วิกฤตการณ์การระบาดโรคโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรือแม้แต่สถานการณ์โลกที่กำลังเข้าสู่ศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ ล้วนเป็นตัวเร่งให้ประชาชนหันมาตระหนักถึงการใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น ส่งผลให้ เทรนด์ ‘ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพ’ และ ‘อาหารฟังก์ชัน (Functional Food)’ ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย สร้างโอกาสทองให้ผู้ประกอบการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพออกมาจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง หากแต่ผู้บริโภคจะมั่นใจได้อย่างไรว่าผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเหล่านั้นมีคุณภาพดีและปลอดภัยสมตามสรรพคุณที่กล่าวอ้างจริง
แน่นอนว่าผลงานการศึกษาวิจัยคือหลักฐานสำคัญที่จะยืนยันในเรื่องนี้ ทว่าการลงทุนทำวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงการวิจัยเชิงคลินิกนั้นต้องใช้ทั้งเวลาและทรัพยากรซึ่งมีต้นทุนค่อนข้างสูง จึงอาจเป็นข้อจำกัดหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ด้วยเหตุนี้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS ได้จัดทำ ‘โครงการการวิจัย พัฒนา และทดสอบทางคลินิกสำหรับอาหารฟังก์ชัน’ เพื่อสนับสนุนบ่มเพาะผู้ประกอบการไทยในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชันและการวิจัยทางคลินิก ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจและความเชื่อมั่นถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชันได้
รัฐร่วมเอกชนวิจัยพัฒนา ‘นวัตกรรมอาหารฟังก์ชัน’
อาหารฟังก์ชัน หรือ Functional Foods คืออาหารที่ประกอบด้วยสารสำคัญหรือสารออกฤทธิ์ที่ไม่ได้มีเพียงคุณค่าทางโภชนาการพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ยังมีส่วนช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ได้ เช่น ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดคอเรสเตอรอล เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ฟื้นฟูสภาพร่างกาย อาหารฟังก์ชันยังรวมถึงการพัฒนาอาหารที่มีความเหมาะสมกับผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม เช่น ผู้สูงอายุ โดยกลไกที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการพัฒนายกระดับวัตถุดิบที่มีสู่ผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชันได้สำเร็จคือ ‘การวิจัยพัฒนา’
รศ. ดร.สุวิมล ทรัพย์วโรบล ภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่า โครงการการวิจัย พัฒนา และทดสอบทางคลินิกสำหรับอาหารฟังก์ชัน นับเป็นโครงการดีๆ ที่เข้ามาช่วยให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารได้มีโอกาสมาร่วมวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารฟังก์ชันร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ จากหน่วยงานภาครัฐหรือสถาบันการศึกษา
“ขั้นตอนการทำงานคือผู้ประกอบการจะมีวัตถุดิบและโจทย์ที่สนใจอยู่แล้วว่าอยากพัฒนาอาหารฟังก์ชันแบบใด เพื่อใช้กับกลุ่มเป้าหมายใด เมื่อทีมวิจัยได้รับโจทย์มาก็จะศึกษาเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ยกตัวอย่างโครงการที่ได้ดำเนินการร่วมกับบริษัทไบโอบอร์น จำกัด ทางผู้ประกอบการมีโจทย์ว่า มีวัตถุดิบคือผงไข่ขาว หรือ อัลบูมินอยู่ และต้องการพัฒนาเป็นอาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยล้างไต พอได้โจทย์แบบนี้ สิ่งที่นักวิจัยต้องทำคือศึกษาข้อมูลก่อนว่า ผู้ป่วยล้างไตต้องการพลังงานปริมาณเท่าไหร่ นอกจากโปรตีนจากไข่ขาวแล้ว
ยังต้องการสารอาหารอะไรในปริมาณสูง หรือต้องจำกัดสารอาหารประเภทใด เพื่อวางแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่เหมาะสม”
ความท้าทายในการวิจัยไม่ใช่เพียงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ตอบโจทย์ผู้ประกอบการเท่านั้น แต่ตัวผลิตภัณฑ์ยังต้อง ‘ได้รับความพึงพอใจ’ จากกลุ่มเป้าหมาย และตรงตามความต้องการของตลาด
“ทีมวิจัยต้องไปดูด้วยว่ากลุ่มผู้ป่วยล้างไตชอบรสชาติแบบใด ต้องนำอัลบูมินมาเติมสารอาหารอะไรบ้าง เติมรสชาติอย่างไร ความเข้มข้นเท่าไหร่ กระทั่งเมื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบเสร็จ เรามีการนำไปทดสอบกับกลุ่มคนปกติก่อนว่า รสชาติ ความข้นหนืด เป็นที่ยอมรับได้หรือไม่ ถ้าเป็นที่ยอมรับจะนำไปทดสอบในผู้ป่วยล้างไตอีกครั้งว่า ผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมา ซึ่งปัจจุบันมี 5 รสชาติ และมีทั้งรูปแบบชงดื่มและซุปนั้น ผลิตภัณฑ์แบบใด รสชาติแบบไหน ที่เข้ากับผู้ป่วยล้างไตได้ดีที่สุด”
ผลจากการร่วมวิจัยนำมาสู่ ผลิตภัณฑ์ Albupro Plus ซุปไข่ขาวสำหรับผู้ป่วยล้างไต ชนิดผง ซุปจากไข่ขาวเจ้าแรกในท้องตลาด โดยใช้ไข่ขาวสกัดด้วยกระบวนการพิเศษ ขจัดสารอะวิดินและไลโซไซม์ ทำให้ไม่ขัดขวางกระบวนการดูดซึมวิตามินบี รวมถึงมีโปรตีนอัลบูมินสูง ตรงตามความต้องการของผู้ป่วยล้างไต
รศ. ดร.สุวิมล เล่าว่า จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ Albupro Plus คือเป็นผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ที่ออกแบบมาเพื่อผู้ป่วยล้างไตโดยเฉพาะ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ไม่ได้มีแค่โปรตีนสูง แต่ยังมีสารอาหารครบถ้วนทั้งคาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน เกลือแร่ ในปริมาณที่เหมาะสม ตอบโจทย์ผู้ป่วยล้างไตที่มักจะเกิดภาวะ
ทุพโภชนาการ อีกทั้งยังมีรสชาติอร่อย รับประทานง่าย และเป็นที่พึงพอใจของกลุ่มผู้ป่วย
“การที่ ITAP สวทช. และ TCELS สนับสนุนทุนวิจัยให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้วิจัยร่วมกัน มีส่วนสำคัญอย่างมากในการผลักดันให้ผลงานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์ได้จริง ไม่ต้องเก็บไว้บนหิ้ง อีกทั้งผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชันที่เกิดขึ้นยังเกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ อุตสาหกรรมผู้ผลิตไข่ก็ได้รับประโยชน์ ผู้ประกอบการได้ผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ผู้ป่วยล้างไตได้รับผลิตภัณฑ์ที่ดี มีสารอาหารครบถ้วนในการเสริมโภชนาการ ขณะที่นักวิจัยก็ได้ใช้ความรู้ความสามารถในการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์”
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ Albupro Plus อยู่ระหว่างการขอรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการวิจัยทางคลินิก (Clinical Trial) ในกลุ่มผู้ป่วยโรคไตของโครงการฯ ต่อไป
‘วิจัยเชิงคลินิก’ พิสูจน์คุณภาพผลิตภัณฑ์
ทุกวันนี้คุณประโยชน์หรือสรรพคุณของอาหารฟังก์ชันและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพส่วนใหญ่ล้วนมาจากการอ้างอิงงานวิจัยหรือข้อมูลสารสำคัญที่ใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์นั้นๆ เช่น หากผลิตภัณฑ์มีส่วนประกอบของขิง จะเชื่อว่ามีส่วนช่วยในการย่อยอาหาร ลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผลิตภัณฑ์จะมีผลต่อร่างกายเช่นนั้นจริงหรือไม่ ต้องอาศัย ‘การวิจัยทางคลินิก’
ผศ. ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล ภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าว่า การนำผลงานวิจัยถึงสารสำคัญต่างๆ มาใช้อ้างอิงไม่สามารถยืนยันได้ถึงประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ได้ทั้งหมด เพราะอย่าลืมว่าในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ผู้ประกอบการจะนำสาระสำคัญหรือวัตถุดิบ ซึ่งมีที่มาแตกต่างกัน มาผสมกับส่วนผสมต่างๆ และยังผ่านกระบวนการผลิต รวมถึงการเก็บรักษาที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นผลที่เกิดขึ้นต่อร่างกายอาจจะแตกต่างกันไปด้วย การวิจัยเชิงคลินิกกับผลิตภัณฑ์โดยตรงจึงเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ มีผลต่อร่างกายตามที่ตั้งเป้าไว้หรือไม่
“งานวิจัยเชิงคลินิกเป็นงานวิจัยที่ศึกษาในมนุษย์ เป็นการศึกษาว่าหลังจากที่รับประทานอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งเข้าไปแล้ว ในระยะเวลาต่างๆ อาจเป็นการศึกษากลไกการดูดซึมหรือศึกษาผลที่เกิดขึ้นหลังจากได้รับเข้าไปแล้วระยะเวลาหนึ่ง เช่น 30 วัน 60 วัน หรือ 120 วัน จะมีผลเปลี่ยนแปลงต่อระบบต่างๆ ของร่างกายอย่างไรบ้าง มีความปลอดภัยหรือไม่ มีผลต่อตับ ไต หรือเปล่า ยกตัวอย่างโครงการที่ทีมวิจัยทำร่วมกับบริษัทฟอร์แคร์ จำกัด ภายใต้การสนับสนุนของ ITAP และ TCELS ต้องการวิจัยว่าผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มดาร์กช็อกโกแลตผสมคาเคาออร์แกนิก (เมล็ดโกโก้ดิบ) มีผลช่วยพัฒนาในเรื่องของการผ่อนคลายสมอง ร่างกาย และช่วยให้ความทรงจำได้ดีขึ้นตามเป้าหมายที่ต้องการหรือไม่”
ในการทำงาน ทีมวิจัยได้ร่วมกันวางแผนออกแบบกระบวนการวิจัยเชิงคลินิกซึ่งต้องมีความรอบคอบอย่างมาก รวมทั้งยังมีการทดสอบและเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้ชีวิต รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายในส่วนต่างๆ จากอาสาสมัครต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์
“กลุ่มอาสาสมัครจะต้องบันทึกข้อมูลต่างๆ เช่น การรับประทานอาหาร การขับถ่าย การนอนหลับ รวมทั้งเรามีการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น ความจำ การเปลี่ยนแปลงของการรับรู้ การตอบสนองของสมอง การเปลี่ยนแปลงของสารชีวเคมีต่างๆ เช่น ระดับคอเลสเตอรอล ไขมัน ตัวชี้วัดการอักเสบของร่างกายอย่างต่อเนื่องเพื่อใช้วิเคราะห์ผล ซึ่งผลการวิจัยในเชิงคลินิกของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มดาร์กช็อกโกแลตผสมคาเคาออร์แกนิกที่นำมาทดสอบพบว่า ได้ผลค่อนข้างดี ที่เห็นได้ชัดคือช่วยให้ความจำดีขึ้น ความเหนื่อยล้าลดลง ความดันโลหิตลดลง แต่ก็ยังมีบางอย่างที่ยังไม่เห็นผลชัดเจนตามที่ผู้ประกอบการตั้งเป้าไว้ ซึ่งทีมวิจัยได้ให้คำแนะนำถึงแนวทางปรับสูตรเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้ตามเป้าหมายในอนาคต”
อย่างไรก็ดีกว่าจะได้ผลวิจัยเชิงคลินิกของผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นไม่ใช่เรื่องง่าย ผศ. ดร.ฉัตรภา สะท้อนถึงความยากในการวิจัยให้ฟังว่า ด้วยเป็นงานวิจัยในมนุษย์จึงต้องผ่านคณะกรรมการจริยธรรมก่อน ถึงจะทำการทดสอบได้ ซึ่งกว่างานวิจัยจะผ่านออกมาได้ต้องมีการตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีความปลอดภัย มีงานวิจัยที่รองรับสนับสนุน อีกทั้งกระบวนการต่างๆ มีทั้งการเจาะเลือด การบันทึกผลอย่างละเอียด ผู้เข้าร่วมโครงการต้องให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี การออกแบบงานวิจัยต้องมีความรัดกุม กลุ่มเป้าหมายต้องมีจำนวนมากพอ เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วนตามที่ต้องการและมีความน่าเชื่อถือ
“กระบวนการวิจัยเชิงคลินิกต้องใช้ระยะเวลานานและมีค่าใช้จ่ายในงานวิจัยสูง จึงเป็นเรื่องยากในการลงทุนของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การที่หน่วยงานภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนภาคเอกชนในการวิจัยเชิงคลินิกนับว่าเป็นประโยชน์มากที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาอาหารฟังก์ชันที่มีประสิทธิภาพตามเป้าหมาย มีผลวิจัยที่ยืนยันถึงความปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค ขณะเดียวกันยังเป็นข้อมูลสำคัญที่จะช่วยรับรองถึงประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ในการส่งออกไปยังต่างประเทศ นอกจากนี้ การที่ผู้ประกอบการได้ร่วมทำงานวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญ ยังช่วยให้กลุ่มวิจัยและพัฒนาของบริษัทได้ร่วมเรียนรู้ และนำไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่ช่วยให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีต่อไปในอนาคต”
นวัตกรรมสร้างความต่าง เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ
ในโลกยุคปัจจุบันที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างเร็ว ประกอบกับเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าอย่างมาก การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารในรูปแบบเดิมคงไม่เพียงพอ การใช้นวัตกรรมเพื่อต่อยอดสู่อาหารฟังก์ชันอาจเป็นหนทางที่สร้างความแตกต่างและโอกาสในการพัฒนาธุรกิจอย่างก้าวกระโดด
ดร.สรวง สมานหมู่ ผู้เชี่ยวชาญดำเนินโครงการวิจัย (ปัจจุบันเป็นอนุกรรมการสภาความร่วมมือด้านผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์แห่งประเทศไทย (MPCT) / คณะกรรมการบริษัท Cannabi Biosciences (ฮ่องกง ประเทศจีน) เล่าว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์ของเราแตกต่างจากสินค้าในตลาดทั่วไปก็คืองานวิจัย ซึ่ง ITAP สวทช. ได้ให้ทุนสนับสนุนการขับเคลื่อนงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์มาโดยตลอด และสำหรับการพัฒนาอาหารฟังก์ชัน พิเศษกว่า เมื่อ ITAP ได้ร่วมกับ TCELS ให้ทุนผู้ประกอบการในการพัฒนาส่วนผสมเชิงหน้าที่ (Functional Ingredient) จากผลผลิตทางการเกษตร เพื่อให้ได้สารชีวภาพที่ให้คุณสมบัติพิเศษสำหรับนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น อาหารเสริมสุขภาพ อาหารฟังก์ชัน เครื่องสำอางและยา ซึ่งตรงตามยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
“ตัวอย่างงานวิจัยที่ได้พัฒนาให้ บริษัทแอดวาเทค จำกัด คือ Cell Synapse Enhancer เป็นสารสกัดจากธรรมชาติ ทำหน้าที่เป็นสาร Co-Supplement สำหรับใช้เติมในผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากธรรมชาติ หรือสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพต่างๆ ซึ่ง Cell Synapse Enhancer มีสมบัติช่วยเพิ่มการดูดซึมสารสกัดจากธรรมชาติให้เข้าสู่ร่างกายและนำไปใช้ประโยชน์ได้ดีขึ้น ดังนั้นในกลุ่มผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่างๆ เมื่อมีการเติม Cell Synapse Enhancer ลงในผลิตภัณฑ์แล้ว จะช่วยให้เติมสารสกัดจากธรรมชาติหรือสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในปริมาณที่น้อยลง เพราะร่างกายดูดซึมได้มากขึ้น เรียกว่ารับประทานน้อยได้มาก ประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้ช่วยลดต้นทุนในการผลิต อีกทั้งยังเป็นสารตั้งต้นที่นำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย”
Cell Synapse Enhancer ได้รับรางวัลเหรียญทองจากงานประกวดนวัตกรรมที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ รวมทั้งได้มีการต่อยอดนำผลิตภัณฑ์ Cell Synapse ไปใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทรีวาน่าของบริษัทอินนาเธอร์ จำกัด ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมคอลลาเจนของบริษัท มานา เนเจอร์อินโนเวชั่น จำกัด และมีพันธมิตรที่สนใจจะนำสาร Cell Enhancer ไปต่อยอดใช้ในผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกหลายผลิตภัณฑ์
ดร.สรวง เล่าว่า จากทุนของโครงการ ITAP สวทช. และ TCELS ช่วยสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์นี้ เป็นจุดเริ่มต้นในการวิจัย ทำให้ผู้ประกอบการและนักวิจัยร่วมกันผลักดันงานวิจัยให้ก้าวข้ามหุบเหวมรณะ (Valley of Death) สามารถพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้สำเร็จ และยังต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่แตกกิ่งก้านสาขาได้เยอะมาก เป็นการเพิ่มมูลค่าความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไทย ให้กลายเป็นสินค้า
ที่นำรายได้กลับเข้าประเทศได้สำเร็จ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่เป็นวาระของชาติ
“หลังจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 เราเริ่มเห็นผู้ประกอบการให้ความสำคัญต่อการวิจัยมากขึ้น ถามว่าทำไมต้องทำงานวิจัย เพราะว่างานวิจัยจะทำให้ผลิตภัณฑ์ของเรามีมูลค่าเพิ่มขึ้นและแตกต่าง จากที่เคยแข่งขันกันในตลาดที่เรียกว่า Red Ocean ซึ่งเป็นตลาดที่มีของคล้ายๆ กัน มุ่งแข่งขันทางด้านราคา ซึ่งต้องบอกว่าใครสายป่านยาวคนนั้นก็ชนะ แต่วันนี้เราจะไม่พูดแบบนั้นแล้ว เพราะเราจะทำให้คนที่มีสายป่านสั้นๆ สามารถชนะในตลาดนี้ได้ด้วยนวัตกรรม เป็น Blue Ocean ฉะนั้นวันนี้ต้องถามตัวเองแล้วว่า เราจะยืนในพื้นที่ไหนระหว่างทะเลเลือด หรือว่ามหาสมุทรสีฟ้าที่กว้างใหญ่”
ปลายทางความสำเร็จในการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้สามารถพัฒนาอาหารฟังก์ชันใหม่ๆ คงไม่ใช่แค่ตัวผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหารที่จะสร้างกำไรหรือโอกาสทางการตลาดให้แก่อุตสาหกรรมอาหารเท่านั้น แต่ท้ายที่สุดประชาชนจะได้ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย และมั่นใจถึงความปลอดภัยได้อย่างแท้จริง