For English-version news, please visit : ITAP-NSTDA helps orchards produce premium quality mangoes for high-end
ณ วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตมะม่วงส่งออกอำเภอบางแพ จ.ราชบุรี – กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโครงการโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการบ่มมะม่วงด้วยแก๊สเอทิลีน แทนการใช้ถ่านแก๊สแคลเซียมคาร์ไบด์
ช่วยลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นในระหว่างการบ่มและลดการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อเกษตรกร ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตมะม่วงส่งออกอำเภอบางแพ จ.ราชบุรี ได้มะม่วงที่มีคุณภาพเกรดพรีเมียมส่งขายในซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำปรับกลยุทธ์ด้านการตลาด ดันยอดขายสู้วิกฤตโควิด-19 ช่วยสร้างงานและเพิ่มรายได้ให้ชุมชน
นางสาวเสาวภา ยุววุฑโฒ ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรม ITAP สวทช. กล่าวว่า ภารกิจหลักของ ITAP คือ การสร้างกลไกเชื่อมโยงและจัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค เข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อการยกระดับ เพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงวิสาหกิจชุมชน ผ่านเครือข่าย ITAP ที่มีอยู่ทั่วประเทศ ทั้งนี้ การเข้าร่วมโครงการ ITAP ของวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตมะม่วงส่งออกอำเภอบางแพ จ.ราชบุรีในครั้งนี้ใช้เวลาดำเนินการ 1 ปี (พ.ศ. 2562-พ.ศ.2563) ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่ ITAP ได้ทำงานตอบโจทย์แก้ไขปัญหาร่วมกันกับผู้ประกอบการ โดยประธานวิสาหกิจฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเข้ามาปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อเพิ่มคุณภาพผลไม้ไทย ซึ่งแม้ว่าจะเกิดวิกฤตโควิด-19 แต่ก็นับเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวและอยู่รอดได้
นายราเชนทร์ สุขหวานอารมณ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตมะม่วงส่งออกอำเภอบางแพ จ.ราชบุรี กล่าวว่า วิสาหกิจุชมชนฯ นี้ก่อตั้ง ปี พ.ศ.2555 บนพื้นที่กว่า 58 ไร่ จำหน่ายมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ สีทอง น้ำดอกไม้เบอร์ 4 มะม่วง R2E2 และมหาชนก โดยมีผลผลิตปีละ 200 ตัน จำหน่ายทั้งตลาดในและส่งออกต่างประเทศ เช่น รัสเซียและประเทศในแถบตะวันออกกลาง เป็นต้น มะม่วงของกลุ่มฯ ผ่านการปลูกด้วยมาตรฐาน ThaiGAP และคัดบรรจุผ่านมาตรฐาน GMP อย. ซึ่งการดำเนินงานของวิสาหกิจฯ จะคำนึงถึงคุณภาพของการส่งมะม่วงให้กับลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญและยึดมั่นมาโดยตลอด ที่ผ่านมาจะบ่มมะม่วงด้วยถ่านแก๊สแคลเซียมคาร์ไบด์ ซึ่งมีผลเสียต่อสุขภาพคนงาน และมะม่วงเน่าเสียในระหว่างการบ่ม เนื่องจากควบคุมยาก เมื่อได้ปรึกษากับ ITAP เพื่อแก้ไขปัญหาและนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ ก็ได้พบทางออกด้วยการสร้างห้องบ่มมะม่วงด้วยแก๊สเอทิลีนขนาด 30.375 ลูกบาศก์เมตร บ่มมะม่วงได้ครั้งละ 3 ตัน ใช้เวลาบ่ม 24 ชั่วโมงต่อ 1 ครั้ง เมื่อนำออกจากห้องบ่ม บรรจุและจัดส่งให้กับลูกค้าได้เลย ข้อดีของการใช้แก๊สเอทิลีน นอกจากจะปลอดภัยต่อทั้งคนงาน ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยให้มะม่วงมีเนื้อสัมผัสแน่น ไม่เละ ไม่เน่าเสียง่าย เพิ่มระยะเวลาในการวางจำหน่ายได้นานขึ้น ทำให้มีกำไรมากขึ้นด้วย และในปี 2563 นี้ “มะม่วงน้ำดอกไม้ เบอร์ 4 และมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง” ของวิสาหกิจฯ ได้รับคัดเลือกจากท็อปส์มาร์เก็ต ให้เป็นสินค้าเกรดคุณภาพ แบรนด์ My Choices จำหน่ายในท็อปส์ และ เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ เพื่อให้คนไทยได้ทานมะม่วงที่มีคุณภาพคุ้มค่า คุ้มราคา และจากวิกฤตโควิด-19 นี้ วิสาหกิจฯ ได้ปรับกลยุทธ์ด้านราคา ทำให้มียอดขายเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงและชุมชนมีงานทำและมีรายได้อย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือให้ผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน
นายพีรพงษ์ แสงวนางค์กูล นักวิจัยชำนาญการ ศูนย์เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ ITAP กล่าวว่า การบ่มผลไม้ด้วยการใช้ถ่านแก๊สแคลเซียมคาร์ไบด์เป็นวิธีที่เกษตรกรส่วนใหญ่คุ้นเคย เพราะเป็นวิธีปฏิบัติที่ง่าย แต่ส่งผลกระทบเชิงลบค่อนข้างมาก เช่น สูญเสียน้ำหนักระหว่างบ่ม ควบคุมการสุกของผลไม้ได้ยาก หากใช้ถ่านแก๊สมากเกินไป จะส่งผลให้ผลไม้สุกเร็วและเนื้อนิ่ม หรืออาจทำให้ผิวผลไม้มีลักษณะไหม้ได้ และในระหว่างบ่มจะเกิดกลิ่นของแก๊สอะเซทิลีนจากการระเหิดของถ่านก้อน มีกลิ่นฉุนติดไปกับผลไม้ และกลิ่นอาจเป็นอันตรายต่อระบบหายใจของผู้ปฏิบัติงาน และถ่านแก๊สยังมีโอกาสปนเปื้อนสารหนูซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานและผู้บริโภคด้วย จึงเป็นข้อจำกัดในการส่งออกสินค้าไปบางประเทศในสหภาพยุโรป นอกจากนี้ ส่วนที่เหลือของถ่านแก๊สภายหลังทำปฏิกิริยาจะเป็นของเหลือทิ้งที่ยากต่อการกำจัด จากปัญหาดังกล่าว ทางวิสาหกิจฯ ได้ขอคำปรึกษากับโครงการ ITAP เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา จึงเกิดเป็นโครงการ “ระบบการควบคุมและบ่มมะม่วงด้วยแก๊สเอทิลีน”
การบ่มผลไม้ในห้องบ่มด้วยแก๊สเอทิลีน เป็นวิธีบ่มผลไม้ทางการค้าที่ใช้กันทั่วไปในต่างประเทศ ซึ่งต้องใช้ความรู้และความเข้าใจ เพื่อออกแบบห้องบ่มที่สามารถควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และปริมาณแก๊สเอทิลีนที่เหมาะสมกับผลไม้แต่ละชนิดได้ โดยนำผลไม้ที่ต้องการบ่มใส่ในห้องบ่มที่ปิดสนิท และปล่อยแก๊สเอทิลีนให้ไหลเข้าห้องบ่ม ตามความเข้มข้นที่ต้องการในเวลาที่เหมาะสม ทำให้สามารถนำผลไม้ออกมาและปล่อยให้สุกตามธรรมชาติได้ การบ่มด้วยแก๊สเอทิลีนของวิสาหกิจฯ ส่งผลให้ลดการสูญเสียจากผลเน่า 12% เหลือ 7% คิดเป็นมูลค่ากว่า 100,000 บาท ลดค่าใช้จ่ายค่าถ่านก้อนแคลเซียมคาร์ไบด์ 536,426 บาท (ต่อ 1 รอบการผลิตมะม่วง) มียอดสั่งซื้อมะม่วงเพิ่มขึ้น 193.4% (เติบโตเกือบ 2 เท่า) คิดเป็นมูลค่า 3.3 ล้านบาท
นายสมนึก ยอดดำเนิน Head of Farmer’s ,Quality Line Local and sourcing บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ในเครือเซ็นทรัล รีเทล กล่าวถึงนโยบายและหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกผลไม้เพื่อจำหน่ายในร้านท็อปส์ และ เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ ว่ามีหลักเกณฑ์สำคัญที่บริษัทฯ ยึดมั่น คือ มาตรฐานสินค้าขั้นสูงสุด ‘หัวใจคุณภาพ’ (QUALITY AT HEART) เป็นการตรวจสอบในทุกขั้นตอนการผลิตอย่างพิถีพิถันตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เพื่อให้มั่นใจในคุณภาพของสินค้าและสามารถตรวจสอบสอบย้อนกลับได้ (Traceability) ประกอบด้วย 5 หัวใจสำคัญ
ได้แก่ 1. ความปลอดภัยของอาหาร มีระบบควบคุมความปลอดภัยของอาหาร สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้จากสวนจนสู่มือผู้บริโภค 2. คุณภาพของอาหาร รับประกันความสดใหม่ รสชาติอร่อย คุณภาพสูงจากแหล่งที่ดีที่สุด 3. พัฒนาเพื่อความยั่งยืน เพิ่มคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับเกษตรกร โดยพัฒนาเกษตรกรและชุมชนภายในประเทศ ให้การสนับสนุนผู้ผลิตรายย่อย ใส่ใจสภาพแวดล้อมในการทำงานและค่าแรง ภายใต้จริยธรรมธุรกิจ 4. ดูแลสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กำจัดขยะอย่างเป็นระบบ ใช้ระบบการขนส่งผ่านเครือข่ายรถส่งสินค้า (Backhaul) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ 5. ราคาที่เหมาะสม คัดสรรผลิตผลตามฤดูกาลด้วยคุณภาพที่ดีที่สุดจำหน่ายในราคาที่เหมาะสม
สำหรับวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตมะม่วงส่งออกอำเภอบางแพ จ.ราชบุรี เป็นสวนมะม่วงในโครงการที่ท็อปส์เข้าไปดูแลผลผลิตเพื่อให้ได้มาตรฐานสินค้าขั้นสูงสุด ‘หัวใจคุณภาพ’ (QUALITY AT HEART) แนะนำองค์ความรู้สมัยใหม่ มีการนำคิวอาร์โค้ดมาติดที่ลูกมะม่วง ทำให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งเพาะปลูกและโรงคัดบรรจุได้ อีกทั้งยังสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าได้ว่าทานวันไหน รสชาติถึงจะอร่อยที่สุด โดยผลมะม่วงจะติดสติกเกอร์วันที่พร้อมทานไว้อย่างชัดเจน หากเกษตรกรหรือวิสาหกิจฯ โรงคัดบรรจุผลไม้ ที่จำเป็นต้องบ่มผลไม้ก่อนจำหน่าย อาทิ มะม่วง กล้วย มะละกอ และทุเรียน สามารถปรับการบ่มจากการใช้ถ่านแก๊สแคลเซียมคาร์ไบด์ มาเป็นการบ่มด้วยแก๊สเอทิลีน จะเกิดประโยชน์มหาศาลทั้งต่อเกษตรกร ผู้ปฏิบัติงานในโรงคัดบรรจุ ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค รวมถึงสิ่งแวดล้อมด้วย