หน้าแรก จดหมายข่าว สวทช. ปี 2 ฉ.8 – บทความ พระอัจฉริยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
จดหมายข่าว สวทช. ปี 2 ฉ.8 – บทความ พระอัจฉริยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
15 พ.ย. 2559
0
จดหมายข่าว สวทช. ย่อย
บทความ

alt

alt

 

พระอัจฉริยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

“…การพยายามศึกษาวิทยาการและเทคโนโลยีอันก้าวหน้าทุกสาขาจากทั่วโลก แล้วเลือกสรรส่วนที่สำคัญเป็นประโยชน์ นำมาปรับปรุงใช้ให้พอดีพอเหมาะกับสภาพและฐานะของประเทศของเรา เพื่อช่วยให้ประเทศของเราสามารถนำเทคโนโลยีอันทันสมัยมาใช้พัฒนางานต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่สิ้นเปลือง…”

พระบรมราโชวาท ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเปิดงาน
“พระจอมเกล้าลาดกระบังนิทรรศน์ ๒๖”
ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง วันพฤหัสบดีที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๒๖

alt

ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้นที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติทั้งบนบกและในทะเล ประชากรส่วนใหญ่จึงมีอาชีพทำการเกษตร ประมง แต่ปัญหาพื้นฐานหลักที่ต้องประสบอยู่เสมอ ก็คือเรื่องของภัยแล้ง บางปีน้ำท่วม น้ำทะเลรุกเข้าแหล่งน้ำจืด น้ำเสีย ดินเสื่อมโทรม ป่าไม้ถูกทำลาย จะเห็นได้ว่าตัวแปรที่เป็นปัจจัยหลักของอาชีพเกษตรกรรมก็คือ เรื่องของ ดิน น้ำ และป่าไม้ นั่นเอง

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงตระหนักถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดี จึงทรงต่อสู้เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลา 70 ปี ที่พระองค์ครองราชย์

ภาพข่าวทางโทรทัศน์ที่ประชาชนเห็นจนชินตานั่นก็คือ ภาพที่พระองค์เสด็จไปตามชนบท ถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศไทย ที่พระหัตถ์ทรงถือแผนที่ขนาดใหญ่พร้อมกับดินสอ เพื่อทรงศึกษาสภาพภูมิศาสตร์จากแผนที่กับสถานที่จริง และวางแผนในการแก้ไขปัญหาได้แม่นยำ ที่พระศอทรงคล้องกล้องถ่ายภาพ เพื่อบันทึกสภาพภูมิประเทศ และวิถีชีวิตราษฎร

กล่าวได้ว่า พระองค์ก็คือสถาปนิกนักออกแบบประเทศ เป็นวิศกรผู้วางรากฐานการก่อสร้างสิ่งต่างๆ เช่น ฝาย อ่างเก็บน้ำ เขื่อน สะพาน ถนน ฯลฯ เป็นนักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยี ในการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาสนับสนุนการแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น โดยผ่านโครงการในพระราชดำริต่างๆ มากมายนับพันโครงการ ทรงให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นในทุกภูมิภาค เพื่อเป็นสถานที่วิจัยและพัฒนา และเผยแพร่วิทยาการสู่ประชาชน

เรามาดูกันว่า พระอัจฉริยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของพระองค์ที่มีความโดดเด่นและเป็นที่ประจักษ์อย่างดีแก่พสกนิกรชาวไทยและประชาคมโลกนั้นมีอะไรบ้าง

 

โครงการ “ฝนหลวง” แก้ปัญหาภัยแล้ง

เมื่อ พ.ศ. 2498 เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเยี่ยมราษฎรที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทรงสังเกตเห็นท้องฟ้ามีเมฆมากแต่ฝนกลับตกน้อย ดังนั้น หากมีการนำเทคโนโลยีมาช่วยน่าจะทำให้เกิดฝนและช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งได้ จึงพระราชทานแนวพระราชดำริให้ ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล ศึกษาความเป็นไปได้ และใน พ.ศ. 2512 ปฏิบัติการทำฝนเทียมครั้งแรกก็ประสบความสำเร็จ แต่ยังไม่สมารถควบคุมบริเวณที่ต้องการให้ตกได้ จึงได้มีการศึกษาวิจัยต่อเนื่องมา และใน พ.ศ. 2514 ก็ประสบความสำเร็จ โดยสามารถทำให้ฝนตกในบริเวณที่ต้องการได้

ต่อมาเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงอำนวยการสาธิตฝนเทียมสูตรใหม่ครั้งแรกของโลกด้วยพระองค์เอง ณ เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งประสบผลสำเร็จด้วยดี สามารถทำให้ฝนตกลงตามเป้าหมายได้ ท่ามกลางสายตาคณะผู้แทนของรัฐบาลจากนานาประเทศเป็นครั้งแรก ซึ่งต่อมา คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2543 เห็นชอบให้วันที่ 19 ตุลาคมของทุกปีเป็น “วันเทคโนโลยีของไทย” และเทิดพระเกียรติพระองค์ทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย”

สำหรับหลักการสำคัญการทำฝนเทียม มี 3 ขั้นตอน ได้แก่ “ก่อกวน” เป็นการใช้สารเคมีกระตุ้นให้มวลอากาศลอยตัวขึ้น และทำให้เกิดกลุ่มแกนร่วมเป็นศูนย์กลางที่จะสร้างเมฆฝน ขั้นต่อมา “เลี้ยงให้อ้วน” เป็นการโปรยสารเคมีฝนหลวงเพื่อให้กลุ่มเมฆในระยะก่อตัวมีขนาดใหญ่ใกล้อิ่มตัวพร้อมจะตกเป็นฝน และขั้นตอนสุดท้ายคือ “โจมตี” โดยใช้สารเย็นจัดคือ น้ำแข็งแห้ง ร่วมไปกับซิลเวอร์ไอโอไดด์ เกลือแกง และยูเรีย เพื่อกวนสมดุลของเมฆ จนเกิดเป็นหยดน้ำที่มีขนาดใหญ่ และกลายเป็นเม็ดฝนตกลงมาในที่สุด

alt

โครงการ “แกล้งดิน” แก้ปัญหาดินเปรี้ยว

เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จเยี่ยมราษฎรที่จังหวัดนราธิวาส พบปัญหาดินบริเวณป่าพรุที่มน้ำขังตลอดปี เมื่อทำใหน้ำแห้ง ก็ยังเป็นดินเปรี้ยว หรือดินมีความเป็นกรด ธาตุอาหารต่ำ ปลูกพืชไม่ได้ผล จึงทรงแก้ปัญหาด้วยการ “แกล้งดินให้เปรี้ยว” คือทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันไปเพื่อเร่งปฏิกิริยาเคมีของดิน ทำให้ดินเป็นกรดจัด จากนั้นจึงควบคุมปริมาณน้ำใต้ดินเพื่อป้องกันการเกิดกรดกำมะถัน รวมทั้งใช้น้ำชะล้างความเป็นกรด หรือใช้ปูนมาร์ลหรือปูนฝุ่นที่เป็นด่าง ช่วยปรับสภาพให้ดินหายเปรี้ยว และมีความเหมาะสมที่ปลูกพืชได้

นอกจากโครงการแกล้งดินนี้แล้ว พระองค์ยังทรงให้ความสำคัญกับทรัพยากรดิน การพัฒนาและอนุรักษ์ดิน ตลอดระยะเวลาหลายสิบปี รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินสากล (International Union of Soil Science, IUSS) จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม (The Humanitarian Soil Scientist)” แด่พระองค์ และขอพระบรมราชานุญาตให้วันที่ 5 ธันวาคมซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระองค์เป็น “วันดินโลก”

alt

โครงการ “ปลูกหญ้าแฝก” เพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดิน

จากปัญหาการพังทลายของหน้าดิน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงแนะนำให้ปลูกหญ้าแฝกเพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์ดิน เช่น ให้ปลูกตามพื้นที่ลาดชันหรือบริเวณเขื่อน เพื่อป้องกันการกัดเซาะของหน้าดิน ช่วยปรับปรุงดินที่เสื่อมโทรม และยังใช้ปลูกป้องกันสารพิษปนเปื้อนลงแหล่งน้ำ ทั้งนี้เนื่องจากหญ้าแฝกเป็นพืชที่มีระบบรากที่ฝังลึกไปในดิน และแผ่กระจายออกเหมือนกำแพง จึงเหมาะสมจะนำมาใช้ปลูกเพื่อป้องกันการกัดเซาะและพังทลายของหน้าดินได้เป็นอย่างดี

สมาคมควบคุมการกัดเซาะผิวดินสากล (International Erosion Control Association, IECA) มีมติทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเกียรติคุณสากล (The International Erosion Control Association’s International Merit Award) แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงเป็นแบบอย่างในการนำหญ้าแฝกมาใช้อนุรักษ์ดินและน้ำ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2536

alt

โครงการ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” เครื่องกลเติมอากาศช่วยบำบัดน้ำเสีย 

จากการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสภาพน้ำเสียในพื้นที่หลายแห่งหลายครั้ง และใน พ.ศ. 2531 ได้พระราชทานพระราชดำริให้ประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศแบบประหยัดค่าใช้จ่าย สามารถผลิตได้เองในประเทศ โดยทรงได้แนวทางมาจาก “หลุก” ซึ่งเป็นอุปกรณ์วิดน้ำเข้านาอันเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นจุดคิดค้นเบื้องต้น และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาสนับสนุนงบประมาณ เพื่อการศึกษาและวิจัยสิ่งประดิษฐ์ใหม่นี้ โดยดำเนินการจัดสร้างเครื่องมือบำบัดน้ำเสียร่วมกับกรมชลประทาน ซึ่งได้มีการผลิตเครื่องกลเติมอากาศขึ้นในเวลาต่อมา และรู้จักกันแพร่หลายทั่วไประเทศในปัจจุบันคือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” เหมาะสำหรับใช้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ได้แก่ สระน้ำ หนองน้ำ คลอง บึง ลำห้วย ฯลฯ ที่มีความลึกมากกว่า 1.00 เมตร และมีความกว้างมากกว่า 3.00 เมตร

alt alt

โครงการ “แก้มลิง” แก้ไขและบรรเทาปัญหาน้ำท่วม

ปัญหาน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลซึ่งเป็นที่ลุ่ม มีสาเหตุมาจากน้ำที่มีปริมาณมหาศาลระบายลงทะเลไม่ทัน และน้ำทะเลหนุนสูง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระราชดำริแนวทางแก้ไข โดยหาพื้นที่รับน้ำมาเก็บกักไว้ก่อน จนเมื่อน้ำทะเลลดลงต่ำ จึงระบายน้ำที่กักเก็บไว้นี้ไปสู่ลำน้ำสาขาและออกสู่ทะเลต่อไป เป็นการบรรเทาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม

สาเหตุที่ได้ชื่อโครงการ “แก้มลิง” พระองค์มีพระราชดำรัสอธิบายโครงการนี้โดยเปรียบเทียบกับอาการกินกล้วยของลิงว่า

“…ลิงโดยทั่วไป ถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงก็จะรีบปอก แล้วเอาเข้าปากเคี้ยวๆ จากนั้นก็เอาไปไว้ที่แก้ม ลิงจะเอากล้วยเข้าไปไว้ที่กระพุ้งแก้มได้เกือบทั้งหวี โดยเอาไปเก็บไว้ในแก้มก่อน แล้วจึงนำมาเคี้ยวบริโภค และกลืนเข้าไปภายหลัง”

alt

โครงการ “ไบโอดีเซล” แก้ไขปัญหาด้านพลังงาน

จากปัญหาน้ำมันมีราคาแพง และมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งประเทศไทยก็ไม่มีแหล่งน้ำมันดิบดังเช่นกลุ่มประเทศโอเปค พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงริเริ่มการใช้พลังงานทดแทนผ่านโครงการส่วนพระองค์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2522 และโครงการหนึ่งในนั้นก็คือ การผลิตไบโอดีเซลจากปาล์มน้ำมัน

ขั้นตอนการผลิตคือ นำน้ำมันปาล์มมาผ่านกระบวนการทางเคมีที่เรียกว่า ทรานส์เอสเทอริฟิเคชัน (transesterifcation) โดยทำปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์ (ethanol หรือ methanol) โดยมีด่างเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา เช่น โซเดียมไฮดรอกไซด์ (NaOH) จะได้ผลิตผลเป็นเอสเทอร์ (ester) และผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้คือ กลีเซอรอล (glycerol) ซึ่งเราจะเรียกชนิดของไบโอดีเซลแบบเอสเทอร์นี้ตามชนิดของแอลกอฮอล์ที่ใช้ในการทำปฏิกิริยา ไบโอดีเซลชนิดเอสเทอร์นี้มีคุณสมบัติเหมือนกับน้ำมันดีเซลมากที่สุด เพราะไม่มีปัญหากับเครื่องยนต์

alt

โครงการ “สร้างฝายชะลอน้ำ” เพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่พื้นดินและผืนป่า

จากปัญหาลำธารน้ำเดิมแห้งเหือดหาย ผืนป่าแห้งแล้ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระราชดำริในการจัดทำฝายแม้ว ซึ่งเป็นฝายชะลอน้ำกึ่งถาวรประเภทหนึ่ง ประเภทเดียวกับฝายคอกหมู ซึ่งเป็นวิศวกรรมแบบพื้นบ้าน การสร้างฝายแม้วเป็นการใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่นกิ่งไม้ ก้อนหิน เพื่อกั้นชะลอน้ำในลำธารหรือทางน้ำเล็กๆ ให้ไหลช้าลง และขังอยู่ในพื้นที่นานพอเพื่อให้พื้นที่โดยรอบได้ดูดซึมน้ำไปใช้ เป็นการฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมให้เกิดความชุ่มชื้นจนพัฒนาการเป็นป่าสมบูรณ์ขึ้นได้ ฝายแม้วยังอาจใช้เพื่อการทดน้ำให้มีระดับสูงพอที่จะดึงน้ำไปใช้ในคลองส่งน้ำได้ในฤดูแล้ง โครงการตามแนวพระราชดำรินี้ได้มีการทดลองใช้ที่โครงการห้วยฮ่องไคร้ จ.เชียงใหม่ และประสบผลสำเร็จจนเป็นตัวอย่างให้กับโครงการอื่นๆ ต่อมา

โครงการ “เกษตรทฤษฎีใหม่” แก้ไขปัญหาการจัดการที่ดินและแหล่งน้ำ

เพื่อให้การใช้ที่ดินและแหล่งน้ำในการทำมาหากินและที่พักอาศัยอย่างมีประสิทธิภาพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานแนวทางการจัดการที่ดินและแหล่งน้ำตามการเกษตรทฤษฎีใหม่ที่เหมาะสมสำหรับครอบครัวเกษตรกรที่มีที่ดินถือครอง 10-15 ไร่ โดยแบ่งการจัดการพื้นที่เป็นอัตราส่วน 30 : 30 : 30 : 10 เพื่อใช้สำหรับทำเป็น สระเก็บน้ำ : ปลูกข้าว : ปลูกไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร ฯลฯ : ที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ โรงเรือน และอื่นๆ ตามลำดับ

การจัดการที่ดินและแหล่งน้ำตามการเกษตรทฤษฎีใหม่นี้ เป็นการเกื้อหนุนการดำรงชีวิตตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงได้ดียิ่ง ระบบนี้ยังช่วยลดของเสียที่จะออกสู่สิ่งแวดล้อมอีกด้วย

alt alt alt

พระอัจฉริยภาพทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ-การสื่อสาร
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีความสนพระทัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ-การสื่อสาร มาตั้งแต่ยุคแรกที่ประเทศไทยยังไม่ได้ติดตั้งคอมพิวเตอร์เลยแม้แต่เครื่องเดียว โดยใน พ.ศ. 2503 พระองค์เสด็จประพาสโรงงานคอมพิวเตอร์ระดับโลกที่ซิลิคอนวัลเลย์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา พระองค์ได้ทรงจุดประกายให้หน่วยงานและพสกนิกรชาวไทยมีความตื่นตัวในการนำเอาคอมพิวเตอร์มาใช้ในการทำงานมากขึ้น

ในวาระขึ้นปีใหม่ พระองค์ยังได้ใช้คอมพิวเตอร์ออกแบบบัตร ส.ค.ส. เพื่อพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทยเป็นเวลาหลายปีต่อเนื่องกัน ซึ่ง ส.ค.ส. พระราชทานนี้ นอกจากมีคำอวยพรปีใหม่แล้ว ก็ยังมีข้อความให้คิด เป็นคติสอนใจที่มีคุณค่าอย่างยิ่งอีกด้วย
ในปี พ.ศ. 2530 พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สำนักคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำโครงการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาพระไตรปิฎก และชุดอรรถกถา อีกทั้งพระองค์ยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อสนับสนุนโครงการจนเป็นผลสำเร็จด้วยดี โดยพระไตรปิฎก และชุดอรรถกถา จำนวน 115 เล่ม ได้ทำการบันทึกลงบนแผ่นซีดีรอมแผ่นเดียว แล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2539
alt

ในด้านวิทยุกระจายเสียง พระองค์ทรงสนพระทัยมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อประทับอยู่ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์ได้ทรงซื้ออุปกรณ์เครื่องรับวิทยุที่มีวางขายเลหลังราคาถูกมาประกอบเป็นเครื่องรับวิทยุชนิดแร่ สามารถรับฟังวิทยุกระจายเสียงในยุโรปได้หลายแห่ง

ในด้านวิทยุสื่อสาร พระองค์ทรงเห็นความสำคัญและนำมาใช้เพื่อประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ อยู่เสมอ ดังจะเห็นได้จากการที่พระองค์ทรงพกเครื่องมือสื่อสารติดพระองค์ตลอด เพราะสิ่งที่พระองค์ทรงขาดไม่ได้คือการสดับตรับฟังข่าวทุกข์สุขของประชาชนโดยจะรับสั่งผ่านทางวิทยุถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตำรวจตระเวนชายแดน ในการขอรับการสนับสนุนเรื่องการขนส่ง เช่น เฮลิคอปเตอร์ เพื่อนำผู้เจ็บป่วยส่งยังที่หมายปลายทางด้วยพระองค์เอง

นอกจากนี้พระองค์ก็ยังทรงเป็นสมาชิกเครือข่ายวิทยุสมัครเล่นด้วย รหัสของพระองค์คือ VR009 และยังทรงเคยพระราชทานคำแนะนำการแก้ปัญหาการใช้วิทยุในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ประสบปัญหาการรับส่งคลื่นสัญญาณไม่ชัดเจนให้แก่ทีมอาสากู้ภัยด้วย (ผู้อ่านสามารถชมคลิปภาพยนตร์สั้นและรับฟังพระสุรเสียงจริงของพระองค์ได้ที่เว็บ https://www.youtube.com/watch?v=0j83NhlKGns)

alt

พระอัจฉริยภาพทางด้านการคมนาคม

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระราชดำริแนวทางแก้ไขการจราจรทั้งในกรุงเทพฯและปริมณฑลไว้ในลักษณะโครงการจตุรทิศ คือ เป็นการก่อสร้างถนนจากแนวทิศเหนือไปยังทิศใต้ และทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก เพื่อให้การจราจรขยายตัวไปทุกทิศทาง โดยมีการสร้างถนนเชื่อมต่อเป็นโครงข่าย นอกจากนี้ยังมีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่ นั่นก็คือ สะพานพระราม ๘ และถนนวงแหวนอุตสาหกรรม ซึ่งได้ช่วยแก้ปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้เป็นอย่างมาก

เชื่อเหลือเกินว่า การที่พสกนิกรได้รับทราบพระราชกรณียกิจและพระจริยวัตรของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชโดยผ่านสื่อหรือช่องทางการสื่อสารต่างๆ ก็ดี คงจะรู้สึกที่ง และซาบซึ้งในพระปรีชาสามารถของพระองค์ยิ่งนัก พระองค์ทรงงานหนักตลอดการครองราชย์ 70 ปี ก็เพื่อให้พสกนิกรของพระองค์ได้อยู่เย็นเป็นสุข ดังนั้น จึงไม่แปลกใจเลยที่พระองค์จะสถิตอยู่ในดวงใจของประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ทุกคนจึงรักและเทิดทูนพระองค์อย่างที่สุด

จากการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กอง บ.ก.จดหมายข่าว สวทช. จึงขอถวายความอาลัยและเทิดพระเกียรติพระองค์ โดยร่วมเป็นส่วนหนึ่งเล็กๆ ของสังคมในการบันทึกพระอัจฉริยภาพของพระองค์ในด้านวิทยาสาสตร์และเทคโนโลยีผ่านบทความที่ได้นำเสนอนี้ แม้พระองค์จะจากไปแล้ว แต่พระราชดำรัสหรือพระบรมราโชวาทต่างๆ ของพระองค์ จะเป็นกำลังใจและเป็นแบบอย่างให้ประชาชนชาวไทยได้ดำเนินตามรอยเท้าพ่อต่อไป

แหล่งข้อมูลและภาพอ้างอิง
หนังสือ พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย จัดทำโดย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
หนังสือ พระมหากษัตริย์นักวิทยาศาสตร์ จัดทำโดย สภาสมาคมกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
http://img.tnews.co.th/tnews_1393928570_867.jpg
http://www.chaipat.or.th/site_content/19-248/18-chaipattana-water-turbine-development.html
http://www.biodiesel.eng.psu.ac.th/whatis.php
http://www.เรารักพระเจ้าอยู่หัว.com/
http://www.ncit.navy.mi.th/index.php/today/detail/content_id/3072
http://welovethaiking.com/wp-content/uploads/2015/04/dd62.jpg
https://th.wikipedia.org/

15 พ.ย. 2559
0
แชร์หน้านี้: