หน้าแรก สวทช. จับมือ ม.เกียวโต ญี่ปุ่น มุ่งสร้าง joint-lab ร่วมวิจัยพัฒนาด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน
สวทช. จับมือ ม.เกียวโต ญี่ปุ่น มุ่งสร้าง joint-lab ร่วมวิจัยพัฒนาด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน
1 ต.ค. 2561
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

ที่โรงแรมพูลแมน กรุงเทพฯ แกรนด์ : ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และทคโนโลยี ร่วมงานและเป็นพยานการเปิดงาน “Ceremony to Commemorate the Granting of NGO Status to Kyoto University and the Signing of the MOU between the NSTDA and Kyoto University” โดยมี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมลงนามความร่วมมือกับ Dr. Kayo Inaba (ดร.คาโยะ อินาบะ) รองประธานบริหารมหาวิทยาลัยเกียวโต ด้านความเท่าเทียมทางเพศ กิจการระหว่างประเทศ และการประชาสัมพันธ์ ในโครงการวิจัยเกี่ยวกับพลังงานและสิ่งแวดล้อม ด้าน Biorefinery (อุตสาหกรรมพลังงานและเคมีชีวภาพ) พร้อมมุ่งสร้างห้องปฏิบัติการร่วมเพื่อทำวิจัยร่วมกัน เสริมความแข็งแกร่งทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ให้เพิ่มพูนยิ่งขึ้นในภูมิภาคอาเซียน

นับเป็นก้าวสำคัญของสองประเทศที่จะร่วมมือกันขยายความร่วมมือด้านการวิจัยไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ซึ่งการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ มุ่งเน้นการสร้างงานวิจัยมีเป้าหมายหลักให้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมนำไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของไทย โดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน รวมถึงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ดังนั้นการร่วมเป็นพันธมิตรกับมหาวิทยาลัยเกียวโต จะส่งเสริมการผลักดันให้ประสบความสำเร็จต่อไป  

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือระหว่าง สวทช. และมหาวิทยาลัยเกียวโต เป็นก้าวสำคัญอย่างเป็นทางการของความร่วมมือทางวิชาการของสองสถาบันที่ริเริ่มขึ้นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา โดยโครงการ Japan-ASEAN Science, Technology and Innovation Platform หรือ JASTIP เป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่าง สวทช. และมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งโครงการ JASTIP มุ่งมั่นที่จะสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมให้เกิดขึ้นบนพื้นฐานของความสัมพันธ์ฉันท์มิตรที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างประเทศไทย ประเทศญี่ปุ่น และอาเซียน โดยหวังว่าท้ายที่สุดแล้วจะนำไปสู่การจัดตั้งห้องปฏิบัติการร่วม (Joint Laboratory) ในประเทศคู่ความร่วมวิจัยในภูมิภาคอาเซียน

สำหรับ สวทช. ได้ร่วมมือมหาวิทยาลัยเกียวโต ในโครงการวิจัยเกี่ยวกับพลังงานและสิ่งแวดล้อม ด้าน Biorefinery (อุตสาหกรรมพลังงานและเคมีชีวภาพ) โดยมุ่งเน้นเรื่อง biomass to energy and values added chemical ภายใต้โครงการนี้ ประกอบด้วยโครงการวิจัยย่อมสามโครงการ ได้แก่ โครงการการเปลี่ยนชีวมวลทางเกษตรเป็นเชื้อเพลิงและสารเคมีโดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาที่ไร้แสง โครงการการพัฒนาวัสดุคาร์บอนจากชีวมวลสำหรับการประยุกต์ในงานในการกักเก็บพลังงาน และโครงการนวัตกรรมในการประยุกต์ใช้ชีวมวลสำหรับการสังเคราะห์วัสดุเร่งปฏิกิริยาและอุปกรณ์พลังงานเน้นนาโนเทคโนโลยี จากงานวิจัยร่วมดังกล่าวข้างต้น ได้มีการผลักดันและเชื่อมโยงขยายความร่วมมือวิจัยออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อันถือได้ว่าเป็นการร่วมกันสร้างเสริมความแข็งแกร่งด้าน วทน. ให้เพิ่มพูนยิ่งขึ้นในภูมิภาคแถบนี้ สำหรับความร่วมมือด้านวิชาการ การแลกเปลี่ยนความรู้และบุคลากร นี้ จะนำไปสู่การกินดีอยู่ดีและสภาพแวดล้อมที่สะอาด สะดวกสบายสำหรับประชากรไทย เพื่อนบ้านในอาเซียน และภูมิภาคเอเชียโดยรวม ตลอดจนจะนำไปสู่การสร้างผลงานวิจัยที่ได้รับการยกย่องในเวทีนานาชาติ บ่งบอกถึงมาตรฐานวิจัยของภูมิภาคอาเซียนในระดับโลกต่อไป

 

ด้าน Dr. Kayo Inaba (ดร.คาโยะ อินาบะ) รองประธานบริหารมหาวิทยาลัยเกียวโต ด้านความเท่าเทียมทางเพศ กิจการระหว่างประเทศ และการประชาสัมพันธ์ กล่าวเสริมว่า มหาวิทยาลัยเกียวโต และ สวทช. มีกิจกรรมที่ดำเนินงานร่วมกันจำนวนมากก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการ JASTIP ที่เป็นโครงการนำไปสู่การจัดตั้ง joint-lab ในด้านการวิจัยในเรื่องของพลังงานสิ่งแวดล้อม ซึ่งมหาวิทยาลัย และ สวทช. จะมีการทำวิจัยร่วมกัน การจัดสัมมนาเวิร์กช็อป ตลอดจนการแลกเปลี่ยนระหว่างบุคลากรนักวิจัยร่วมกัน ส่งเสริมให้ทั้งสองหน่วยงานมีความร่วมมือที่แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่น รวมไปถึงประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนจะมีความเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไป

1 ต.ค. 2561
0
แชร์หน้านี้: