หน้าแรก จดหมายข่าว สวทช. ปี 2 ฉ.5 – ก.วิทย์ สวทช. จับมือพันธมิตร ร่วมจัดงาน “เทคโนโลยีชิ้นส่วนยานยนต์ 2559 (Auto Parts Tech Day 2016)”
จดหมายข่าว สวทช. ปี 2 ฉ.5 – ก.วิทย์ สวทช. จับมือพันธมิตร ร่วมจัดงาน “เทคโนโลยีชิ้นส่วนยานยนต์ 2559 (Auto Parts Tech Day 2016)”
4 ส.ค. 2559
0
จดหมายข่าว สวทช. ย่อย

alt

alt

ก.วิทย์ สวทช. จับมือพันธมิตร ร่วมจัดงาน “เทคโนโลยีชิ้นส่วนยานยนต์ 2559 (Auto Parts Tech Day 2016)” พร้อมโชว์ศักยภาพเทคโนโลยีการผลิตและนวัตกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทย

alt

ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย – กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จับมือพันธมิตร จัดงาน “เทคโนโลยีชิ้นส่วนยานยนต์ ประจำปี 2559 (Auto Parts Tech Day 2016)” ระหว่างวันที่ 28 – 29 กรกฏาคม 2559 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี ประกอบด้วยการแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทย อุตสาหกรรมการบิน และยานยนต์ไฟฟ้าจากภาครัฐ เอกชน และการศึกษา นอกจากนี้ยังมีการบรรยายพิเศษและเสวนาโดย วิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากภาคอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ

alt

ดร.ดำริ สุโขธนัง ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนนั้น นับว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ได้ลงรากฐานในประเทศไทยมาเป็นเวลานานและมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด  ทั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายโดยผ่านทางกลไกต่างๆ ของรัฐ เช่น มอบหมายให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมให้ประเทศ ไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า การมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกันพิจารณาดำเนินการผลิตผลงานวิจัยยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการพัฒนาแบตเตอรี่และมอเตอร์ หรือระบบขับเคลื่อนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

สำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้ประสบความสำเร็จนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจังจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นเพื่อให้เกิดแรงขับเคลื่อนทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งในส่วนอุปสงค์พบว่า แม้ในประเทศที่พัฒนาแล้วก็ต้องมีการกระตุ้นการสร้างตลาดสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ อาทิ มาตรการอุดหนุนเพื่อจูงใจการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า การกำหนดเขตปลอดมลพิษ เป็นต้น สำหรับประเทศไทย จำเป็นต้องพิจารณามาตรการที่เหมาะสม ซึ่งในปัจจุบันได้ส่งเสริมและกระตุ้นตลาดโดยใช้กลไกต่างๆ เช่น ในกรณีขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้นำร่องในการจัดซื้อรถโดยสารไฟฟ้าจำนวนหนึ่ง รวมไปถึงการที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) นำร่องเปิดสถานีประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าจำนวน 20 จุด เป็นต้น และในส่วนของอุปทานพบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการที่มีการประกอบยานยนต์ไฟฟ้าและจัดจำหน่ายในตลาดแล้วจำนวนหนึ่ง เช่น รถโดยสารจักรยานยนต์ สามล้อ ซึ่งเป็นตลาดเฉพาะที่ไม่ได้แข่งขันกับค่ายรถยนต์หลักที่เป็นบริษัทข้ามชาติ
  นอกจากนี้ผู้ผลิตไทยก็ยังมีข้อจำกัดในด้านความสามารถทางเทคโนโลยีที่ยังไม่สามารถผลิตชิ้นส่วนหลักที่ถือเป็นหัวใจของยานยนต์ไฟฟ้าคือ แบตเตอรี่และระบบขับเคลื่อน ซึ่งผู้ผลิตยังต้องนำเข้าชิ้นส่วนเหล่านี้มาใช้ในการประกอบรถ  และอีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือ โครงสร้างพื้นฐานสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ที่มีครอบคลุมถึงกฎระเบียบ มาตรฐานต่างๆ การบริหารจัดการการจ่ายไฟฟ้าและสถานีประจุไฟฟ้า เป็นต้น
สำหรับในส่วนอุตสาหกรรมการบิน คนส่วนมากมักจะทราบเพียงว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางคมนาคมและการขนส่งทางอากาศ แต่ไม่รู้ว่าประเทศไทยยังมีศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานมาตรฐานสากล เช่น ศูนย์ซ่อมบำรุงที่ดูแลโดยฝ่ายซ่อมใหญ่อากาศยาน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รวมถึงมีผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์สนับสนุนอุตสาหกรรมการบินจำนวนหนึ่งแล้ว ด้วย เช่น บริษัท ซีเนียร์ แอโรสเปซ (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท ไลสตริทส์ (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท ซี.ซี.เอส. แอดวานซ์ เทค จำกัด, บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด เป็นต้น
  ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนได้ลงรากฐานในประเทศไทยมากว่า 40 ปี และเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนเป็นอย่างมาก และมีการกำหนดให้อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคตเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ของประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-curve) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า

alt

สวทช. ให้ความสำคัญในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมาโดยตลอด ที่ผ่านมาได้สนับสนุนองค์ความรู้และเทคโนโลยีในการพัฒนากระบวนการผลิต เช่น การออกแบบทางวิศวกรรมเพื่อขึ้นรูปและการออกแบบแม่พิมพ์สำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ประเภทพลาสติก ยาง อลูมิเนียม และโลหะต่างๆ  การวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างองค์ความรู้และต้นแบบระบบและชิ้นส่วนในยานยนต์ไฟฟ้า เช่น แบตเตอรี่ลิเทียม ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ มอเตอร์ สถานีประจุไฟฟ้า และการวิเคราะห์ทดสอบต่างๆ  
นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญต่อการวิจัยและพัฒนาเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอีกด้วย อาทิ เซลล์เชื้อเพลิง Supercapacitor การรีไซเคิลแบตเตอรี่ กระบวนการผลิตแบบดิจิทัล เป็นต้น เพื่อสนับสนุนให้อุตสาหกรรมนี้พัฒนาได้อย่างกว้างขวางและเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันและรายได้ให้กับประเทศ”
 ภายในงานเทคโนโลยีชิ้นส่วนยานยนต์ 2559 (Auto Parts Tech Day 2016) ครั้งนี้ ประกอบด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่น การบรรยายพิเศษและสัมมนา นิทรรศการแสดงผลงานนวัตกรรม ซึ่งเป็นการจัดแสดงยานยนต์ไฟฟ้าจากค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่และยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงซึ่งเป็นผลงานของนักวิจัยและประชาชนทั่วไป ผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรางวัลจากภาคการศึกษา และการแสดงผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และชิ้นส่วน รวมไปถึงชิ้นส่วนอากาศยาน และยังเปิดให้มีการเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการและหน่วยบริการวิเคราะห์ทดสอบภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย และการสัมผัสและทดลองยานยนต์ไฟฟ้าด้วย

4 ส.ค. 2559
0
แชร์หน้านี้: