หน้าแรก ศูนย์ SMC สวทช. “ตอบโจทย์การผลิตยุคใหม่ พัฒนาไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0”
ศูนย์ SMC สวทช. “ตอบโจทย์การผลิตยุคใหม่ พัฒนาไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0”
23 ธ.ค. 2564
0
30 ปี สวทช.
BCG
THAILAND 4.0
ข่าว
ข่าว 30 ปี สวทช.
บทความ

 

ปัจจุบันทั่วโลกต่างมุ่งยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศสู่อุตสาหกรรม 4.0 หรือยุคที่เครื่องจักรแต่ละเครื่องสามารถสื่อสารถึงกันและกัน (Cyber-physical System) และสื่อสารกับมนุษย์ได้แบบเรียลไทม์ เพื่อให้ผู้ดูแลระบบสามารถตรวจสอบและสั่งการการทำงานของเครื่องจักรได้สะดวกจากทุกที่ทุกเวลา ลดขั้นตอนการทำงาน ลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นในระบบ และยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสายการผลิตอีกด้วย อย่างไรก็ตามการจะยกระดับภาพรวมอุตสาหกรรมของประเทศสู่ระดับ 4.0 ได้อย่างยั่งยืนจะต้องอาศัยความพร้อมจากหลายด้านทั้งผู้ประกอบการ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี แรงงานทักษะสูง และเงินทุน ดังนั้นแต่ละประเทศจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมอยู่เสมอ

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ดำเนินการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) ภายใต้การดำเนินงานเมืองนวัตกรรมหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และระบบอัจฉริยะ (ARIPOLIS) เขตนวัตกรรมเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของเนคเทคมาให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุนการยกระดับอุตสาหกรรมไทยด้วยแนวคิด เข้าถึงง่าย ใช้งานได้จริง และมีราคาที่จับต้องได้

โดยการดำเนินงานของศูนย์ SMC ประกอบด้วย 5 ด้านหลัก คือ การประเมินความพร้อมของอุตสาหกรรมให้แก่ผู้ประกอบการ (Assess) การให้คำปรึกษาเรื่องการเลือกใช้เทคโนโลยี (Consult) การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการยกระดับอุตสาหกรรม (Implement) การให้บริการเครื่องมือทดสอบระบบ (Testbed) และการพัฒนากำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญ (Training) ทั้งนี้ในขณะที่พื้นที่ EECi กำลังดำเนินการก่อสร้างและคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการได้ในปี 2565 ศูนย์ SMC ได้นำร่องการให้บริการก่อนแล้วตั้งแต่ปี 2563 ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี

 

 

ศูนย์ SMC ดูแลส่งเสริมผู้ประกอบการสู่อุตสาหกรรม 4.0 ด้วยความเข้าใจ

แม้โลกจะก้าวสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 แต่ภาพรวมอุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 3.0 และยากต่อการยกระดับ เนื่องด้วยปัญหาสำคัญ คือ ผู้ประกอบการไม่รู้ถึงปัญหาและสิ่งที่ควรพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ขาดความรู้ความเข้าใจในการยกระดับอุตสาหกรรม รวมถึงเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนและการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ต่างๆ

 

ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC)

 

ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) กล่าวว่า SMC ตระหนักถึงปัญหาที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญ จึงมีเป้าหมายหลักที่จะช่วยดูแล ส่งเสริม และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการแบบครบวงจรหรือ One Stop Service เพื่อให้เกิดการดูแลที่ต่อเนื่องและเป็นการดูแลด้วยความเข้าอกเข้าใจ

“3 ขั้นตอนหลักในการช่วยเหลือยกระดับอุตสาหกรรม คือ 1) ช่วยประเมินความพร้อมของสถานประกอบการ ทั้งด้านเทคโนโลยี ทรัพยากรมนุษย์ และการเงิน ผ่านตัวชี้วัดอุตสาหกรรม Thailand i4.0 Index[1] เพื่อช่วยแนะนำการแก้ปัญหาหรือยกระดับอุตสาหกรรมตามลำดับความสำคัญ 2) ให้ความรู้และให้คำปรึกษาเรื่องการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม รวมถึงช่วยแนะนำผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบและพัฒนาระบบ (System Integrator: SI) 3) ช่วยแนะนำแหล่งเงินทุนและสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมในการยกระดับอุตสาหกรรม ทั้งในรูปแบบการสนับสนุนเงินทุนและสินเชื่อจากสถาบันการเงินต่างๆ”

 

 

ศูนย์ SMC พัฒนา Platform Solution หนุนเสริมการยกระดับอุตสาหกรรมไทย

โดยทั่วไปการยกระดับอุตสาหกรรมผู้ประกอบการหรือองค์กรจะดำเนินการว่าจ้าง SI หรือหน่วยงานวิจัยเพื่อช่วยเหลือเรื่องการพัฒนาระบบหรือเทคโนโลยีในรูปแบบ Custom Solution หรือการว่าจ้างเพื่อพัฒนางานของตนโดยเฉพาะ เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการมากที่สุด ซึ่งวิธีนี้จะเหมาะแก่ผู้ที่มีเงินทุนและความพร้อมสูง SMC ตระหนักถึงความสำคัญของการยกระดับอุตสาหกรรมแบบทั่วถึงทั้งประเทศ SMC จึงได้มุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีแบบ Platform Solution หรือการออกแบบและพัฒนาระบบให้เหมาะกับการแก้ปัญหาพื้นฐานในโรงงานทั่วไปควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) ที่มีโรงงานขนาดกลางและเล็ก สามารถเข้าถึงการยกระดับโรงงานอุตสาหกรรมได้เช่นกัน และเหมาะแก่การขยายผลในระดับประเทศอย่างแท้จริง

ดร.พนิตา อธิบายว่าที่ศูนย์ SMC มีการให้บริการทั้งรูปแบบ Custom Solution และ Platform Solution เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการและความพร้อมของผู้ประกอบการหรือองค์กรมากที่สุด ตัวอย่างงาน Custom Solution ที่นักวิจัยได้ให้บริการไปแล้ว เช่น การพัฒนาระบบส่งกำลังและระบบขับเคลื่อนในต้นแบบเรือไฟฟ้าให้แก่บริษัทสกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด การพัฒนาหุ่นยนต์ตรวจสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการพัฒนาระบบวิเคราะห์เสียงน้ำรั่วด้วยปัญญาประดิษฐ์และบริหารจัดการข้อมูลผ่านเครือข่ายระบบคลาวด์ให้แก่การประปานครหลวง

“ส่วนทางด้าน Platform Solution ที่ศูนย์ SMC ได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรในการพัฒนา และได้นำร่องการให้บริการแก่ผู้ประกอบการไทยแล้วคือ แพลตฟอร์ม IDA (Industrial IoT and Data Analytics Platform)[2] แพลตฟอร์มเพื่อส่งเสริมการใช้งานระบบ Industrial Internet of Things (IIoT) ในโรงงาน โดยเป็นการติดตั้งระบบ Internet of Things (IoT) ให้กับอุปกรณ์ที่มีการใช้งานทั่วไปในโรงงานส่วนใหญ่ เช่น หม้อต้ม เครื่องทำความเย็น และเครื่องอัดอากาศ เพื่อให้ผู้ดูแลระบบสามารถตรวจสอบประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงาน (Energy Efficiency Monitoring) ผ่านแดชบอร์ดแบบเรียลไทม์จากทุกที่ทุกเวลา เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์ วางแผนการทำงาน และพัฒนาให้ระบบภายในโรงงานมีการทำงานที่มีประสิทธิภาพและเกิดการอนุรักษ์พลังงาน[3]

ทั้งนี้ผู้ประกอบการที่สนใจใช้งานแพลตฟอร์ม IDA ไม่ต้องเป็นกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการใช้งานระบบ IIoT เพราะศูนย์ SMC ได้พัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องไว้รองรับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อาทิ เทคโนโลยีการเชื่อมต่อการทำงานของเครื่องจักรด้วยระบบ IIoT (IIoT Connectivity and Interoperability) สำหรับใช้เชื่อมต่อเครื่องจักรที่ควบคุมการทำงานด้วยระบบ PLC (Programmable Logic Controller) ซึ่งเทคโนโลยีนี้สามารถเชื่อมต่อการทำงานของเครื่องจักรแบบดั้งเดิมได้ ผู้ประกอบการจึงไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่ นอกจากนี้ยังมีระบบ IoT คลาวด์แพลตฟอร์ม NETPIE[4] ซึ่งให้บริการฟรีแก่ผู้ประกอบการไทยมาตั้งแต่ปี 2558 เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนเรื่องเซิฟเวอร์และผู้ดูแลระบบอีกด้วย

 

ชุดสาธิตการเชื่อมต่อและการทำงานร่วมกันของเครื่องจักรด้วย IIoT

 

อีกตัวอย่างเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาไว้รองรับ คือ ชุดทดสอบมอเตอร์และระบบส่งกำลัง (Motor and Transmission System) สำหรับใช้พยากรณ์สถานะของมอเตอร์ เพื่อให้ผู้ดูแลระบบรับทราบการพยากรณ์ความเสียหายของเครื่องจักรล่วงหน้า และสามารถบำรุงรักษาเชิงรุกเพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นต่อสายการผลิตได้”

ดร.พนิตา เสริมว่า นอกจากการให้บริการเทคโนโลยี Platform Solution ปัจจุบันศูนย์ SMC ยังมีการบริการอบรมให้ความรู้เรื่องที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม 4.0 เช่น การใช้งานชุดระบบควบคุมอัตโนมัติและ IIoT ในงานอุตสาหกรรม และการนำระบบดิจิทัลลีนมาช่วยลดความสูญเสียและเพิ่มประสิทธิภาพในสายการผลิต โดยทั้งหมดที่กล่าวถึงนี้มีการจัดให้ความรู้ คำแนะนำ และมี Testbed ให้บริการแล้วที่ศูนย์การเรียนรู้ SMC อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

 

ชุดทดสอบมอเตอร์และระบบส่งกำลัง (Motor and Transmission System)

 

ชุดระบบควบคุมอัตโนมัติและ IIoT ในงานอุตสาหกรรม

 

 

เตรียมพร้อมให้บริการอย่างเต็มรูปแบบที่ EECi – ARIPOLIS  

นอกจากการพัฒนา Platform Solution ที่เกี่ยวกับระบบ IIoT เพื่อมุ่งพาอุตสาหกรรมไทยก้าวข้ามสู่ยุค 4.0 แล้ว ศูนย์ SMC ยังมุ่งมั่นพัฒนาอีกหลากหลาย Platform Solution ที่เกี่ยวกับระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อให้บริการส่งเสริมการยกระดับอุตสาหกรรมอย่างเต็มรูปแบบที่เมืองนวัตกรรม ARIPOLIS เขตนวัตกรรมเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)

ดร.พนิตา อธิบายว่า เมื่อมีการเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบที่เมืองนวัตกรรม ARIPOLIS ศูนย์ SMC จะเปิดให้บริการในรูปแบบสมาชิก (Membership) แก่ผู้ประกอบการโรงงาน SI  ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเทคโนโลยี นักวิจัย อาจารย์ นักศึกษา และผู้ที่สนใจ เพื่อสร้างระบบนิเวศในการดำเนินงานยกระดับอุตสาหกรรมไทย

 

 

“ตัวอย่างเทคโนโลยีที่จะมีให้บริการเพิ่มเติมที่ EECi เช่น เทคโนโลยีคลังสินค้าสมัยใหม่ เทคโนโลยีระบุตำแหน่งในอาคาร เทคโนโลยีหุ่นยนต์ให้บริการ เทคโนโลยีการผลิตแบบ Mass Customization หรือการปรับให้เครื่องจักรมีความยืดหยุ่นสามารถผลิตสินค้าได้หลายชนิดในเครื่องจักรเดียว และเทคโนโลยีอัตโนมัติสำหรับเกษตรสมัยใหม่ ฯลฯ ส่วนตัวอย่างงานบริการที่จะมีการเปิดให้บริการเพิ่มเติมอย่างเต็มรูปแบบ เช่น Testbed สำหรับทดสอบมอเตอร์ไฟฟ้า และระบบที่จำเป็นในยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อรองรับการมาของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และบริการทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยไซเบอร์สำหรับระบบหรืออุปกรณ์ภายในโรงงานอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ในอนาคตศูนย์ SMC ยังมีแนวคิดที่จะเชิญผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเทคโนโลยีเพื่อการใช้งานในอุตสาหกรรม (Vendor) มาจัดตั้ง Testbed ในพื้นที่ เพื่อให้สมาชิกที่สนใจได้ทดลองใช้งาน ทั้งเพื่อการศึกษาหาความรู้ และใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกสรรเทคโนโลยีไปใช้งานจริงที่โรงงาน”

 

สร้างคน สร้างงาน สร้างอุตสาหกรรมชั้นแนวหน้า

นอกจากการพัฒนาเทคโนโลยีและการให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน อีกหนึ่งเป้าหมายหลักในการทำงานของศูนย์ SMC คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้พร้อมรับการขยายการเติบโตของอุตสาหกรรมไทยที่ปัจจุบันมีมากกว่า 140,000 โรงงาน

ดร.พนิตา อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า ศูนย์ SMC มีความมุ่งมั่นที่จะนำความรู้ความเชี่ยวชาญมาดำเนินกิจกรรมพัฒนากำลังคนคู่ขนานไปกับการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมอยู่เสมอ นับตั้งแต่เปิดให้บริการมา 1 ปี ศูนย์ SMC ได้ดำเนินงานจัดกิจกรรมให้ความรู้ (Training) แก่ SI ผู้ประกอบการ อาจารย์ และนักศึกษา มาแล้วหลายโครงการ รวมผู้เข้าร่วมอบรมมากกว่า 2,300 คน ตัวอย่างกิจกรรมที่มีการจัดงานไปแล้ว เช่น การอบรม “Industrial Automation Training Systemsให้แก่บุคลากรในโรงงานอุตสาหกรรม การอบรม “การพัฒนาทักษะด้าน Industrial Internet of Things (IIoT) แบบเข้มข้น”​ ให้แก่บุคลากรอาชีวศึกษา และการอบรม AI Innovation JumpStart ให้แก่นักพัฒนาซอฟต์แวร์และเทคโนโลยี

 

 

ดร.พนิตา ทิ้งท้ายว่า การเตรียมความพร้อมเรื่องการพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในทุกสถานการณ์ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือทำอย่างไรให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งในมิติที่โรงงานมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยี มิติของการพึ่งพาเทคโนโลยีภายในประเทศ และมิติของการทำอุตสาหกรรมในรูปแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) พร้อมแล้วที่จะเดินหน้าสนับสนุนการยกระดับอุตสาหกรรมไทย ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและติดต่อขอรับบริการได้ที่ : www.nectec.or.th/smc  

 


รายละเอียดเพิ่มเติม

[1] Thailand i4.0 Index คือ ดัชนีชี้วัดความพร้อมของอุตสาหกรรม 4.0 สำหรับประเทศไทย (รายละเอียดเพิ่มเติม : https://bit.ly/3HCzYg8)

[2] ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับแพลตฟอร์ม IDA (Industrial IoT and data analytics platform) ได้ที่ https://bit.ly/3EKqyx6

[3] การอนุรักษ์พลังงาน คือ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า เพื่อลดการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด

[4] NETPIE คือระบบคลาวด์ (Cloud computing) สัญชาติไทยที่พัฒนาโดย NECTEC สวทช. ปัจจุบันได้ผ่านการยกระดับจากห้องวิจัยไปสู่การให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ (Spin-off) แล้วในนามบริษัทเน็กซ์พาย จำกัด (NEXPIE Co. Ltd.) ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ให้การสนับสนุนการให้บริการระบบคลาวด์ NETPIE ฟรีตลอดชีพแก่นักเรียน นักศึกษา นักพัฒนา และภาคอุตสาหกรรมไทย ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : http://netpie.io/

 


เรียบเรียงโดย : ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์คโดย : ภัทรา สัปปินันทน์ และเนคเทค สวทช.

แชร์หน้านี้: