หน้าแรก คลังความรู้ คลังความรู้ นานาสาระน่ารู้ วิธีฆ่าเชื้อโรคในคอลเลกชันของห้องสมุดช่วงการระบาดใหญ่ของ COVID-19
วิธีฆ่าเชื้อโรคในคอลเลกชันของห้องสมุดช่วงการระบาดใหญ่ของ COVID-19
26 พ.ค. 2563
0
นานาสาระน่ารู้

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก นับเป็นความท้าทายใหญ่ของห้องสมุด ห้องสมุดหลายแห่งต้องปรับเปลี่ยนตนเองอย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น การประกาศปิดให้บริการพื้นที่ทางกายภาพ การขยายทรัพยากรสารสนเทศให้อยู่ในรูปแบบออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เช่น หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ และ streaming media การขยายการเข้าถึงบริการและรูปแบบการบริการให้อยู่ในรูปแบบออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เช่น นโยบายการต่ออายุออนไลน์ และ บริการตอบคำถามและช่วยในการค้นคว้าแบบออนไลน์ ไปจนถึงการมีส่วนร่วมกับชุมชนเพื่อต่อสู้กับ COVID-19 เช่น การผลิตและการมอบหน้ากากผ้าแก่ชุมชน และ การใช้อุปกรณ์ makerspace เพื่อสร้างอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น 3D print face shield เพื่อมอบแก่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่ขาดแคลน อย่างไรก็ตาม มีห้องสมุดหน่วยงานอีกจำนวนหนึ่งที่ยังคงต้องเปิดให้บริการเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของกลุ่มผู้ใช้หลัก ดังนั้นหนึ่งในความท้าทายที่เกิดขึ้นคือ การทำอย่างไรให้แน่ใจว่าหนังสือหรือทรัพยากรสารสนเทศของห้องสมุดที่ให้บริการยืมหรือคืนปราศจากการปนเปื้อนของไวรัสและไม่เป็นสื่อของการแพร่ระบาดของ COVID-19

จากประเด็นที่ว่า การทำอย่างไรให้แน่ใจว่าหนังสือหรือทรัพยากรสารสนเทศของห้องสมุดที่ให้บริการยืมหรือคืนปราศจากการปนเปื้อนของไวรัสและไม่เป็นสื่อของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ดังน้ันในบทความนี้จึงขอนำเสนอเนื้อหาจากการทบทวนวรรณกรรมคือบทความออนไลน์ในต่างประเทศเกี่ยวกับแนวทางในการทำความสะอาดและการฆ่าเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนในหนังสือหรือทรัพยากรสารสนเทศของห้องสมุด เพื่อเป็นข้อมูลชวนศึกษา พิจารณาและทดสอบต่อไป

  • ข้อจำกัดของการศึกษาและข้อมูล

ข้อมูลการศึกษาและปฏิบัติงานที่ผ่านเกี่ยวกับการฆ่าเชื้อโรคบนพื้นผิวหนังสือหรือทรัพยากรสารสนเทศของห้องสมุด โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส มีจำนวนน้อย ไม่มีการศึกษาที่ตอบคำถามว่าโคโรนาไวรัสสามารถแพร่จากทรัพยากรสารสนเทศของห้องสมุดที่พบได้บ่อย เช่น กระดาษที่เคลือบและไม่เคลือบผิว หนังสือที่ปกหุ้มด้วยผ้า หรือหนังสือที่ปกหุ้มด้วยโพลีเอสเตอร์ (Ewen, 2020)

  • ความไม่ชัดเจนของระยะเวลาการมีชีวิตอยู่ของไวรัสบนพื้นผิววัสดุ

ข้อมูลผลการศึกษาที่แตกต่างกันเกี่ยวกับระยะเวลาการมีชีวิตอยู่ของโคโรนาไวรัส SARS-CoV-2 บนพื้นผิววัสดุ ซึ่งส่งผลต่อการกำหนดมาตราการที่เกี่ยวข้องในการลดการแพร่กระจายของไวรัส เช่น บทความชื่อเรื่อง Persistence of coronaviruses on inanimate surfaces and their inactivation with biocidal agents ใน Journal of Hospital Infection เดือน ก.พ. 2020 ระบุว่า โคโรนาไวรัส SARS-CoV-2 สามารถอยู่บนพื้นผิว เช่น โลหะ แก้วและพลาสติก 9 วัน บนกระดาษ 4-5 วัน ขณะที่ National Institutes of Health เดือน มี.ค. 2020 ระบุว่า โคโรนาไวรัส SARS-CoV-2 สามารถตรวจพบในละอองในอากาศได้ 3 ชั่วโมง บนทองแดง 4 ชั่วโมง บนกระดาษแข็ง 1 วัน และบนพลาสติกและสแตนเลส 2-3 วัน (Ewen, 2020) สอดคล้องกับข้อมูลจาก New England Journal of Medicine เดือน มี.ค. 2020 ระบุว่า โคโรนาไวรัส SARS-CoV-2 จะอยู่บนพื้นผิวกระดาษแข็ง 1 วัน และ บนพื้นผิวพลาสติก 3 วัน (Northeast Document Conservation Center, 2020)

  • หลีกเลี่ยงความเสียหายที่จะเกิดกับทรัพยากรสารสนเทศเนื่องจากการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อไวรัส

พนักงานห้องสมุดควรระวังการใช้น้ำยาทำความสะอาดหรือยาฆ่าเชื้อโรคในหนังสือและทรัพยากรสารสนเทศอื่นๆ ของห้องสมุดที่มีความเปราะบาง ความเข้าใจผิดที่พบบ่อยคือการฉีดหรือเช็ดด้านนอกของหนังสือและทรัพยากรสารสนเทศด้วยแอลกอฮอล์หรือสารฟอกขาว ความชื้นและความรุนแรงของผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อ และสารฟอกขาวทำให้กระดาษเสียหายได้ (Ewen, 2020 ; Northeast Document Conservation Center, 2020)

  • การใช้รังสียูวี (UV)

การใช้ UV เพื่อฆ่าเชื้อโรคไม่ถูกแนะนำ เพราะ UV อาจทำลายกระดาษหรือสื่อของห้องสมุด และความยากลำบากในการทำให้แน่ใจว่าหนังสือทุกหน้าได้รับ UV ซึ่งมันไม่ได้ผลเท่าการแยกหรือพักหนังสือไว้อย่างน้อย 14 วัน (Ewen, 2020 ; Tseng and Li, 2007) ทำนองเดียวกัน Northeast Document Conservation Center (2020) ไม่แนะนำให้ใช้ UV เพื่อฆ่าเชื้อโรค เพราะ UV ไม่เพียงแต่เป็นอันตรายต่อทรัพยากรสารสนเทศ แต่อ้างถึง American Institute for Conservation Health and Safety Committee ที่ระบุว่า ต้องใช้เวลา 40 นาที กับ UV ปริมาณสูงเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และสถานที่ที่ UV ส่องไม่ถึงก็ไม่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสได้

ในการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งศึกษาความสามารถของ UV ประเภท C หรือ UVC ในการฆ่าเชื้อไวรัสในอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลพบว่า ในขณะที่มีความเป็นไปได้ที่ UVC จะฆ่าไวรัส แต่มีตัวแปรที่สำคัญ คือ ปริมาณไวรัส รูปร่างและชนิดของทรัพยากรสารสนเทศที่ไวรัสปนเปื้อน กับปริมาณ UV (Gorvett, 2020) นอกจากนี้ยังไม่มีการวิจัยใดที่พิจารณาว่า UVC มีผลต่อ Covid-19 อย่างไร การศึกษาที่มีแสดงให้เห็นว่าสามารถใช้กับ coronaviruses อื่นๆ เช่น Sars

นอกจากนี้ UVC สามารถทำอันตรายต่อผิวหนังของมนุษย์ โดยอาจใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าจะถูก UVB เผา แต่ UVC ใช้เวลาไม่กี่วินาที ในการใช้ UVC ต้องมีอุปกรณ์และการฝึกอบรมพิเศษ องค์การอนามัยโลกก็ได้ออกคำเตือนอย่างรุนแรงต่อการใช้ UV เพื่อฆ่าเชื้อบนมือหรือส่วนอื่นๆ ของผิวมนุษย์ เมื่อเร็วๆ นี้นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบ UVC รูปแบบใหม่ คือ Far-UVC มีความยาวคลื่นสั้นกว่า UVC ปกติ มีแนวโน้มไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์แต่ยังสามารถทำลายไวรัสและแบคทีเรีย แต่ก็ยังมีประเด็นว่าไวรัสและแบคทีเรียบางชนิดมีขนาดเล็กกว่าที่แสงส่องถึง

  • เวลาเป็นยาฆ่าเชื้อที่ดีที่สุด

Northeast Document Conservation Center (NEDCC) อ้างอิงถึงข้อมูลจาก New England Journal of Medicine แนะนำให้พักหนังสือหรือสื่อของห้องสมุดไว้ 3 วัน (Northeast Document Conservation Center, 2020) ในทำนองเดียวกัน Jacob Nadal ซึ่งเป็น Director for preservation ของ Library of Congress (LC) เสนอว่า การพักเป็นแผนการที่ดีที่สุด (Ewen, 2020) โดย Fletcher Durant ซึ่งเป็น director of conservation and preservation ที่ the University of Florida George เสนอเวลาพักหนังสือหรือสื่ออย่างน้อย 1 วัน แต่ที่ดีที่สุดคือ 14 วัน (Ewen, 2020)

พนักงานห้องสมุดควรได้รับการแนะนำให้สวมถุงมือเมื่อเคลื่อนย้ายหนังสือหรือสื่อของห้องสมุดเข้าสู่การพักและถอดถุงมือนั้นออกทันทีหลังจากเสร็จงานเพื่อไม่ให้สัมผัสกับสิ่งอื่นๆ โดยไม่ตั้งใจ หลังจากนั้นควรล้างมือเป็นเวลา 20 วินาทีตามคำแนะนำของหน่วยงานด้านสาธารณสุข (Northeast Document Conservation Center, 2020)

อ้างอิง

26 พ.ค. 2563
0
แชร์หน้านี้: