หน้าแรก จดหมายข่าว สวทช. ปี 2 ฉ.5 – บทความ ไทยเตรียมลดการใช้สัตว์ทดลองทางวิทยาศาสตร์
จดหมายข่าว สวทช. ปี 2 ฉ.5 – บทความ ไทยเตรียมลดการใช้สัตว์ทดลองทางวิทยาศาสตร์
4 ส.ค. 2559
0
จดหมายข่าว สวทช. ย่อย
บทความ

alt

alt

ไทยเตรียมลดการใช้สัตว์ทดลองทางวิทยาศาสตร์

ก.วิทย์ เตรียมใช้วิธีทางเลือกอื่น ทดแทนการใช้สัตว์ทดลองในประเทศไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง

alt

ในแต่ละปี ประเทศไทยมีการใช้สัตว์เพื่อการทดลองในทางวิทยาศาสตร์อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในสาขาด้านการแพทย์ ยา และเครื่องสำอาง ซึ่งแนวโน้มของกระแสโลกจะมีการต่อต้านการใช้สัตว์ทดลองมากขึ้น และนำมาซึ่งการกีดกันทางการค้าได้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงมีนโยบายที่จะลดการใช้สัตว์ทดลองและใช้วิธีการทางเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้แทน

เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ได้เป็นประธานแถลงข่าว “ความร่วมมือการทดสอบความปลอดภัยของยาและเครื่องสำอางโดยลดการใช้สัตว์ทดลอง พร้อมทั้งเยี่ยมชมโรงงานผลิตเครื่องสำอาง (ต้นแบบ) ศูนย์วิเคราะห์ทดสอบทางนาโนเทคโนโลยีขั้นสูง และหน่วยปฏิบัติการผลิต ผลิตภัณฑ์เพื่อเซลล์และยีนบำบัด ” ภายใต้ความร่วมมือ ของ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. หน่วยงานภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมี ดร. นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ ดร. ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการ วว. และ ศ. นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทค สวทช. ร่วมแถลงข่าว

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน และส่งออกผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพผิว (skin care) สูงสุดเป็นอันดับที่ 12 ของโลก อีกทั้งยังเป็นประเทศผู้ผลิตเครื่องสำอางเป็นอันดับที่ 17  มูลค่าทางการตลาดด้านเครื่องสำอางคิดเป็น 2 แสนห้าหมื่นล้านบาท และมีมูลค่าการส่งออก 1 แสนล้านบาท ด้วยอัตราการเจริญเติบโตมากถึง 8 – 10% ดังนั้นเพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการเครื่องสำอางของประเทศไทย สามารถเพิ่มมูลค่าการส่งออก และให้สามารถส่งออกไปขายยังกลุ่มสหภาพยุโรป รวมถึงประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย เช่น ประเทศอินเดีย ประเทศอิสราเอล ที่มีการประกาศยกเลิกการใช้สัตว์ทดลองสำหรับการทดสอบองค์ประกอบและผลิตภัณฑ์ เครื่องสำอางและการขายหรือการนำเข้า

ดังนั้น หน่วยงานภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ทั้ง 3 หน่วยงาน จึงผนึกกำลังเพื่อสร้างความร่วมมือการทดสอบความปลอดภัยของยาและเครื่องสำอาง โดยลดการใช้สัตว์ทดลอง ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมเครื่องสำอางในการนำเข้าและ ส่งออกเครื่องสำอางที่ได้มาตรฐานสากล หลังจากที่อียู (EU) ต้องการให้ทดแทน (Replacement) การใช้สัตว์ทดลองเป็นเป้าหมายหลัก  หากทดแทนไม่ได้ก็ให้ลดจำนวนการใช้ลง (Reduction) และต้องปฏิบัติต่อสัตว์ทดลองอย่างนุ่มนวลและไม่ทรมาน (Refinement) ให้มากที่สุด
ทั้งนี้ในอนาคตผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง จะใช้บริการต่างๆ ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อทดสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการส่งออกและเป็นที่ยอมรับกับมาตรฐานเดียวกันกับอียู และเป็นการสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรมได้อย่างยั่งยืนและเข้มแข็งมากขึ้น

ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (TCELS) กล่าวว่า ประเทศไทยได้ลงนามในข้อตกลง Agreement on ASEAN Harmonized Cosmetic Regulatory Scheme (AHCRS) และได้จัดทำบทบัญญัติเครื่องสำอางแห่งอาเซียน ซึ่งกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องควบคุมกำกับดูแลให้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่วางจำหน่ายต้องเป็นไปตามข้อตกลง ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการเครื่องสำอางของประเทศไทยสามารถเพิ่มมูลค่าการส่งออก และให้สามารถส่งออกไปขายยังกลุ่มสหภาพยุโรป รวมถึงประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย ที่มีการประกาศยกเลิกการใช้สัตว์ทดลอง และเพื่อให้ประเทศไทยเกิดความพร้อมและดำเนินการให้สอดคล้องกับ ASEAN Cosmetics Directive ตลอดจนให้เกิดการผลักดันสร้างความตระหนัก และสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาวิธีทางเลือกอื่นที่ไม่ใช้สัตว์ทดลอง (alternative methods) สำหรับการทดสอบความปลอดภัยและความเป็นพิษ ประกอบกับได้มีการหารือความร่วมมือกับบริษัท EPISKIN ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

ดังนั้น TCELS จึงหารือความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เป็นหน่วยงานให้บริการทดสอบทางพิษวิทยา และศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. เป็นหน่วยงานให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทางด้านนาโนเทคโนโลยี รวมทั้งการวิเคราะห์ทดสอบทางด้านนาโนเทคโนโลยี  ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงาน ได้พิจารณาถึงการใช้วิธีทดสอบมาตรฐานสากล และมีการใช้วิธีทางเลือก (alternative tests) โดยใช้เซลล์และแบบจำลองสามมิติของผิวหนังชั้นนอก ที่อ้างอิงตามมาตรฐานสากลของ OECD Guidelines ด้วย และความร่วมมือในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการผลักดันและสร้างความตระหนักใน เรื่องการทดสอบความปลอดภัยและความเป็นพิษต่อผิวหนังโดยวิธีทางเลือกอื่นที่ไม่ใช้สัตว์ทดลองให้เกิดในประเทศไทย โดยในปี 2559 จะมีการจัดประชุมวิชาการ The 1st Thailand Meeting on Alternatives to Animal Testing ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วนได้แก่ Part 1: New Paradigm and Alternative Methods in Skin Irritation Testing ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2559 Close Session Workshop “Alternative Methods with Training on Skin Irritation Test According to OECD TG439” ระหว่างวันที่ 13 – 14 กรกฎาคม 2559 และ Part II: Understanding and Acceptance of Alternative Methods ระหว่างวันที่ 24-25 สิงหาคม 2559 ทั้งนี้ในระยะยาวมีเป้าหมายในอนาคตให้เกิดผลิตภัณฑ์ชุดทดสอบหรือการให้บริการการทดสอบความปลอดภัยและความเป็นพิษ ใช้วิธีทางเลือก (alternative tests) ในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องสำอาง

alt

ศ. นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทางด้านนาโนเทคโนโลยี รวมทั้งการวิเคราะห์ทดสอบทางด้านนาโนเทคโนโลยี ซึ่งป็นหน่วยงานที่ได้นำวิธีทางเลือกทดแทนการใช้สัตว์ทดลองด้วยระบบสิ่งไม่มีชีวิต (in vitro) เช่น การใช้เซลล์เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสังเคราะห์ การสร้างแบบจำลองด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (computer simulation) มาทำการศึกษาและให้บริการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยด้านการก่อระคายเคืองต่อผิวหนังโดยใช้แบบจำลองสามมิติของผิวหนังชั้นนอก (RhE) ซึ่งได้การตรวจสอบและรับรองที่มีมาตรฐานสากล

“ในปีนี้ทางศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติจะมุ่งเน้นด้านการพัฒนาบุคลากรในการปฏิบัติงานด้านวิจัยและพัฒนาการทดสอบความเป็นพิษ/การระคายเคืองต่อผิวหนัง ด้วยการใช้เนื้อเยื่อผิวหนังชั้นนอกแบบสามมิติ (3D tissue construct) หรือ RhE ตามแนวทางมาตรฐานสากล และในปีต่อๆ ไปจะเป็นการวิจัยและพัฒนาเนื้อเยื่อแบบสามมิติที่มีความคงตัวทางกายภาพและการตอบสนองทางชีวภาพที่คล้ายคลึงกับผิวหนังชั้นนอกของมนุษย์ เพื่อใช้พัฒนาต่อยอดเป็นชุดทดสอบความเป็นพิษต่อผิวหนังและทำการศึกษาเปรียบ เทียบกับชุดทดสอบมาตรฐานที่ได้รับการรับรองแล้วต่อไป” ศ. นพ.สิริฤกษ์ กล่าว

ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า ทาง วว. มีความพร้อมในการทดสอบและวิจัยด้านพิษวิทยาโดยใช้เซลล์แทนการใช้สัตว์ทดลองแล้ว ทั้งที่อยู่ในงานวิจัย และงานบริการทดสอบด้วยเทคโนโลยีฟลูออเรสเซ็นต์ ซึ่งสามารถประเมินผลการทดสอบได้โดยเครื่องมือที่ทันสมัยสำหรับการวิจัยด้านการแพทย์ในระดับเซลล์และชีวโมเลกุล โดยสามารถวิเคราะห์การมีชีวิตของเซลล์ เพื่อติดตามเซลล์และโมเลกุลแบบระบบปิด บันทึกภาพต่อเนื่องด้วยชุดกล้องฟลูออเรสเซ็นต์ที่มีความเร็วสูง สามารถถ่ายภาพเป็นจำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งสามารถสนองตอบต่อการใช้เซลล์ทดแทนการใช้สัตว์ทดลองเพื่อทดสอบความเป็นพิษในงานวิจัยได้อย่างแม่นยำและและมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง

สำหรับ วว. จัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน BIO-Innovative Centre หรือ ศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม : โพรไบโอติกและพรีไบโอติก ประกอบด้วยห้องปฎิบัติการสำคัญด้าน “หน่วยวิจัยชีวภาพด้วยเซลล์ : Cell-Based Research Unit (CBRU)” ซึ่งเป็นห้องปฎิบัติการที่เป็นระบบ Clean room ที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพระดับ 2 (Biosafety Level 2) ที่มีศักยภาพสำหรับรองงรับการทดสอบความปลอดภัยของยาและองค์ประกอบของเครื่องสำอางได้ในระดับสากล

ภายหลังการแถงข่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้เข้าเยี่ยมชม ต้นแบบโรงงานผลิตเครื่องสำอางมาตรฐาน GMP ของศูนย์นาโนเทค ซึ่งพร้อมให้บริการสนับสนุนภาคเอกชนโดยที่ลงทุนจัดตั้งศูนย์วิเคราะห์ทดสอบกลางและจัดตั้งโรงงานต้นแบบในระดับ Pilot Scale เพื่อทดลองผลิตแก่ผู้ประกอบการภาคเอกชนภาคอุตสาหกรรม, SMEs และ OTOP ในรูปแบบ One-Stop Service ก่อนการลงทุนผลิตในระดับอุตสาหกรรมจริง อาทิ ให้บริการผลิตอนุภาคนาโน เครื่องสำอาง และเวชสำอาง ในระดับทดลองผลิตก่อนผลิตระดับอุตสาหกรรมจริง ตามมาตรฐาน ASEAN GMP การให้บริการวิเคราะห์คุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ ตามมาตรฐาน ASEAN GMP เพื่อการยื่นขอรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์และการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ ช่วยยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย ซึ่งจะส่งผลต่ออัตราจ้างงานในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางที่มีมากกว่า 1 ล้านอัตรา

การริเริ่มของหน่วยงานในกระทรวงวิทย์ฯ ทั้ง 3 หน่วยงานครั้งนี้ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นในการผลักดันให้เกิดการต่อยอดผลงานวิจัยสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุดทดสอบหรือการให้บริการการทดสอบความปลอดภัยและความเป็นพิษต่อผิวหนังโดยวิธีทางเลือกอื่นที่ไม่ใช้สัตว์ทดลองให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อสร้างขีดความสามารถให้อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมไทยที่ได้มาตรฐานเดียวกับระดับโลก

4 ส.ค. 2559
0
แชร์หน้านี้: