หน้าแรก คลังความรู้ คลังความรู้ นานาสาระน่ารู้ วารสารข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากกรุงบรัสเซลส์ ฉบับที่ 10 เดือน ตุลาคม 2562
วารสารข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากกรุงบรัสเซลส์ ฉบับที่ 10 เดือน ตุลาคม 2562
5 มี.ค. 2563
0
นานาสาระน่ารู้

วารสารข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากกรุงบรัสเซลส์ ฉบับที่ 10 เดือน ตุลาคม 2562

การประชุมทีมประเทศไทยเพื่อติดตามสถานะความก้าวหน้าของสหราชอาณาจักร ประจำปี 2562

การประชุมทีมประเทศไทย ในสหราชอาณาจักร (เต็มคณะ) ประจำปี 2562 ระหว่างวันที่ 17-19 สิงหาคม 2562 ที่เมืองแมนเชสเตอร์ ซึ่งจัดโดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน โดยมีข้อหารือต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นการหารือถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการที่สหรราชอาณาจักรถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) นอกจากนี้ยังได้เข้าพบปะผู้บริหารท่าอากาศยานแมนเชสเตอร์เพื่อรับฟังความการบรรยายถึงความก้าวหน้าและแผนการพัฒนาท่าอากาศยานแมนเชสเตอร์ ตลอดจนการหารือถึงโอกาสทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทย และสหราชอาณาจักร โดยใช้เมืองแมนเชสเตอร์เป็นฐานทางเหนือของสหราชอาณาจักร และได้เยี่ยมชมศูนย์หัตถกรรมและการออกแบบแมนเชสเตอร์ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้สำหรับการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าฝีมือพื้นเมืองของประเทศไทยได้

ความสำคัญด้านวทน. ของเมืองแมนเชสเตอร์

การปฏิวัติในทางอุตสาหกรรมของสหราชอาณาจักรและของโลกเกิดขึ้นครั้งแรกที่เมืองแมนเชสเตอร์ทำให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมแห่งแรกของโลก และทำให้แมนเชสเตอร์เป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมสิ่งทอในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่มีการคิดค้นและนำเทคโนโลยีเครื่องจักรมาใช้ในอุตสาหกรรม เมืองแมนเชสเตอร์ยังมีความสำคัญและมีความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม และการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญของโลก เริ่มตั้งแต่การค้นพบอะตอมของนักวิทยาศาสตร์ในเมืองนี้ และล่าสุดคือการค้นพบกราฟีนซึ่งเป็นวัสดุที่ประกอบด้วยอะตอมคาร์บอนเป็นโครงสร้างตาข่ายหกเหลี่ยมคล้ายรังผึ้งโดย 2 นักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลจากการค้รพบกราฟีนซึ่งเป็นวัสดุมหัศจรรย์ เนื่องจากมีความแข็งแกร่งทนทานมากกว่าแหล็กกล้าหลายร้อยเท่ามีความยึดหยุ่นสูง สามารถนำไฟฟ้าได้ดีกว่าทองแดงหลายเท่า อีกทั้งยังมีน้ำหนักเบา ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานเป็นวัสดุในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้อย่างกว้างขวางในอนาคต

การศึกษาดูงาน ณ Manchester Craft and Design Centre (MCDC)

Manchester Craft and Design Centre (MCDC) ก่อตั้งขึ้นโดยความริเริ่มของ Manchester City Council เมื่อปี 2516 ซึ่งเดิมใช้ชื่อว่า Manchester Craft Village เพื่อส่งเสริมการรวมตัวของช่างฝีมือในลักษณะสหกรณ์ โดยพัฒนาตลาดปลาที่ถูกทิ้งร้าง ซึ่งสภาเมืองให้ช่างฝีมือเช่าพื้นที่ในราคาถูกเพื่อดำเนินการประชุมเชิงปฏิบัติการ และจำหน่ายสินค้า มีทีมบริหารที่มีหัวคิดก้าวหน้าโดยจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายตามโอกาสและเทศกาลต่างๆ  ในปี 2544 Manchester Craft Village เปลี่ยนชื่อเป็น Manchester Craft and Design Centre และปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานจากสหกรณ์มาเป็นบริษัทจำกัดที่ไม่แสวงหาผลกำไร นอกจากนี้บริษัทได้จัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งของ MCDC เพื่อให้บุคคลภายนอกสามารถเช่าเพื่อจัดกิจกรรมเกี่ยวกับงานหัตถศิลป์ต่างๆ อีกด้วย ในปี 2556 MCDC ได้เริ่มการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ซึ่งช่วยให้ช่างฝีมือมีพื้นที่ตลาดจำหน่ายสินค้าและสามารถผลิตงานฝีมือที่เป็นเอกลักษณ์

การศึกษาดูงาน ณ ท่าอากาศยานแมนเชสเตอร์

Manchester Airport Group (MAG) เป็นบริษัทที่บริหารท่าอากาศยานแมนเชสเตอร์ ซึ่งดูแลท่าอากาศยานอีก 2 แห่ง ได้แก่ London Stansted Airport ชานกรุงลอนดอน และ East Midlands Airport เมืองดาร์บี้ ท่าอากาศยานแมนเชสเตอร์มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 รองจากท่าอากาศยานฮีทโรว์และท่าอากาศยานแกตวิค ชานกรุงลอนดอน ให้บริการผู้โดยสารประมาณ 29 ล้านคนต่อปี มีเที่ยวบินไปยังเมืองต่างๆ 234 แห่ง ในขณะที่ท่าอากาศยานฮีทโรว์มีเที่ยวบินไปยังเมืองต่างๆ 232 แห่ง โดยเมืองแมนเชสเตอร์มีโครงข่ายการคมนาคมที่เชื่อมโยงกับเมืองอื่นๆ ทั่วสหราชอาณาจักร จึงนับว่าอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้โดยสาร ทั้งกลุ่มธุรกิจ นักศึกษา ประชาชนทั่วไปในแถบ Midlands ซึ่งสามารถเชื่อมไปถึงสกอตแลนด์และตอนเหนือของเขตปกครองเวลส์ด้วย

ความสำคัญด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของเมืองแมนเชสเตอร์

แมนเชสเตอร์ได้ถูกกำหนดให้เป็นศูนย์กลางและเขตเศรษฐกิจทางภาคเหนือของประเทศ (Northern Powerhouse) ที่มีความสำคัญและเป็นตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ตามวิสัยทัศน์ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร และยุทธศาสตร์ Northern Powerhouse Strategy 2016 โดยใช้จุดแข็งด้านอุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิมและ สนับสนุนการพัฒนาโครงข่ายด้านคมนาคมเพื่อเชื่อมโยงกับส่วนอื่นๆ ของประเทศ และต่างประเทศ เมืองแมนเชสเตอร์เป็นที่ตั้งของบริษัทข้ามชาติหลายแห่ง และมีท่าอากาศยานนานาชาติ

สถานะด้าน วทน. ของสหราชอาณาจักร

สาขาที่สหราชอาณาจักรมีความเชี่ยวชาญประกอบด้วย การแพทย์ เภสัชศาสตร์และสุขภาพ อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ นาโนเทคโนโลยี พลังงานหมุนเวียน เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ สภาวิจัยแห่งราชอาณาจักร (Research Councils UK, RCUK) ได้เสนอ 8 เทคโนโลยีแห่งชาติที่จะใช้ในการขับเคลื่อนให้สหราชอาณาจักรเติบโตและพัฒนาขึ้นเป็นผู้นำของโลก ประกอบด้วย วัสดุขั้นสูง (Advanced materials) วิทยาศาสตร์การเกษตร (Agri-science) การจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) เทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน (Energy storage) เวชศาสตร์การฟื้นฟูสภาวะเสื่อม (Regenerative medicine) ระบบหุ่นยนต์และอัตโนมัติ (Robotics and autonomous systems) เทคโนโลยีดาวเทียมและการประยุกต์ เทคโนโลยีอวกาศไปใช้เชิงพาณิชย์ (Satellites and commercial applications of space) และ ชีวสังเคราะห์ (Synthetic biology) สำหรับอุตสาหกรรมที่สหราชอาณาจักรมีความเชี่ยวชาญ คือด้านอากาศยานและระบบการบินอัตโนมัติ

สถานะทางระบบอุดมศึกษาของสหราชอาณาจักร

ในปัจจุบันมหาวิทยาลียหลายแห่งในสหราชอาณาจักรเริ่มจัดตั้งส่วนที่บริหารงานแบบภาคเอกชนโดยมีห้องปฏิบัติการ ห้องประชุม และพื้นที่สำนักงานให้เช่า โดยอนุญาตให้ผู้เช่าสามารถใช้เครื่องมือและอุปกรณ์จากห้องปฏิบัติการได้ เพื่อส่งเสริมการทำวิจัยและพัฒนา รวมทั้งสร้างรายได้เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนหลังจากที่สหราชอาณาจักรจะได้รับเงินทุนสนับสนุนการวิจัยน้อยลง เพราะสหราชอาณาจักรจะไม่มีสิทธิในกองทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมของสหภาพยุโรปหลังจาก Brexit ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัย Imperial College มีการจัดตั้ง Imperial White City Incubator เพื่อส่งเสริมการต่อยอดเชิงพาณิชย์ของงานวิจัย ในขณะที่มหาวิทยาลัย Newcastle ได้จัดตั้งแพลตฟอร์ม Newcastle Helix ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อหลายๆ ภาคส่วน ทั้งภาคการศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เข้ามาทำงานร่วมกันในการรังสรรค์นวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งการดำเนินงานในลักษณะนี้จะเป็นประโยชน์กับนักศึกษาไทยในระดับชั้นปริญญาเอกที่กำลังศึกษาในสหราชอาณาจักร ที่จะได้มีโอกาสร่วมทำวิจัยกับมหาวิทยาลัยและบริษัทเอกชนที่สามารถนำผลงานไปประยุกต์ใช้ได้จริง

โครงการ Human Brain Project

เป็นหนึ่งในโครงการเรือธงของสหภาพยุโรป ที่จะนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มาบูรณาการใช้ร่วมกับศาสตร์ด้านประสาทด้านวิทยาศาสตร์และประสาทวิทยา เพื่อให้เข้าใจถึงการทำงานของสมองมนุษย์และการทำงานของเทคโนโลยีในสาขาวิชานี้ได้ดียิ่งขึ้น ก่อให้เกิดการสร้างประโยชน์ซึ่งกันและกันระหว่าง 2 สาขาวิชา อย่างแรกคือ การใช้วิทยาการขั้นสูงด้านสารสนเทศและการสื่อสารในงานประสาทวิทยาศาสตร์ เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับสมองและโรคที่เกี่ยวข้องกับสมองได้ดียิ่งขึ้น สองคือการนำองค์ความรู้ด้านชีววิทยามาพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการ
สื่อสาร

ผลงานจากโครงการ Human Brain Project

โครงการ Human Brain Project ได่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาอิวีการประยุกต์ใช้เทคโนลีด้านประสาทวิทยาศาสตร์ ตัวอย่างคือ การทำแบบจำลองสมองที่เฉพาะเจาะจงกับแต่ละบุคคลเพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุงการผ่าตัดคนไข้โรคลมชัก (Epilepsy) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลางซึ่งทำหน้าที่ในการควบคุมการทำงานของร่างกาย จำทำให้เกิดอาการชัก โดยมีแผนจะทดสอบเทคโนโลยีนี้ทางคลินิกกับผู้ป่วยจำนวน 400 ราย อีกหนึ่งผลงานคือการจัดทำแผนที่สามมิติของสมองมนุษย์ที่มีความละเอียดมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา โครงการ Human Brain Project ได้ศึกษาผ่านการทดลองในหนูและมนุษย์ ร่วมกับการใช้องค์ความรู้และทฤษฎีด้านประสาทวิทยาศาสตร์ ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งแพลตฟอร์มที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีใน 6 สาขาด้วยกันคือ ประสาทสารสนเทศ การวิเคราะห์และคำนวณประสิทธิภาพสูง ระบบประมวลผลโดยใช้แนวคิดเลียนแบบสมอง หุ่นยนต์ประมวลสัญญาณประสาท และสารสนเทศการแพทย์

การวิจัยและพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ในยุคของอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง

การพัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์อย่างรวดเร็วประกอบกับศักยภาพในการจัดการกับข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการเรียนรู้เชิงลึก (Deep learning) ของปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งการเรียนรู้เชิงลึกนำมาซึ่งข้อสงสัยที่ว่า ระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ทันสมัยจะสอดคล้องกับกฎระเบียบใหม่ของสหภาพยุโรปว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลหรือไม่ ปัจจุบันการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์เป็นไปอย่างรวดเร็ว สิ่งสำคัญในการพัฒนาเข้าสู่ยุคดิจิทัล คือการเข้าถึงบุคคลากรที่ความสามารถเป็นเลิศ และทุนวิจัยก็เป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการสรรสร้างนวัตกรรมเปลี่ยนโลก โดยการทำงานร่วมกันระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน ปัจจัยสำคัญสำหรับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง และปัญญาประดิษฐ์ คือจะต้องมีงบประมาณสนับสนุนเพียงพอในการผลักดันผลงานวิจัยไปใช้ในเชิงพาณิชย์เพื่อออกสู่ตลาด แต่หนึ่งความท้าทายหลักในการถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นสูงจากมหาวิทยาลัยไปยังภาคอุตสาหกรรมในยุโรป คือการขาดความสัมพันธ์ระหว่างผู้คิดค้นนวัตกรรมกับนักลงทุน โดยสภานวัตกรรมยุโรป (European Innovation Council, EIC) สามารถช่วยกระตุ้นให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างสองภาคส่วนนี้ได้ เพื่อที่จะให้กระบวนการนำงานวิจัยไปใช้ในเชิงพาณิชย์ดำเนินได้สะดวกยิ่งขึ้น


การพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์


ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านปัญญาประดิษฐ์เกิดขึ้นมากมาย เช่น รถยนต์ที่ขับเคลื่อนโดยไร้คนขับ เครื่องแปลภาษา จนไปถึงการวินิจฉัยตรวจหาโรคมะเร็ง และการวิเคราะห์ระบบการจัดซื้อ โดยนักวิศวกรด้านปัญญาประดิษฐ์ต่างก็มีการพัฒนาความสามารถที่สูงขึ้นจนสามารถออกแบบวิธีแก้ไขปัญหาได้อย่างเฉพาะเจาะจง ซึ่งวิวัฒนาการของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์นั้นถูกขับเคลื่อนโดยปัจจัยหลัก
3 ประการดังนี้ การเข้าถึงข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) ฮาร์ดแวร์ที่มีการประมวลผลด้วยความเร็วสูง (fast hardware) และอัลกอริทึมของการเรียนรู้เชิงลึก (deep learning) ที่ทันสมัย
Artificial General Intelligence (AGI) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ทั่วไปเป็นวิวัฒนาการขั้นต่อไปของปัญญาประดิษฐ์โดย AGI เป็นระบบเครื่องจักรฉลาดที่สามารถทำงานได้อย่างชาญฉลาดเทียบเท่ามนุษย์ มีความคิดอ่าน วิเคราะห์ข้อมูลและสามารถตอบโต้กับมนุษย์ทั่วไปได้ แต่ไม่สามารถมีอารมณ์และความรู้สึกในด้านละเอียดอ่อนอย่างที่คนทั่วไปมีได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนักวิทยาศาสตร์ยังอยู่ห่างจากการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ไปสู่ AGI อย่างมาก เนื่องจากยังไม่เข้าใจระบบสมองหรือการคิดของมนุษย์อย่างแท้จริง โดยเฉพาะการอธิบายการใช้วิจารณญาณหรืออารมณ์ที่แตกต่างกันไปใน
แต่ละบุคคล


ตัวอย่างเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์


การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่สำคัญ คือรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ
(self-driving car) ซึ่งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะถูกนำมาใช้ในการคาดคะเนถึงเหตุการณ์ในอนาคต ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ เพื่อจะหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สามารถคาดคะเนถึงการเคลื่อนที่ของคนที่เดินอยู่บนถนน ดังนั้นรถยนต์สามารถควบคุมทิศทางไม่ให้ไปชนกับคนเหล่านั้นได้  นอกจากนี้นักวิจัยยังสามารถพัฒนาอัลกอริทึม ซึ่งจะใช้ภาพที่ถ่ายจากกล้องถ่ายรูปมาซึ่งเป็นภาพ 2 มิติมาสร้างเป็นแผนที่ 3 มิติ ณ สถานที่นั้นแบบ real time และด้วยเทคโนโลยีแบบเดียวกันนี้ ก็สามารถนำไปใช้ในแวดวงกีฬา โดยใช้สร้างภาพ 3 มิติของการเคลื่อนไหวของนักกีฬาเพื่อวิเคราะห์หาจุดเด่น จุดด้อย เทคโนโลยีถัดไป คือการระบุตำแหน่งพร้อมกับการสร้างแผนที่ (Simultaneous Localization and Mapping, SLAM) เป็นกระบวนการที่หุ่นยนต์จะสร้างแผนที่ของสภาพแวดล้อมในขณะที่กำลังเคลื่อนที่ และระบุตำแหน่งของตัวเองในเวลาพร้อมๆ กัน โดยที่หุ่นยนต์นั้นไม่มีข้อมูลของสิ่งแวดล้อมมาก่อน ซึ่ง SLAM นั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับหุ่นยนต์ที่ต้องการการโต้ตอบแบบทันการณ์ ซึ่งนำไปพัฒนาเป็นหุ่นยนต์เคลื่อนที่แบบไร้คนควบคุมที่สามารถทำหน้าที่นำทางโดยใช้คอมพิวเตอร์วิทัศน์


โครงการทุนการศึกษาของสหภาพยุโรป “อีราสมุส พลัส”


เป็นโครงการที่ให้ทุกการศึกษาสำหรับนักศึกษาและนักวิชาการจากประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกสหภาพยุโรป รวมถึงประเทศไทย โดยทุนที่มอบให้นั้นเป็นทุนเต็มจำนวนครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดตั้งแต่ค่าเดินทางไปจนถึงค่าที่พักและอาหาร ตลอดจนค่าเล่าเรียน และประกันต่างๆ และเป็นทุนให้เปล่าโดยไม่มีข้อผูกมัดใดๆ โดยจุดมุ่งหมายของโครงการ คือ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และการศึกษาระหว่างประเทศ สร้างสัมพันธไมตรี และเปิดโอกาสให้นักศึกษาต่างประเทศได้มาศึกษาในสหภาพยุโรป และยังเปิดโอกาสในการเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมอันหลากหลายของยุโรปอีกด้วย


ประเภททุนการศึกษา


โครงการทุนการศึกษาของสหภาพยุโรป อีราสมุส พลัส สามารถแบ่งประเภทของทุนได้เป็น
3 ประเภทหลักๆ ดังนี้
ทุนการศึกษาสำหรับหลักสูตรปริญญาโทร่วม
ทุนแลกเปลี่ยนสำหรับศึกษาต่อ ทำวิจัย หรือ สอน
ทุนส่งเสริมความร่วมมือด้านนโยบาย

  ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://waa.inter.nstda.or.th/stks/pub/2020/20200225-newsletter-brussels-no10-oct62.pdf

5 มี.ค. 2563
0
แชร์หน้านี้: