งมีในปีนี้ ตัวชี้วัดที่มีผลอย่างมากต่อการเลื่อนอันดับลงของปัจจัยย่อยการฝึกอบรมและการศึกษาคือ การฝึกหัดพนักงาน ตัวชี้วัดประสบการณ์ระหว่างประเทศ และทักษะทางด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล ส่งผลอย่างมากต่อการเลื่อนอันดับลงของปัจจัยย่อยความสามารถพิเศษ ส่วนการพัฒนาด้านความพร้อมในอนาคตที่เลื่อนขึ้นมา 1 อันดับ เป็นอันดับ 1 ในปีนี้ เกิดจากปัจจัยย่อยคือ ความคล่องตัวทางธุรกิจ และการรวมกันของเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่มีอันดับเลื่อนขึ้น 7 และ 3 อันดับ ตามลำดับ เป็นอันดับ 2 และ 5 ตามลำดับในปีนี้ ตัวชี้วัดที่มีผลต่อการเลื่อนอันดับขึ้นของความคล่องตัวทางธุรกิจคือ โอกาสและอุปสรรค และการกระจายทั่วโลกของหุ่นยนต์ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่เพิ่งมีในปีนี้ ส่วนตัวชี้วัดที่มีผลต่อการเลื่อนอันดับขึ้นของปัจจัยย่อยการรวมกันของเทคโนโลยีสารสนเทศคือ รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ และความปลอดภัยทางไซเบอร์ ส่วนปัจจัยด้านเทคโนโลยีที่มีอันดับเลื่อนลงเกิดจากการเลื่อนอันดับลงของปัจจัยย่อยโครงสร้างการควบคุม และโครงสร้างเทคโนโลยีจากอันดับ 16 และ 9 ในปีที่แล้ว เป็นอันดับ 19 และ 11 ในปีนี้ ตามลำดับ ตัวชี้วัดที่มีผลอย่างมากต่อการเลื่อนอันดับลงของโครงสร้างการควบคุมคือ กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่มีอันดับต่ำสุดทั้งในปีนี้และปีที่แล้วคือ ได้อันดับ 60 ในปีนี้ส่วนปีที่แล้วได้อันดับ 54 และสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ในขณะที่ตัวชี้วัดที่มีผลอย่างมากต่อการเลื่อนอันดับลงของโครงสร้างเทคโนโลยีคือ ผู้บอกรับเป็นสมาชิกบรอดแบนด์ที่สามารถเคลื่อนที่ได้ และการส่งออกสินค้าไฮเทค

การเลื่อนอันดับลง 2 อันดับจากอันดับ 1 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 3 ในปีนี้ของปัจจัยความรู้ และการเลื่อนอันดับขึ้น 4 อันดับ ในปีนี้มีอันดับ 11 ของปัจจัยความพร้อมในอนาคต ในขณะที่ปัจจัยเทคโนโลยียังคงรักษาอันดับ 1 ไว้เหมือนเดิม ทำให้สิงคโปร์สามารถรักษาอันดับรวมไว้ที่อันดับ 2 เหมือนปีที่แล้ว การเลื่อนอันดับลงของปัจจัยความรู้เกิดจากการเลื่อนอันดับลงของปัจจัยย่อยการฝึกอบรมและการศึกษา และปัจจัยย่อยความเข้มข้นทางวิทยาศาสตร์ จากอันดับ 1 และ 19 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 4 และ 22 ในปีนี้ ตามลำดับ ตัวชี้วัดหลักที่มีผลต่อการเลื่อนอันดับลงของปัจจัยย่อยการฝึกอบรมและการศึกษาคือ การฝึกหัดพนักงาน และจำนวนเฉลี่ยของนักศึกษาต่ออาจารย์ในการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ตัวชี้วัดรายจ่ายทั้งหมดในการวิจัยและพัฒนา และการศึกษาวิจัยพัฒนาเกี่ยวกับหุ่นยนต์มีผลอย่างมากต่อการเลื่อนอันดับลงของปัจจัยย่อยความเข้มข้นทางวิทยาศาสตร์ ในขณะที่การเลื่อนอันดับขึ้นของปัจจัยความพร้อมในอนาคตโดยหลักเกิดจากปัจจัยย่อยความคล่องตัวทางธุรกิจที่มีอันดับเลื่อนขึ้นถึง 12 อันดับ เป็นอันดับ 6 ในปีนี้ ตัวชี้วัดที่มีผลอย่างมากต่อการเลื่อนอันดับขึ้นมากของปัจจัยย่อยความคล่องตัวทางธุรกิจคือ ตัวชี้วัดโอกาสและอุปสรรคที่มีอันดับเลื่อนขึ้นถึง 13 อันดับ จากอันดับ 22 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 9 ในปีนี้ ตัวชี้วัดความคล่องตัวของบริษัทที่มีอันดับเลื่อนขึ้นถึง 19 อันดับ จากอันดับ 26 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 7 ในปีนี้ และตัวชี้วัดการใช้ big data และ analytics ที่มีอันดับเลื่อนขึ้น 6 อันดับ ได้อันดับ 15 ในปีนี้ ปัจจัยย่อยโครงสร้างการควบคุม เงินทุน และโครงสร้างเทคโนโลยียังคงรักษาอันดับไว้เหมือนเดิมที่อันดับ 2, 8 และ 1 ตามลำดับ ทำให้ปัจจัยเทคโนโลยียังคงอยู่ที่อันดับ 1 เท่าเดิม

การยังคงอันดับรวมที่อันดับ 3 ในปีนี้เหมือนปีที่แล้วของสวีเดน เนื่องมาจากการเลื่อนอันดับขึ้นของปัจจัยความรู้ที่เลื่อนจากอันดับ 7 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 4 ในปีนี้ และการเลื่อนอันดับลงของปัจจัยเทคโนโลยีและปัจจัยความพร้อมในอนาคต 2 และ 1 อันดับ มีอันดับ 7 และ 6 ในปีนี้ ตามลำดับ ปัจจัยย่อยที่ทำให้ปัจจัยความรู้เลื่อนอันดับขึ้นคือ ความสามารถพิเศษ และการฝึกอบรมและการศึกษาที่เลื่อนขึ้น 2 และ 3 อันดับ เป็นอันดับ 8 และ 2 ในปีนี้ ตามลำดับ ตัวชี้วัดประสบการณ์ระหว่างประเทศและตัวชี้วัดทักษะทางด้านเทคโนโลยีหรือดิจิทัลมีผลทำให้เกิดการเลื่อนอันดับขึ้นของปัจจัยย่อยความสามารถพิเศษ ส่วนตัวชี้วัดหลักที่มีผลต่อการเลื่อนอันดับขึ้นของปัจจัยย่อยการฝึกอบรมและการศึกษาคือ ผู้สำเร็จการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ ปัจจัยย่อยหลักที่ส่งผลต่อการเลื่อนอันดับลงของปัจจัยเทคโนโลยีคือ โครงสร้างเทคโนโลยีที่เลื่อนลง 5 อันดับ มีอันดับ 7 ในปีที่แล้ว ส่วนในปีนี้มีอันดับ 12 ตัวชี้วัดที่มีผลอย่างมากต่อการเลื่อนอันดับลงของปัจจัยย่อยโครงสร้างเทคโนโลยีคือ ผู้บอกรับเป็นสมาชิกบรอดแบนด์ที่สามารถเคลื่อนที่ได้ที่มีอันดับเลื่อนลงถึง 10 อันดับ ได้อันดับ 32 ในปีนี้ ในขณะที่การเลื่อนอันดับลงของปัจจัยความพร้อมในอนาคตเนื่องจากการเลื่อนอันดับลงของ 2 ปัจจัยย่อยได้แก่ ความคล่องตัวทางธุรกิจ และการรวมกันของเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ได้อันดับ 10 และ 11 ในปีที่แล้ว ส่วนปีนี้ได้อันดับ 13 และ 12 ตามลำดับ ตัวชี้วัดที่สำคัญที่ทำให้ปัจจัยย่อยความคล่องตัวทางธุรกิจเลื่อนอันดับลงคือ ความคล่องตัวของบริษัท ส่วนตัวชี้วัดที่สำคัญที่มีผลต่อการเลื่อนอันดับลงของปัจจัยย่อยการรวมกันของเทคโนโลยีสารสนเทศได้แก่ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่มีอันดับเลื่อนลงถึง 10 อันดับ จากอันดับ 26 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 36 ในปีนี้

เดนมาร์กมีอันดับรวมจัดอยู่ในอันดับ 4 เหมือนปีที่แล้ว เป็นผลมาจากการเลื่อนอันดับขึ้นของปัจจัยความรู้จากอันดับ 8 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 6 ในปีนี้ และการเลื่อนอันดับลงของปัจจัยเทคโนโลยีและความพร้อมในอนาคตจากอันดับ 10 และ 1 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 11 และ 2 ในปีนี้ ตามลำดับ ปัจจัยย่อยที่มีผลต่อการปรับอันดับขึ้นของปัจจัยความรู้คือ ความสามารถพิเศษที่ยังคงรักษาอันดับ 6 ไว้เหมือนเดิม ถึงแม้อีก 2 ปัจจัยย่อยได้แก่ การฝึกอบรมและการศึกษา และความเข้มข้นทางวิทยาศาสตร์ มีการเลื่อนอันดับลงจากอันดับ 3 และ 14 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 6 และ 17 ในปีนี้ ตามลำดับ ตัวชี้วัดหลักที่มีผลทำให้ปัจจัยย่อยความสามารถพิเศษยังคงรักษาอันดับไว้เหมือนเดิมคือ การประเมินนักเรียนนานาชาติขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) วิชาคณิตศาสตร์ และตัวชี้วัดการไหลสุทธิของนักเรียนระหว่างประเทศที่ยังคงรักษาอันดับ 11 และ 6 ไว้เหมือนเดิม ตามลำดับ ส่วนการเลื่อนอันดับลงของปัจจัยเทคโนโลยีเกิดจากการเลื่อนอันดับลงของทั้ง 3 ปัจจัยย่อยได้แก่ โครงสร้างการควบคุม เงินทุน และโครงสร้างเทคโนโลยี เลื่อนอันดับลง 2, 5 และ 3 อันดับ ได้อันดับ 10, 27 และ 8 ในปีนี้ ตามลำดับ ตัวชี้วัดที่มีผลอย่างมากต่อการเลื่อนอันดับลงของปัจจัยย่อยโครงสร้างการควบคุมคือ การเริ่มต้นธุรกิจ และตัวชี้วัดการพัฒนาและโปรแกรมใช้งานของเทคโนโลยี ส่วนตัวชี้วัดหลักที่มีผลต่อการเลื่อนอันดับลงของปัจจัยย่อยเงินทุนได้แก่ การให้ทุนเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยี และการบริการทางการเงินและธนาคาร ในขณะที่การเลื่อนอันดับลงของปัจจัยย่อยโครงสร้างเทคโนโลยีส่งผลอย่างมากมาจากการเลื่อนอันดับลงของตัวชี้วัดการส่งออกสินค้าไฮเทคถึง 13 อันดับ มีอันดับ 33 ในปีนี้ ปัจจัยความพร้อมในอนาคตเลื่อนอันดับลงเนื่องจากการเลื่อนอันดับลงของปัจจัยย่อยความคล่องตัวทางธุรกิจเป็นหลัก โดยเลื่อนอันดับลง 4 อันดับ จัดอยู่ในอันดับ 10 ในปีนี้ ตัวชี้วัดที่มีผลอย่างมากต่อการเลื่อนอันดับลงของปัจจัยย่อยความคล่องตัวทางธุรกิจได้แก่ การใช้ big data และ analytics ที่เลื่อนอันดับลงถึง 10 อันดับ มีอันดับ 17 ในปีนี้

สวิตเซอร์แลนด์มีอันดับรวมจัดอยู่ในอันดับ 5 ในปีนี้ ซึ่งรักษาอันดับไว้เหมือนเดิมกับปีที่แล้ว เนื่องจากการยังคงรักษาอันดับ 10 ไว้เหมือนเดิมของปัจจัยความพร้อมในอนาคต และการเลื่อนอันดับขึ้นของปัจจัยความรู้ 4 อันดับ จัดอยู่ในอันดับ 2 ในปีนี้ ในขณะที่ปัจจัยเทคโนโลยีเลื่อนอันดับลง 1 อันดับ มีอันดับ 10 ในปีนี้ ปัจจัยย่อยที่มีผลต่อการยังคงรักษาอันดับเดิมไว้ได้ของปัจจัยความพร้อมในอนาคตคือ ทัศนคติที่ปรับตัวได้ และการรวมกันของเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่เลื่อนอันดับขึ้น 1 และ 9 อันดับ เป็นอันดับ 11 และ 7 ในปีนี้ ตามลำดับ ในขณะที่ปัจจัยย่อยความคล่องตัวทางธุรกิจเลื่อนอันดับลง 7 อันดับ มีอันดับ 14 ในปีนี้ ตัวชี้วัดที่มีผลมากต่อการเลื่อนอันดับขึ้นของปัจจัยย่อยทัศนคติที่ปรับตัวได้คือ การมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ เลื่อนอันดับขึ้นถึง 14 อันดับ จากอันดับ 51 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 37 ในปีนี้ ส่วนตัวชี้วัดหลักที่มีผลต่อการเลื่อนอันดับขึ้นของปัจจัยย่อยการรวมกันของเทคโนโลยีสารสนเทศได้แก่ รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ที่เลื่อนอันดับขึ้นถึง 12 อันดับ จากอันดับ 27 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 15 ในปีนี้ ในขณะที่ตัวชี้วัดทำให้เกิดการเลื่อนอันดับลงของปัจจัยย่อยความคล่องตัวทางธุรกิจคือ การใช้ big data และ analytics เลื่อนอันดับลง 5 อันดับ จัดอยู่ในอันดับ 29 ในปีนี้ การเลื่อนอันดับขึ้นของปัจจัยความรู้เกิดจากการยังคงรักษาอันดับ 2 และ 15 ไว้ได้อย่างเดิมของปัจจัยย่อยความสามารถพิเศษ และปัจจัยย่อยการฝึกอบรมและการศึกษา ตามลำดับ ถึงแม้ปัจจัยย่อยความเข้มข้นทางวิทยาศาสตร์จะเลื่อนอันดับลง 1 อันดับ มีอันดับ 7 ในปีนี้ ตัวชี้วัดที่มีผลต่อการยังคงรักษาอันดับไว้ได้เหมือนเดิมของปัจจัยย่อยความสามารถพิเศษคือ การยังคงรักษาอันดับเดิมไว้ได้ของตัวชี้วัดการประเมินนักเรียนนานาชาติขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) วิชาคณิตศาสตร์  ตัวชี้วัดประสบการณ์ระหว่างประเทศ ตัวชี้วัดบุคลากรที่มีทักษะสูงเรื่องต่างประเทศ ตัวชี้วัดการจัดการเมือง และตัวชี้วัดการไหลสุทธิของนักเรียนระหว่างประเทศ ตัวชี้วัดหลักที่มีผลต่อการยังคงรักษาอันดับเดิมได้ของปัจจัยย่อยการฝึกอบรมและการศึกษาได้แก่ ความสำเร็จของการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ปัจจัยเทคโนโลยีเลื่อนอันดับลงเนื่องจากการเลื่อนอันดับลงของปัจจัยย่อยเงินทุน และโครงสร้างเทคโนโลยีจากอันดับ 15 และ 8 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 16 และ 9 ในปีนี้ ตามลำดับ ตัวชี้วัดที่สำคัญทำให้เกิดการเลื่อนอันดับลงของปัจจัยย่อยโครงสร้างเทคโนโลยีได้แก่ ผู้บอกรับเป็นสมาชิกบรอดแบนด์ที่สามารถเคลื่อนที่ได้ และบรอดแบนด์ไร้สาย

ปีนี้ไทยได้อันดับ 40 ลดลงจากปีที่แล้ว 1 อันดับ ปีที่แล้วได้อันดับ 39 เนื่องจากการเลื่อนอันดับลงของปัจจัยความพร้อมในอนาคต 1 อันดับ จากปีที่แล้วมีอันดับ 49 เป็นอันดับ 50 ในปีนี้ ส่วนอีก 2 ปัจจัยคือ ความรู้ และเทคโนโลยี มีอันดับเลื่อนขึ้น 1 อันดับ จากอันดับ 44 และ 28 ในปีที่แล้ว เป็นอันดับ 43 และ 27 ในปีนี้ ตามลำดับ ดังนั้นประเทศยังคงต้องพัฒนาด้านความพร้อมในอนาคตและด้านความรู้เนื่องจากยังคงมีอันดับที่ต่ำมากในปีนี้ และทั้งสองปัจจัยเป็นเหตุดึงรั้งให้ไทยจัดอยู่ในอันดับ 40 ในปีนี้ ปัจจัยย่อยที่ต้องได้รับการพัฒนาอย่างมากซึ่งมีทั้งอันดับต่ำในปีนี้และมีการเลื่อนอันดับลงคือ การฝึกอบรมและการศึกษา อยู่ภายใต้ปัจจัยความรู้ และทัศนคติที่ปรับตัวได้ อยู่ภายใต้ปัจจัยความพร้อมในอนาคต เลื่อนอันดับลงจากอันดับ 44 และ 55 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 50 และ 58 ปีนี้ ตามลำดับ ทำให้ปัจจัยย่อยทัศนคติที่ปรับตัวได้มีอันดับต่ำสุดในบรรดาปัจจัยย่อยทั้งหมดในปีนี้  ตัวชี้วัดที่มีผลต่อปัจจัยย่อยการฝึกอบรมและการศึกษาคือ รายจ่ายของรัฐทั้งหมดในเรื่องการศึกษามีอันดับ 45 ในปีที่แล้ว ส่วนในปีนี้มีอันดับ 51 และตัวชี้วัดจำนวนเฉลี่ยของนักศึกษาต่ออาจารย์ในการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเลื่อนอันดับลงจากอันดับ 51 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 57 ในปีนี้ ส่วนตัวชี้วัดที่มีผลต่อปัจจัยย่อยทัศนคติที่ปรับตัวได้คือ การมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ การค้าปลีกทางอินเทอร์เน็ต และการเป็นเจ้าของแท็บเล็ต ที่เลื่อนอันดับลง 8, 3 และ 1 อันดับ จากอันดับ 48, 51 และ 58 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 56, 54 และ 59 ในปีนี้ ตามลำดับ ทำให้ตัวชี้วัดการเป็นเจ้าของแท็บเล็ตมีอันดับต่ำสุดในบรรดาตัวชี้วัดทั้งหมดในปีนี้ ถึงแม้ปัจจัยเทคโนโลยีมีอันดับเลื่อนขึ้นและจัดอยู่ในอันดับ 27 ในปีนี้ แต่มีตัวชี้วัดภายใต้ปัจจัยย่อยโครงสร้างเทคโนโลยีที่ต้องพัฒนาอย่างมากคือ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ยังคงรักษาอันดับ 54 ไว้เหมือนปีที่แล้ว ส่วนตัวชี้วัดที่ได้รับการพัฒนาขึ้นจากปีที่แล้วอย่างมากพบอยู่ในทั้ง 3 ปัจจัยได้แก่ 1. รายจ่ายทั้งหมดในการวิจัยและพัฒนาเลื่อนขึ้น 8 อันดับจากอันดับ 45 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 37 ในปีนี้ ตัวชี้วัดนี้อยู่ภายใต้ปัจจัยย่อยความเข้มข้นทางวิทยาศาสตร์ ปัจจัยความรู้  2. เทคโนโลยีการสื่อสารเลื่อนขึ้น 14 อันดับจากอันดับ 37 ในปีที่แล้วส่วนปีนี้ได้อันดับ 23 ตัวชี้วัดนี้อยู่ภายใต้ปัจจัยย่อยโครงสร้างเทคโนโลยี ปัจจัยเทคโนโลยี 3. ภายใต้ปัจจัยย่อยการรวมกันของเทคโนโลยีสารสนเทศ ปัจจัยความพร้อมในอนาคต ตัวชี้วัดความปลอดภัยทางไซเบอร์เลื่อนขึ้น 8 อันดับจากอันดับ 38 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 30 ในปีนี้ ในขณะที่ตัวชี้วัดที่มีอันดับที่ดีมากในปีนี้ได้แก่ 1. นักวิจัยผู้หญิงที่ยังคงครองอันดับที่ดีที่สุดในบรรดาตัวชี้วัดทั้งหมดโดยได้อันดับ 3 ในปีนี้ อยู่ภายใต้ปัจจัยย่อยความเข้มข้นทางวิทยาศาสตร์ ปัจจัยความรู้  2. ตัวชี้วัดผู้บอกรับเป็นสมาชิกบรอดแบนด์ที่สามารถเคลื่อนที่ได้มีอันดับ 4 ในปีนี้ ตัวชี้วัดนี้อยู่ภายใต้ปัจจัยย่อยโครงสร้างเทคโนโลยี ปัจจัยเทคโนโลยี  3. การบริการทางการเงินและธนาคารจัดอยู่ในอันดับ 7 ในปีนี้ อยู่ภายใต้ปัจจัยย่อยเงินทุน ปัจจัยเทคโนโลยี  4. ตัวชี้วัดการส่งออกสินค้าไฮเทคได้อันดับ 9 ในปีนี้ อยู่ภายใต้ปัจจัยย่อยโครงสร้างเทคโนโลยี ปัจจัยเทคโนโลยี  5. ตัวชี้วัดการกระจายทั่วโลกของหุ่นยนต์มีอันดับ 10 ในปีนี้ อยู่ภายใต้ปัจจัยย่อยความคล่องตัวทางธุรกิจ ปัจจัยความพร้อมในอนาคต

คงเป็นข่าวดีของสหรัฐอเมริกาที่ยังคงรักษาอันดับรวมที่อันดับ 1 ไว้ได้ แต่สำหรับไทยคงต้องหันมาสนใจพัฒนาหลายตัวชี้วัดดังที่กล่าวมาแล้วให้มาก เนื่องจากในปีนี้ไทยมีอันดับลดลง 1 อันดับเป็นอันดับ 40 ซึ่งเป็นอันดับที่ค่อนไปทางไม่ดี เพื่อให้ในปีหน้าไทยจะมีอันดับเลื่อนขึ้นมาก

8 พ.ย. 2562
0
แชร์หน้านี้: