ภัยพิบัติทุกรูปแบบ ทุกสถานที่ทักจะสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้ประสบภัยเป็นวงกว้าง หลายพื้นที่ขาดการติดต่อสื่อสาร กระแสไฟฟ้าในพื้นที่ถูกตัดและดับเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ส่งผลให้การติดต่อสื่อสารขอรับความช่วยเหลือจากผู้ประสบภัยสู่บุคคล องค์กรต่างๆ เป็นไปได้อย่างลำบาก ก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนอาหารและยารักษาโรค เสี่ยงต่อการป่วยจากโรคภัยไข้เจ็บที่มากับน้ำท่วม
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หน่วยงานรัฐที่มีพันธกิจสำคัญในการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศที่เป็นผลิตผลจากการวิจัยและพัฒนาของ สวทช. เข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในพื้นที่ต่างๆ หวังเยียวยาผู้ประสบภัยได้คุณภาพชีวิตที่ดีกลับคืนมาในเร็ววัน
เนคเทคแนะวิธี “ชาร์จไฟโทรศัพท์ในยามฉุกเฉิน”
ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหลายๆ ครั้ง มักจะส่งผลให้กระแสไฟฟ้าในพื้นที่ประสบภัยถูกตัดและดับเป็นระยะเวลาอันยาวนาน การติดต่อสื่อสารเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากผู้ประสบภัยเป็นไปได้อย่างลำบาก ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค / สวทช. จึงแนะนำวิธีการสร้างเครื่องชาร์จไฟโทรศัพท์ในยามฉุกเฉินด้วยการนำแบตเตอรี่ 12 โวลท์จากรถยนต์มาประยุกต์ใช้สร้างเป็นเครื่องชาร์จไฟโทรศัพท์เพื่อให้สามารถติดต่อเพื่อขอความช่วยเหลือผ่านทางมือถือได้ โดยวิธีการเริ่มจากการเตรียมอุปกรณ์แบตเตอรี่ 12 โวลท์จากรถยนต์ อินเวอร์เตอร์แปลงแรงดันจาก 12 โวลท์ดีซี เป็น 220 โวลท์เอซี โดยขนาดของอินเวอร์เตอร์ในท้องตลาดมีตั้งแต่ขนาด 80 วัตต์ จนถึง 1000 วัตต์ซึ่งสายไฟสำหรับต่อกับแบตเตอรี่มักจะติดมากับอินเวอร์เตอร์อยู่แล้ว จากนั้นต่อพ่วงสายแบตเตอรี่สีแดงเข้าที่ขั้วบวก (+) และสายสีดำเข้าที่ขั้วลบ (-) ของทั้งฝั่งอินเวอร์เตอร์และแบตเตอรี่ เท่านั้นก็สามารถเสียบเครื่องชาร์จโทรศัพท์มือถือได้หลายเครื่องพร้อมๆ กันแล้ว แม้ว่าถ้าคำนวณประสิทธิภาพพลังงานจะพบว่าต่ำมาก แต่ในยามคับขันที่จำเป็นต้องใช้โทรศัพท์เพื่อการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกก็ถือว่ายอมรับได้ มีข้อควรคำนึงในการใช้งานคือ หากไม่ได้ใช้งานอย่าเสียบเครื่องชาร์ททิ้งไว้ เพราะแบตเตอรี่จะหมดไปโดยเปล่าประโยชน์ ทั้งนี้ องค์ความรู้ข้างต้น แม้ในสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วไปก็สามารถนำไปใประยุกต์ใช้งานได้ เช่น เวลาแบตหมดในพื้นที่ห่างไกลชุมชน ฉะนั้น ควรหาซื้ออุปกรณ์แปลงแรงดันอินเวอร์เตอร์สำหรับต่อพ่วงเตรียมไว้ใช้งานพร้อมติดในรถเสมอๆ
“รถสื่อสารฉุกเฉิน” เปิดช่องทางสื่อสารให้ผู้ประสบภัย
แม้ว่าเราสามารถใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้แล้วก็ตาม แต่ในยามเกิดเหตุภัยพิบัติต่างๆ นั้น จะพบว่ามีความยากลำบากในการสื่อสารเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นอย่างมาก เนื่องจากระบบสื่อสารล่ม การรายงานความเสียหาย ความต้องการในการติดต่อระหว่างพื้นที่ประสบภัยกับพื้นที่ภายนอกไม่สามารถทำได้ การสื่อสารเพื่อสอบถามทุกข์สุขจะเกิดขึ้นอย่างมากจนบ่อยครั้งทำให้ระบบสื่อสารหยุดทำงาน นอกจากนี้ คนจำนวนมากต้องติดต่อเพื่อร้องขอความช่วยเหลือและคนอีกจำนวนมากก็กำลังขอรับบริจาคและจัดหาความช่วยเหลือมายังพื้นที่อุบัติภัยเหล่านั้น ดังนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าวระบบสื่อสารต้องทำงานหนักขึ้นกว่าสิบเท่าตัวของการใช้งานตามปกติและบ่อยครั้งระบบสื่อสารที่มีอยู่ก็ล่มสลายหรือชำรุดไปกับการโจมตีของภัยเหล่านั้นอีก ด้วยต้องใช้เวลาหลายวัน จึงจะสามารถบริการประชาชนได้ หากระบบโทรศัพท์สามารถใช้งานได้ปกติ ก็อาจประสบปัญหาช่องสัญญาณโทรศัพท์มีไม่เพียงพอ เพราะความต้องการใช้งานโทรศัพท์ในยามฉุกเฉินสูงกว่าปกติเป็นอย่างมาก
เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นเครื่องมือสำคัญในการบรรเทาปัญหาเหล่านั้นได้ เนคเทค / สวทช. เห็นความจำเป็นของการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารเพื่อการใช้โทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง จึงได้ทำการออกแบบและพัฒนาระบบสื่อสารฉุกเฉินขึ้นมาภายใต้ชื่อว่า EECV (Emergency and Educational Communication Vehicle) หรือรถสื่อสารฉุกเฉินเพื่อสังคมไทย ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นให้มีความคล่องตัวในการเข้าถึงพื้นที่ประสบภัยหรือทุรกันดารได้อย่างรวดเร็ว โดยให้บริการระบบโทรศัพท์ผ่านดาวเทียมได้พร้อมกันถึง 25 คู่สาย อีกทั้งยังสามารถให้บริการอินเตอร์เน็ตด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์อีก 25 เครื่อง เสมือนการติดตั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่สาธารณะขนาดพกพา จำนวน 25 เครื่อง ที่ใช้งานได้ภายในหนึ่งชั่วโมงหลังจาก EECV เข้าประจำการ ทั้งนี้ การนำเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการสื่อสารและส่งผ่านข้อมูลแบบถาวรจะช่วยลดความจำเป็นของการใช้โทรศัพท์ลงอย่างมาก ระบบที่ว่านี้ได้แก่ ระบบลงทะเบียนประกาศผู้รอดชีวิต ณ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย ระบบลงทะเบียนแจ้งคนหาย และระบบการลงทะเบียนขอรับบริจาคและขอบริจาคสิ่งของ ซึ่งรถ EECV ไม่เพียงแต่ทำให้การสื่อสารขอความช่วยเหลือง่ายขึ้น แต่ยังช่วยสนับสนุนทางการแพทย์ในการสืบค้นข้อมูลติดต่อข่าวสารได้อีกด้วย
วางแผนก่อนเดินทางในยามฉุกเฉินด้วย Traffy
นอกจากนี้ เทคโนโลยีสื่อสารยังสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการเตือนภัยน้ำท่วมให้แก่ประชาชนทั่วไปได้ด้วย โดยระบบที่ว่าคือ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศการรายงานสภาพจราจร Traffy ที่พัฒนาขึ้นโดย เนคเทค / สวทช. ที่ได้นำมาประยุกต์ใช้เพื่อเตือนภัยน้ำท่วมสำหรับประชาชนในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลด้วย โดยโปรแกรม Traffy เป็นระบบประเมินและรายงานสภาพจราจรแบบ Real Time ทำหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลจราจรที่แจ้งระดับความติดขัด การก่อสร้าง และอุบัติเหตุ พร้อมแสดงรูปภาพและพิกัดตำแหน่ง ช่วยวางแผนก่อนออกเดินทางและตรวจสอบสภาพจราจรเพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีความติดขัด ลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งในภาวะฉุกเฉินอย่างสถานการณ์น้ำท่วมยังสามารถใช้เตือนภัยในเส้นทางที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมเพื่อจะได้หลีกเลี่ยงเส้นทางนั้นๆ ได้ด้วย การใช้งานให้เข้าไปที่หน้าเว็บ http://traffy.nectec.or.th ซึ่งผู้เดินทางสามารถตรวจสอบสภาพจราจรได้ทั้งบนคอมพิวเตอร์ ผ่าน Web Browserและโทรศัพท์เคลื่อนที่ (J2ME, Symbian OS และ Windows Mobile)
ด้วยผลงานการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทาง สวทช. พัฒนาขึ้น ทำให้เกิดระบบเทคโนโลยีการสื่อสารที่สามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ เพื่อใช้ในการให้ความช่วยเหลือแก่คนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบหรือเดือดร้อนจากภัยพิบัติ