วารสารข่าว วิทย์ปริทัศน์ ฉบับเดือน กรกฎาคม 2563
สารจากเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ถึง นักเรียนและนักศึกษาไทย
สำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบกกับภารกิจดูแลนักเรียนไทยในช่วงวิกฤตโควิด-19
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ทำให้ประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย
ต้องออกมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดดังกล่าว กระทรวงกลาโหมรู้สึกห่วงใยคนไทยที่ใช้ชีวิตต่างประเทศ และพยายามร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต
ให้ความช่วยเหลือประชาชนคนไทยให้สามารถกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย
สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนในสหรัฐอเมริกากับภารกิจดูแลนักเรียนไทยในช่วงวิกฤตโควิด-19
สำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารประจำกรุงวอชิงตัน ได้ประสานกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ อนุมัติให้กองทัพบกสามารถใช้เครื่องบินของสหรัฐฯ รับคนไทยจาก
อเมริกาไปยังเมืองไทยได้ ในวันศุกร์ที่ 17 เมษายน 2563 จำนวน 162 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาและเยาวชนไทย ได้เดินทางออกจากสนามบิน
เมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส ด้วยเครื่องบินของกองทัพบกสหรัฐฯ
สมาคมของคนไทยในสหรัฐอเมริกา
“สหรัฐอเมริกา ดินแดนแห่งเสรีภาพและโอกาส” คำพูดนี้ ได้ดึงดูดให้คนจากนานาประเทศทั่วโลก รวมทั้งคนไทยเดินทางมายังดินแดนนี้ โดยเฉพาะ
ในช่วงทศวรรษ 1960 – 1980 จะมาเพื่อการศึกษา การทำงาน หรือเพื่อแสวงโชค หรือหาโอกาสที่ดีกว่า โดยเฉพาะสมัยนั้น บรรยากาศทางการเมือง
เศรษฐกิจของไทยมีความเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงในหลายด้าน เมื่อมาใช้ชีวิตต่างแดนการได้พบปะพูดคุบภาษาจากชาติเดียวกันทำให้รู้สึกอบอุ่นใจ
ด้วยเหตุนี้การจัดตั้งสมาคมของคนไทย จึงเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้คนไทยได้รู้จักพบปะกัน พึ่งพาช่วยเหลือกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น สมาคมไทย
ณ อเมริกาสาขากรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สมาคมไทยแห่งรัฐวอชิงตัน (TAWA) ฯลฯ
สมาคมคนไทยตามภูมิภาคในประเทศไทย ไทยมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม อาหาร ภาษาถิ่น ที่แตกต่างกันใน 4 ภาคของไทย อาทิเช่น
สมาคมไทยชาวเหนือ สมาคมไทยอีสาน สมาคมไทยชาวปักษ์ใต้ ฯลฯ
สมาคมคนไทยตามสาขาอาชีพ คนไทยยังมีการรวมตัวกันในกลุ่มคนที่อยู่ในสาขาอาชีพเดียวกัน ให้ความช่วยเหลือในด้านการศึกษา การงาน
และรวมตัวกันใช้ความรู้ความสามารถทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติในด้านต่างๆ เช่น สมาคมแพทย์ไทยในสหรัฐอเมริกา (TPAA)
สมาคมพยาบาลไทยในรัฐต่างๆ
สมาคมนักวิชาชีพไทยในสหรัฐอเมริกา และแคนาดา (ATPAC)
สมาคมคนไทยตามความสนใจทางกีฬา การรวมตัวกันของกลุ่มคนที่มีความสนใจทางกีฬาชนิดเดียวกัน เพื่อรวมตัวกันเล่นกีฬาด้วยกัน ให้การสนับสนุน
ด้านต่างๆเช่น งบประมาณ เช่น สมาคมกอล์ฟไทย ชมรมเทนนิสไทย ในรัฐต่างๆ สมาคมกอล์ฟ Inter States ฯลฯ
สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา สมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์
สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา ฯลฯ ช่วยให้พี่ๆ น้องๆ ร่วมสถาบันได้พบปะสังสรรค์ ทำกิจกรรมร่วมกัน
แม้จะอยู่ไกลบ้านเกิด
ชมรมนักเรียนไทยในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในหลายๆ มหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษาไทยจำนวนมาก มักจะมีการจัดตั้งชมรมนักเรียนไทยในมหาวิทยาลัย
ทำให้เกิดการรวมตัวกันช่วยเหลือกันระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง ทำกิจกรรมร่วมกัน ช่วยกันเผยแพร่วัฒนธรรมไทย ฯลฯ
การจัดตั้งสมาคมกลางนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกา
สหรัฐอเมริกา เป็นหนึ่งในประเทศที่เยาวชนไทยนิยมเดินทางมารับการศึกษาในทุกระดับ โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา ทำให้แต่ละปีมีจำนวนนักเรียน
นักศึกษาไทยในสหรัฐฯ อยู่จำนวนมาก ได้มีการประชุมหารือกับกลุ่มคณะทำงานหลักที่มีบทบาทสำคัญ โดยทีมงานนักเรียนไทยในรัฐแมสซาชูเซตส์
เป็นกลุ่มผู้จัดตั้งอันทรงพลัง ได้ร่วมกันหารือจนความคิดรวบยอดในการจัดตั้งตกผลึก สำนักงานที่ปรึกษาฯ ได้สนับสนุนให้คณะทำงานส่งผู้แทนมาเยี่ยม
คารวะและหารือกับท่านเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน เพื่อรายงานความคืบหน้า และความต้องการที่จะให้ทีมประเทศไทยในสหรัฐอเมริกาช่วยเหลือ
ในด้านใด พิธีเปิดสมาคม จะมีขึ้นอย่างเป็นทางการในวันศุกร์ที่ 25 กันยายน 2563 ที่อาคารที่ทำการของสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนไทย ก.พ. กรุงวอชิงตัน
โดยท่านเอกอัครราชทูตธานี ทองภักดี จะให้เกียรติมาเป็นประธานเปิด พร้อมด้วยหัวหน้าสำนักงานทีมประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน โดยสำนักงาน
ที่ปรึกษาฯ ได้สนับสนุนคณะทำงานและสมาชิกสมาคมจากรัฐต่างๆ ราว 10 คน ให้เดินทางมาร่วมในพิธีเปิดอันยิ่งใหญ่ในครั้งนี้
กิจกรรมสำคัญของสมาคมกลางนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกา (ATSA)
สมาคมกลางนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกา (Association of Thai Students in the United States – ATSA) เกิดจากความตั้งใจและมุ่งมั่นของ
นักศึกษาไทยในสหรัฐฯ แม้ว่าจะอยู่ในระหว่างการก่อตั้ง สมาชิกได้ริเริ่ม ดำเนินกิจกรรมเพื่อให้สมาคมได้เริ่มทำหน้าที่ในการเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้าง
เครือข่ายและการให้การสนับสนุนระหว่างสมาชิก ในช่วงปี 2563 สมาคมได้มีกิจกรรมสำคัญดังนี้
การประกวดโลโก้ของสมาคม
สมาคมกลางฯ ได้จัดการประกวดออกแบบโลโก้ของสมาคม โดยเปิดรับโลโก้จากนักเรียนไทยในสหรัฐฯ และเปิดให้มีการโหวตเลือกให้คะแนนโลโก้
โดยโลโก้ที่ได้รับการคัดเลือกสูงสุดและชนะการประกวดเป็นสัญญลักษณ์ รูปช้างซึ่งเป็นสัตว์ประจำชาติใช้งวงเชิดชูลูกบอลลายธงชาติไทยเปรียบได้กับ
เยาวชนผู้เปี่ยมไปด้วยพลังกาย และพลังใจที่พร้อมจะสนับสนุนผลักดัน ประเทศชาติให้ก้าวหน้าและพัฒนา และมีอักษร ATSA ซึ่งเป็นตัวย่อของ สมาคม
เป็นองค์ประกอบของโลโก้
การสัมมนาสดผ่านระบบ Webinar
การประชุมสัมมนา เป็นหนึ่งกิจกรรมที่สมาคมกลางฯ ได้วางแผนดำเนินการไว้ และแม้ว่าจะเกิดปัญหาการระบาดของโควิด-19 สมาคมกลางฯ ก็ยังดำเนิน
กิจกรรมอย่างต่อเนื่อง แต่ปรับเปลี่ยนเป็นผ่านระบบ Webinar โดยใช้ Social Media อย่าง Facebook ให้เกิดประโยชน์ ทำให้การถ่ายทอดแลกเปลี่ยน
องค์ความรู้และความคิดเห็นยังดำเนินต่อไปได้ตามที่สมาคมกลางฯ ได้ตั้งใจไว้