คำแนะนำแนวทางการออกแบบห้องสมุดสำหรับ Social distancing ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) โดย รศ.ดร. สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรม ม.เกษตรศาสตร์ และ ผศ.นพ. อนุแสง จิตสมเกษม รองคณบดี คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ม.นวมินทราธิราช ในการเสวนาออนไลน์ เรื่อง ความท้าทายในการออกแบบห้องสมุดสำหรับ Social distancing เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2563 จัดโดยสำนักหอสมุด ม.เกษตรศาสตร์
การแพร่ระบาดของ COVID-19 สร้างความท้าทายให้แก่ห้องสมุดในการบริหารจัดการในหลากหลายด้าน เช่น พื้นที่ทำงาน พื้นที่ให้บริการ รูปแบบและช่องทางในการให้บริการ และทรัพยากรสารสนเทศที่ให้บริการ ที่สำคัญคือมีความไม่แน่นอนและความไม่รู้ที่แน่ชัดเกี่ยวกับ COVID-19 เนื่องจากการเกิดขึ้นและการพัฒนาตัวเองของไวรัส ยิ่งเพิ่มความท้าทายอีกเท่าตัว
รศ.ดร. สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรม ม.เกษตรศาสตร์ แนะนำว่าการออกแบบสามารถแบ่งมี 2 แนวคิดหลัก คือ
- Design for isolation คือ การออกแบบเพื่อแยกคนออกจากกัน เช่น การออกแบบเพื่อแยกผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อออกจากผู้ป่วยคนอื่นๆ หรือคนปกติคนอื่นๆ ซึ่งการออกแบบนี้มักใช้และพบในสถานพยาบาล
- Design for distancing คือ การออกแบบเพื่อให้คนอยู่ห่างกัน ซึ่งการนำแนวคิดนี้มาใช้ในอาคารทั่วไปรวมถึงห้องสมุดพบว่าติดปัญหาเรื่องการใช้ระบบแอร์หรือเครื่องปรับอากาศแบบรวม เนื่องจาก COVID-19 มักติดต่อและแพร่กระจายในพื้นที่แคบ ดังนั้นการใช้ระบบแอร์หรือเครื่องปรับอากาศแบบรวมเป็นอุปสรรคต่อการถ่ายเทอากาศและสนับสนุนการหมุนเวียนของละอองไวรัสในพื้นที่ ตัวอย่างที่คุ้นเคยกันคือเมื่อมีเพื่อนพนักงานป่วยเป็นหวัด 1 คน แล้วเพื่อนคนอื่นๆ ในชั้นหรือในห้องนั้นก็ติดหวัดกันไปด้วย ส่วนหนึ่งที่สำคัญคือปัญหาการระบายและถ่ายเทอากาศภายในพื้นที่นั้นๆ ดังนั้นสิ่งสำคัญสำหรับห้องสมุด คือ การออกแบบพื้นที่ให้อากาศสามารถถ่ายเทและระบายได้สะดวกและรวดเร็วมากที่สุด จากประตูหรือหน้าต่างด้านหนึ่ง ออกสู่ประตูหรือหน้าต่างอีกด้านหนึ่ง ดังเช่นการออกแบบบ้านเรือนไทยในสมัยโบราณที่ไม่มีแอร์หรือเครื่องปรับอากาศแต่อาศัยการมีหน้าต่างบ้านด้านซ้ายและด้านขวาในทางตรงข้ามกัน เพื่อเปิดรับและระบายออกของอากาศ
ทั้งนี้ ศ.นพ. อนุแสง จิตสมเกษม รองคณบดี คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ม.นวมินทราธิราช และ รศ.ดร. สิงห์ อินทรชูโต ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินการของห้องสมุดเพื่อลดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้แก่
- สวมหน้ากากทุกคน จากการศึกษาวิจัยพบว่าหน้ากากที่สามารถป้องกัน COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด คือ หน้ากากอนามัย N95 รองลงมาคือ หน้ากากอนามัย และหน้ากากผ้า
- ตรวจคัดกรองอุณหภูมิของทุกคนก่อนเข้าพื้นที่ห้องสมุด (ยังมีประเด็นเรื่องความเที่ยงตรงและแม่นยำของเครื่องวัดอุณหภูมิ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการคาลิเบรท (Calibration) หรือการสอบเทียบเครื่องมือวัด)
- จัดให้มีอ่างล้างมือหรือเจลแอลกอฮอล์ 70% ณ จุดทางเข้า-ออกห้องสมุด รวมถึงจุดอื่นๆ ที่สามารถทำได้ภายในอาคาร
- จัดให้มีการบันทึกชื่อ เบอร์โทร วันเวลาของผู้มาใช้บริการทุกคนเพื่อให้สามารถติดตามตัวได้กรณีต้องมีการสอบสวนโรค เช่น แอปพลิเคชันไทยชนะ
- ไม่ควรให้ผู้ที่มีอาการไข้ ไอ และมีน้ำมูกเข้าห้องสมุด เพื่อป้องกันการแพร่กระจาย COVID-19
- หมั่นล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ 70% หรือ สบู่กับน้ำเปล่าแล้วเช็ดมือให้แห้ง
- เว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร
- การใช้สารทำความสะอาด คือ แอลกอฮอล์ 70% ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ หรือน้ำยาฟอกขาว ทำความสะอาดพื้นที่และอุปกรณ์ต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ เช่น พื้น ทางเดิน ราวบันได ลูกบิดจับประตู เคาท์เตอร์ โต๊ะ เก้าอี้ คอมพิวเตอร์
- เปิดประตูหรือหน้าต่างเพื่อให้อากาศสามารถถ่ายเทได้สะดวก
- พักหนังสือหรือสื่ออื่นๆ ที่ได้รับคืนก่อนออกให้บริการอีกครั้ง โดย COVID-19 สามารถตรวจพบบนกระดาษแข็ง 1 วัน และบนพลาสติก 2-3 วัน ดังนั้นจึงควรพิจารณาระยะเวลาการพักให้สัมพันธ์กับระยะเวลาของไวรัสที่สามารถอยู่บนพื้นผิว
- ไม่แนะนำให้เจ้าหน้าที่ห้องสมุดสวมถุงมือ เพราะอาจไปสัมผัสสิ่งต่างๆ ทำให้เกิดการแพร่กระจายของ COVID-19 แต่แนะนำให้หมั่นล้างมือ
- พิจารณาความเป็นไปได้ในการแยกพื้นที่ชั้นหนังสือกับพื้นที่นั่งอ่านของผู้ใช้บริการ
- พิจารณาการจัดสัดส่วนจำนวนคนกับพื้นที่ เช่น 1 คน ต่อ 4 ตารางเมตร
- มีมาตราการการจัดการขยะปนเปื้อนเพื่อความปลอดภัยของทุกคนโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ต้องจัดเก็บขยะ
ส่วนการใช้ UVC นั้น พบว่าจะทำงานได้ผลเมื่อแสงสัมผัสกับอากาศอย่างน้อย 20 นาที หากไม่สามารถค้างอากาศให้โดนแสงสัมผัสได้ และแสงไม่สัมผัสหรือกระทบผิววัสดุ ก็ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสอย่างได้ผล อีกทั้ง UVC มีผลกระทบต่อร่างกายของมนุษย์ที่สัมผัส คือ กระจกตาอักเสบ ผิวหนังอักเสบ และเป็นสาเหตุมะเร็งผิวหนัง รวมถึงการใช้ UVC ซ้ำๆ ในพื้นที่เดิมก็จะทำลายพื้นผิววัสดุในพื้นที่นั้นๆ ได้ ดังนั้นเครื่อง UVC ควรเป็นอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีเสริม (Supplementary technology) มากกว่า
เนื่องจาก COVID-19 เป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคน นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ต่างเร่งศึกษาที่มาและแนวทางการป้องกัน ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ดีที่สุดในขณะนี้สำหรับทุกคนบนฐานของความไม่แน่นอนและความไม่รู้ที่ชัดเจน คือ การหมั่นติดต่อข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่องและการปฏิบัติตามหน่วยงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแนะนำ