หน้าแรก วช. – สวทช. มหาวิทยาลัยไทย 5 แห่ง และ Tokyo Tech ลงนามความร่วมมือ “บันทึกข้อตกลงการดำเนินการโครงการ TAIST-Tokyo Tech ระยะที่ 4” ร่วมพัฒนาบุคลากรวิจัยและวิศวกรรมทักษะสูงสำหรับภาคอุตสาหกรรม
วช. – สวทช. มหาวิทยาลัยไทย 5 แห่ง และ Tokyo Tech ลงนามความร่วมมือ “บันทึกข้อตกลงการดำเนินการโครงการ TAIST-Tokyo Tech ระยะที่ 4” ร่วมพัฒนาบุคลากรวิจัยและวิศวกรรมทักษะสูงสำหรับภาคอุตสาหกรรม
19 เม.ย. 2565
0
ข่าวประชาสัมพันธ์
ข่าวประชาสัมพันธ์กิจกรรมของงานพัฒนากำลังคน

For English-version news, please visit : TAIST-Tokyo Tech to continue its phase 4 delivering world-class engineering programs

19 เมษายน 2565 กรุงเทพฯ: สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว หรือ Tokyo Institute of Technology (Tokyo Tech) ประเทศญี่ปุ่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงการดำเนินการโครงการทุนสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งประเทศไทย (Thailand Advanced Institute of Science and Technology: TAIST) และสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว (Tokyo Institute of Technology) หรือ TAIST-Tokyo Tech ระยะที่ 4 (พ.ศ. 2565-2570)  เพื่อเสริมความแข็งแกร่งและสร้างเครือข่ายจัดการศึกษา วิจัยและพัฒนาในหลักสูตรการศึกษานานาชาติที่มีคุณภาพ เพื่อพัฒนาบุคลากรวิจัยและวิศวกรรมทักษะสูงในระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโท) เพื่อรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมใน 3 สาขา ได้แก่ วิศวกรรมยานยนต์และระบบขนส่งขั้นสูง (Automotive and Advanced Transportation Engineering) ปัญญาประดิษฐ์และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Artificial Intelligence and Internet of Things) และวิศวกรรมพลังงานและทรัพยากรเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Energy and Resources Engineering) และหลักสูตรประกาศนียบัตรระบบขนส่งทางราง (Rail Transportation Certificate)

โดยมี ศ.ดร. นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงฯ พร้อมด้วย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช., Prof. Dr. Kazuya Masu (ศ.ดร.คะซึยะ มาซึ) อธิการบดี Tokyo Tech รศ. ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ในฐานะผู้แทนอธิการบดี สจล., รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ., ศ.ดร.พฤทธา ณ นคร ผู้อำนวยการ SIIT ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดี มก., ศ. นพ. บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มม., และ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. ร่วมลงนามและในโอกาสนี้ Mr. Oba Yuichi, Deputy Chief of Mission อัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยได้ร่วมแสดงความยินดีด้วย

ศ.ดร. นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า อว. ทำหน้าที่ดูแลนโยบายและดำเนินการทางด้านการอุดมศึกษา การวิจัยและการพัฒนา เพื่อการพัฒนาของชาติและเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน โดยเสริมสร้างการวิจัยและการพัฒนากำลังคนของประเทศให้มีทักษะและความสามารถสูง ผลักดันประเทศสู่ความเป็น Thailand 4.0 โดยมีกลไกขับเคลื่อนการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจที่เน้นคุณค่าและเป็นเฟืองสำคัญในการปรับเปลี่ยนสู่ประเทศฐานนวัตกรรม ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง อว. ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนและการสร้างนวัตกรรมเป็นลำดับแรก ในด้านการศึกษา อว. ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเพื่อปรับปรุง (redesign) หลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของโลกและการพัฒนาประเทศ โดยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีการปรับเปลี่ยนมากมาย โดยเฉพาะการปรับปรุงหลักสูตรในมหาวิทยาลัยรวมถึงการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการศึกษา อว. จึงได้พยายามสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาทั้งไทยและต่างประเทศและหน่วยงานภาคเอกชนเพื่อผลิตกำลังคนที่มีศักยภาพและสอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน และแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

อย่างไรก็ดีเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติข้อเสนอโครงการเพื่อก่อตั้งกองทุนพัฒนาการอุดมศึกษา ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนและความเป็นเลิศทางวิชาการของประเทศ โดยมีความเป็นไปได้ที่โครงการที่มีความคล้ายคลึงกับ TAIST-Tokyo Tech จะได้รับการสนับสนุนภายใต้ทุนด้านการอุดมศึกษานี้ เมื่อมีการดำเนินการเต็มรูปแบบแล้ว”คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณ  143.73 พันล้านบาทให้ อว. สำหรับปีงบประมาณ 2566 โดยอว. เป็น 1 ใน 6 ของหน่วยงานที่ได้รับจัดสรรงบประมาณมากที่สุด ประกอบด้วยงบประมาณด้านการอุดมศึกษา 114.63 พันล้านบาท และเป็นงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 29.1 พันล้านบาท โดยมีแนวทางการจัดสรรและบริหารงบประมาณเป็นแบบเงินก้อนและต่อเนื่องหลายปี ซึ่งนับเป็นข่าวดีของแวดวงวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม งบประมาณเหล่านี้จะนำไปใช้เพื่อขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ เช่นการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG และการสร้างความสามารถในการแข่งขันเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. ได้สนับสนุนทุนเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่อาชีพวิจัยให้แก่เด็กและเยาวชนผ่านรูปแบบต่างๆ ได้แก่ โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน  (JSTP) โครงการทุนสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย (TGIST) โครงการสร้างปัญญาวิทย์ ผลิตนักเทคโน (YSTP) โครงการทุนพัฒนาบัณฑิตวิจัยคุณภาพสูงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างสวทช.และมหาวิทยาลัย และโครงการทุนสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งประเทศไทยและสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว (TAIST-Tokyo Tech) แม้แต่ละโครงการจะมีกลไกที่แตกต่างกันแต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือเพื่อเสริมสร้างกำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่ประเทศและโครงการ TAIST-Tokyo Tech เป็นโครงการเดียวที่เป็นหลักสูตรนานาชาติ

สำหรับการดำเนินงานโครงการภายใต้สายงานพัฒนากำลังคนของสวทช. เป็นที่ยอมรับจากผู้เกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้น เช่น ในปี 2557 นักเรียนทุน สวทช. ซึ่งมีนักศึกษาจากโครงการ TAIST-Tokyo Tech ได้รับเลือกจากกระทรวงการต่างประเทศเพื่อเป็นตัวแทนทูตเยาวชนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าร่วมเยี่ยมชมหน่วยงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งศึกษาวัฒนธรรมในหลายประเทศ ได้แก่ จีน อิสราเอล เกาหลี ไต้หวันและญี่ปุ่น นอกจากนี้นักศึกษา TAIST-Tokyo Tech ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ JENESYS 2.0 ซึ่งเป็นโครงการของรัฐบาลญี่ปุ่นสำหรับเยาวชนในเอเชียและภาคพื้นแปซิฟิกเพื่อส่งเสริมความน่าสนใจต่อประเทศญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตามในอนาคตคาดหวังอยากเห็นบทบาทของโครงการ TAIST-Tokyo Tech ในการผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพระดับสูงเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการยุทธศาสตร์ประเทศ เช่น การพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และเป็นเรื่องน่ายินดีที่ทุกหลักสูตรภายใต้โครงการ TAIST-Tokyo Tech มีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นโครงการ TAIST-Tokyo Tech ประสบความสำเร็จในการพัฒนานักวิจัยและวิศวกรที่มีคุณภาพทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนต่อไป

ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนทุนสำหรับการทำกิจกรรมหรือโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าใช้จ่ายรายเดือนสำหรับนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนในแต่ละหลักสูตร และมหาวิทยาลัยไทยร่วมสนับสนุนงบประมาณในบางส่วนสำหรับนักศึกษาในสังกัดมหาวิทยาลัยนั้นๆ Tokyo Tech สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางของอาจารย์ผู้สอน (ญี่ปุ่น) มายังประเทศไทยสำหรับการสอนและการให้คำปรึกษานักศึกษา สวทช. เป็นผู้บริหารจัดการโครงการในภาพรวมและส่งมอบเงินทุนที่ได้รับจาก วช. ให้แก่มหาวิทยาลัยไทย

สำหรับความสำเร็จของโครงการ TAIST-Tokyo Tech ที่ได้การดำเนินการตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน (ระยะที่ 1 พ.ศ. 2550 – 2554 , ระยะที่ 2 พ.ศ. 2555 – 2559 และระยะที่ 3 พ.ศ. 2560 – 2564)  ในการพัฒนาบุคลากรวิจัยและวิศวกรรมระดับปริญญาโทสาขาวิศวกรรมศาสตร์ มากกว่า 460 คน โดยผู้สำเร็จการศึกษาจากโครงการกว่า 60% ทำงานในภาคอุตสาหกรรม 20% ทำงานในองค์กรภาครัฐ และ 14% ศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกทั้งในและต่างประเทศ  ประกอบกับการที่ วช. ได้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรวิจัยและวิศวกรรมทักษะสูง เพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-Curve, New S-Curve) และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ BCG จึงให้การสนับสนุนโครงการ เพื่อดำเนินการต่อในระยะที่ 4 โดยมุ่งเน้นการพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพ มีความรู้ความสามารถและทักษะตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน

โดยการสนับสนุนทุนการศึกษา 70 คนต่อรุ่น นอกจากนี้ โครงการยังได้สร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ วิจัย และการจัดการศึกษา ระหว่างหน่วยงานวิจัยคือ สวทช. กับสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศไทย และสถาบันการศึกษาชั้นนำของต่างประเทศคือ Tokyo Tech ซึ่งได้รับการจัดลำดับจาก QS World University Rankings เป็นมหาวิทยาลัยลำดับที่ 3 ของประเทศญี่ปุ่น และ อันดับที่ 56 ของโลก ในปี 2564  โดยดึงจุดเด่นของสถาบันการศึกษาทั้งไทยและต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมศาสตร์ขั้นสูงมาร่วมกันพัฒนาหลักสูตร ควบคู่กับการเรียนรู้และเพิ่มประสบการณ์ทำงานวิจัยอย่างจริงจัง ทำให้สามารถจัดการศึกษาที่มีคุณภาพและมีความเป็นเลิศทางวิชาการในระดับนานาชาติ

19 เม.ย. 2565
0
แชร์หน้านี้: