หน้าแรก เอ็มเทค สวทช.- ไทยเบฟ เปิดตัว Green Rock นวัตกรรมวัสดุเม็ดมวลเบาสังเคราะห์ สำหรับอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างสู่ความยั่งยืน
เอ็มเทค สวทช.- ไทยเบฟ เปิดตัว Green Rock นวัตกรรมวัสดุเม็ดมวลเบาสังเคราะห์ สำหรับอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างสู่ความยั่งยืน
13 พ.ย. 2563
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

13 พฤศจิกายน 2563 ณ โถงชั้น1 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ถนน โยธี: กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ร่วมกับบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) แถลงข่าวเปิดตัว ผลิตภัณฑ์ G Rock สู่ Green Rock นวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างสู่ความยั่งยืน

โดยมี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และนายประวิช สุขุม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดสายบริหารทั่วไป บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ร่วมแถลงข่าวเปิดตัว Green Rock นวัตกรรมวัสดุเม็ดมวลเบาสังเคราะห์สำหรับอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างสู่ความยั่งยืนเพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นในการใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ตามนโยบายรัฐบาลที่สนับสนุน BCG Model สวทช. ได้กำหนดเป็นแผนงานสำคัญภายใต้แผนกลยุทธ์ สวทช. (2564-2568) ได้ระดมความเชี่ยวชาญใช้ความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อน BCG สู่การปฏิบัติ โดยมีแนวทางการส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมเพื่อการขับเคลื่อน BCG ที่เน้นทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดด้วยกลไกการสนับสนุนด้านต่างๆ อาทิ การสนับสนุนทางการเงิน ผ่านศูนย์ลงทุน/NSTDA Holding สิทธิประโยชน์ทางภาษี การพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีในโครงการต่างๆ อาทิ โครงการ Startup Voucher โครงการ Research Gap Fund รวมทั้งยังบริการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เมืองนวัตกรรมอาหารและการทำงานร่วมวิจัยกับภาคเอกชน ทั้งนี้ตัวอย่างความสำเร็จในการดำเนินงานที่ผ่านมา เช่น ร่วมกับบริษัทเอกชนผู้ประกอบการผู้ผลิตไข่ พัฒนานวัตกรรมเพื่อใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าจากไข่แบบครบวงจร ตั้งแต่ ไข่แดง ไข่ขาว (antimicrobial peptide) เยื่อไข่ (eggshell membrane hydrolysate) ตลอดไปถึงเปลือกไข่ (แคลเซียม) ตอบโจทย์ BCG โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) ในการลดของเสียจากอุตสาหกรรมอาหารและการนำของเสียกลับมาใช้ประโยชน์

นอกจากนี้ สวทช. ร่วมกับ GIZ  และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยร่วมดำเนินการโครงการ “Single-use Plastic Prevention in Southeast Asia (CAP-SEA)” สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน และยังมีด้านการท่องเที่ยว ซึ่ง สวทช. โดยโปรแกรม ITAP สนับสนุนผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ประยุกต์ใช้นวัตกรรมสนับสนุนเศรษฐกิจ BCG โดยเริ่มดำเนินการโครงการ Krabi Go Green Model ร่วมกับ จ.กระบี่ เน้นการพัฒนาด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ความปลอดภัยด้านอาหาร การเพิ่มรายได้การท่องเที่ยว ล่าสุดผลงาน Green Rock เป็นอีกตัวอย่างความสำเร็จของความร่วมมือภาครัฐและเอกชนที่เข้มแข็ง เพื่อนำไปสู่เป้าหมายความยั่งยืน ภายใต้แนวคิดระบบเศรษฐกิจ ในโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG

ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการ เอ็มเทค สวทช. กล่าวว่า ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ได้นำองค์ความรู้ด้านวัสดุศาสตร์และวิศวกรรมวัสดุเพื่อพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยใช้ประโยชน์จากวัสดุพลอยได้จากภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พื้นที่ในการฝังกลบ และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหล่านั้น ซึ่งวัสดุเม็ดมวลเบาสังเคราะห์ หรือ G-Rock พัฒนาขึ้นโดย ดร.พิทักษ์ เหล่ารัตนกุล หัวหน้าทีมวิจัยวิศวกรรมเซรามิกส์ เอ็มเทค ที่มีความสนใจงานวิจัยด้านวัสดุก่อสร้าง โดยมีแนวทางคือการนำวัสดุพลอยได้จากภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมกลับมาใช้ประโยชน์ โดยประยุกต์ใช้ทดแทนหินจากธรรมชาติในส่วนผสมของชิ้นส่วนคอนกรีตประเภทต่างๆ ซึ่งจะช่วยลดภาระน้ำหนักโครงสร้างของตัวอาคารได้อย่างมาก โดยยังคงความแข็งแรงตามมาตรฐานด้านการก่อสร้าง รวมถึงยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการประหยัดพลังงานของอาคารได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีโครงสร้างที่ประกอบด้วยฟองอากาศภายในเป็นจำนวนมาก จึงช่วยป้องกันการถ่ายเทความร้อนจากแสงอาทิตย์เข้าสู่ภายในอาคารได้ดี  “ทีมวิจัยเอ็มเทคใช้เวลากว่า 3 ปี ทำงานร่วมกับบริษัท จรัญธุรกิจ 52 จำกัด กลุ่มธุรกิจต่อเนื่อง ในเครือบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่การออกแบบและพัฒนาสูตรส่วนผสมในกระบวนการผลิตระดับอุตสาหกรรมโดยใช้วัสดุพลอยได้จากกระบวนการผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมไทยเบฟเวอเรจฯ และร่วมมือกับบริษัท พีซีเอ็ม คอนสตรัคชั่น แมททีเรียล จำกัด ทดสอบประสิทธิภาพด้านการต้านทานความร้อนของแผ่นผนังคอนกรีตสำเร็จรูปผสม G-Rock ปัจจุบันบริษัท จรัญธุรกิจ 52 จำกัด ประสบความสำเร็จในการผลิตเชิงพาณิชย์และใช้ชื่อทางการค้า “Green rock” วัสดุเม็ดมวลเบาสังเคราะห์”

ผู้อำนวยการเอ็มเทค กล่าวด้วยว่า แนวคิด Circular Economy สามารถนำมาใช้ได้จริงทั้งในเรื่องการเติบโตของธุรกิจและโอกาสทางธุรกิจใหม่  มีตัวอย่างความสำเร็จที่อยากชวนให้ร่วมกันถอดบทเรียนเพื่อเป็นประโยชน์ต่อองค์กรอื่นๆ ได้นำไปปรับใช้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีวัสดุสามารถช่วยยกระดับกระบวนการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ทั้งนี้ความร่วมมือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยและของโลก

นายประวิช สุขุม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดสายบริหารทั่วไป บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในฐานะบริษัทที่เป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มระดับโลกที่ได้รับการจัดอันดับ โดย DJSI ติดต่อกัน 2 ปีซ้อน ไทยเบฟ มีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคม โดยน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy) มาเป็นหลักในการดำเนินธุรกิจ พร้อมทั้งใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy มาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรในห่วงโซ่คุณค่าตั้งแต่ต้นน้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไทยเบฟ สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านการพัฒนาและประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ หรือกระบวนการใหม่ๆ ที่มีคุณค่า (Value Creation) และมีประโยชน์ต่อผู้คน สังคมและเศรษฐกิจ ทำให้สามารถนำไปขยายผล ต่อยอดเพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ไทยเบฟ กำหนดนโยบายด้าน สิ่งแวดล้อม และนโยบายด้านความยั่งยืน เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ ในการบริหารจัดการภายใน ที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าการจัดการ ด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทนั้น ถูกต้องตามกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับและมาตรฐานสากล เพื่อสร้างความเป็นเลิศทางการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องนโยบายเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนของไทยเบฟในการที่จะจัดการและป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม

เพื่อผลประโยชน์ ของคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต ล่าสุด ไทยเบฟ ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง “โครงการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG โมเดล) สร้างความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน” เพื่อร่วมมือในการขับเคลื่อนประเทศไทยภายใต้เศรษฐกิจ BCG (BCG Economy Model) โดยการผนึก 3 เศรษฐกิจเข้าด้วยกัน ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อมุ่งเป้าหมายสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals, SDGs) โดยอาศัยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนทั้งด้านความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางสาธารณสุข ความมั่นคงทางพลังงาน หลักประกันการมีงานทำ และความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ไทยเบฟ เล็งเห็นความสำคัญเรื่องนวัตกรรม ที่ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ไทยเบฟเป็นผู้นำทางธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่ บริษัท จรัญธุรกิจ 52 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือที่มีความเชี่ยวชาญการผลิตกระเบื้องซีเมนต์ปูพื้นมากกว่า 20 ปี ร่วมมือกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานชั้นนำด้านการพัฒนาและวิจัยระดับประเทศ เพื่อพัฒนานวัตกรรม โดยไทยเบฟ ให้การสนับสนุนงานวิจัยผลพลอยได้จากกระบวนการผลิต ซึ่งนำมาพัฒนาต่อยอดให้เป็น Green Rock หรือ เม็ดวัสดุมวลเบาสังเคราะห์ ที่เป็นนวัตกรรมเพื่องานวัสดุก่อสร้างตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ ทั้งทางด้านคุณภาพ การใช้งาน สามารถใช้ทดแทนหินบดหรือทรายทั่วไปจากธรรมชาติ ทำให้ช่วยลดการทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมได้โดยแท้จริง”

สำหรับผู้ที่สนใจชม “นวัตกรรมเม็ดวัสดุมวลเบาสังเคราะห์ Green Rock” สามารถรับชมนวัตกรรมเต็มรูปแบบได้ภายในงานประชุมนานาชาติทางสถาปัตยกรรมและแสดงเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง “สถาปนิกปันสุข” (ACT Forum’20 Design + Built) ระหว่างวันที่ 18 – 22 พ.ย. 63 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี

 

 

13 พ.ย. 2563
0
แชร์หน้านี้: