หน้าแรก คลังความรู้ 30 ปี สวทช. งานวิจัย 30 ปี สวทช. โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (NQI) ขีดความสามารถสินค้าและบริการไทย
โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (NQI) ขีดความสามารถสินค้าและบริการไทย
12 มิ.ย. 2564
0
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (NQI) ขีดความสามารถสินค้าและบริการไทย

ปัจจุบันสินค้าและนวัตกรรมที่มาจากการวิจัยกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น แต่การที่จะได้รับการยอมรับและสามารถแบ่งปันในตลาดได้อย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภค ด้วยการการันตีคุณภาพความปลอดภัยที่ผ่านมาตรฐานในระดับสากล

            การรับรองคุณภาพที่เป็นมาตรฐานระดับสากลนี้เอง เป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของการสร้างผลงานวิจัย รวมถึงนวัตกรรมที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการผลิต โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นเอสเอ็มอีหรือสตาร์ตอัปไทยที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการนำสินค้าและบริการไปผ่านการวิเคราะห์และทดสอบในต่างประเทศ เพื่อให้สามารถส่งออกสินค้าไปขายได้ทั่วโลก เนื่องจากประเทศไทยยังขาดแคลนห้องปฏิบัติการ (Laboratory) ที่มีประสิทธิภาพสูง สำหรับตรวจสอบมาตรฐานสินค้า ขณะเดียวกันโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคุณภาพที่มีอยู่ในประเทศไทย ยังไม่ได้รับการบูรณาการระบบในการเข้าใช้บริการอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

              สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีนโยบายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคุณภาพ เพื่อเสริมสร้างระบบนวัตกรรมของประเทศ และทำให้อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย นิคมวิจัยสำหรับภาคเอกชนแห่งแรกของไทย ภายใต้การบริหารจัดการของ สวทช. สามารถให้บริการผู้ประกอบการได้แบบครบวงจร

            สวทช. จัดตั้งห้องปฏิบัติการที่ให้บริการด้านการวิเคราะห์และทดสอบตามมาตรฐานสากล ประกอบด้วย ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในบ้านและเซรามิกอุตสาหกรรม (CTEC) ศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ สวทช. (NCTC) ศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม (DECC) และศูนย์ทดสอบทางพิษวิทยาและชีววิทยา (TBES) ซึ่งบริการเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการทำวิจัยและสนับสนุนผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศ

            อนึ่ง การบริการครอบคลุมในหลายกลุ่มผลิตภัณฑ์และมีศักยภาพ ด้านการปฏิบัติงานทดสอบ สอบเทียบ ตรวจสอบ และรับรองผลิตภัณฑ์ ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล อาทิ ISO/IEC17025, ISO/ IEC17020, ISO/IEC17065 ซึ่งได้รับการยอมรับจากหน่วยงานควบคุมภาครัฐ เช่น สมอ. อย. กสทช. พพ. สนข. และหน่วยงานด้านความมั่นคง ฯลฯ ตลอดจนมีประสิทธิภาพในการดำเนินการเชิงธุรกิจและความสามารถในการออกแบบวิศวกรรมการ Simulation และการสร้างเครื่องจักรอุตสาหกรรม รวมถึงความสามารถในการตรวจสอบคุณสมบัติเฉพาะของวัสดุอาหาร โลหะ ฯลฯ

           นโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคุณภาพของ สวทช. นี้ ยังเน้นการให้บริการแบบ One Stop Service เพื่อส่งมอบบริการและผลงานที่มีคุณภาพ สะดวก รวดเร็ว ด้วยเครื่องมือที่ได้มาตรฐาน ทันสมัย และใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อย่างเช่น บริการวิเคราะห์ทดสอบจากศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หรือพีเทค (PTEC) สวทช. ซึ่งเป็นศูนย์ทดสอบ สอบเทียบ ตรวจสอบ และรับรองผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อการจำหน่ายในประเทศ นำเข้า และส่งออกตามมาตรฐานสากล โดยดำเนินงานเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือแพทย์

            พีเทค (PTEC) สวทช. ได้รับการรับรองห้องปฏิบัติการทดสอบตามระบบ ISO/IEC 17025 และเป็นห้องปฏิบัติการทดสอบหรือพิสูจน์ทราบ เพื่อรองรับนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย ที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำมาตรฐานชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า เช่น สายชาร์จแบตเตอรี่ สถานี ประจุไฟฟ้า ฯลฯ รวมถึงพัฒนาวิธีทดสอบในขอบข่ายใหม่ ได้แก่ การบริการวิเคราะห์ ทดสอบหุ่นยนต์และการบริการวิเคราะห์ ทดสอบด้านเทคโนโลยีไอโอที (IoT) เพิ่มขึ้น

            นอกเหนือจากนี้ยังให้บริการวิเคราะห์ทดสอบต่าง ๆ เช่น บริการทดสอบด้านชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์การบิน ได้จัดตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบด้านชิ้นส่วนเครื่องบิน (AS 9001, NADCAP) ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดเตรียมเอกสารเพื่อขอการรับรองระบบคุณภาพตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 

            สำหรับการให้บริการทดสอบเครื่องมือแพทย์ พีเทค สวทช. ให้บริการทดสอบเครื่องมือแพทย์หลายประเภท เช่น เครื่องให้น้ำเกลือ ตู้อบทารกเด็กแรกคลอด เตียงผู้ป่วยระบบไฟฟ้า รวมถึงหุ่นยนต์ขนส่งยา วัคซีนและเวชภัณฑ์ โดยหุ่นยนต์ขนส่งมีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการตรวจสอบไปแล้วคือ Hapybot ซึ่งทดสอบในด้านต่าง ๆ เช่น แบตเตอรี่ที่จะไม่ระเบิดเมื่อชาร์จไฟฟ้า EMC (Electromagnetic Compatibility) ที่จะไม่ปล่อยคลื่นความถี่รบกวนอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมทั้งระบบซอฟต์แวร์และระบบปฏิบัติการสั่งงานที่ได้มาตรฐาน

            ทั้งนี้ Hapybot ถือเป็นหุ่นยนต์ตัวแรกของประเทศไทยที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยในการใช้งานภายในโรงพยาบาลอย่างเป็นทางการ เพื่อให้สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่แพทย์และพยาบาล ในการปฏิบัติหน้าที่ และช่วยในการป้องกันการระบาดจากสถานการณ์โควิด-19

           จากการนำองค์ความรู้เกี่ยวกับ วทน. มาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ และเสริมสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์ไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลแล้ว สวทช. ยังได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำฐานข้อมูลห้องปฏิบัติการทดสอบในภาพรวมทั้งระบบของประเทศที่เรียกว่า “โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ” (National Quality Infrastructure: NQI) ให้สามารถเชื่อมโยงซึ่งกันและกันได้ เพื่อง่ายในการสืบค้นของผู้ใช้บริการ รวมถึงอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม

แชร์หน้านี้: