กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) จัดการกิจกรรมอบรมติดอาวุธ Incubator ภายใต้โครงการยกระดับขีดความสามารถหน่วยบ่มเพาะธุรกิจ ประจำปี พ.ศ.2564 หรือ Maturity Model for Business Incubator เพื่อเสริมสร้างให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา พร้อมกับเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม คณะทำงานเพื่อส่งเสริมการบ่มเพาะวิสาหกิจเริ่มต้น
โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาโมเดลการส่งเสริมการดำเนินงานของหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ (Maturity Model) อย่างเป็นระบบและมีความสอดคล้องกับมาตรฐานสากลจากความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ มาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างกระบวนการบ่มเพาะธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองต่อเป้าหมายการส่งเสริมผู้ประกอบการที่ดำเนินการธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานความรู้ เชื่อมโยงและบูรณาการความร่วมมือภายใต้บริบทของระบบนิเวศนวัตกรรมของท้องถิ่น-ภูมิภาค-ประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ สำหรับหน่วยบ่มเพาะธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการยกระดับขีดความสามารถหน่วยบ่มเพาะธุรกิจ ประจำปี พ.ศ.2564 ได้แก่
- อุทยานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเกษตรและอาหาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้
- สำนักบ่มเพาะวิชาการเพื่อวิสาหกิจในชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ
- อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย
- หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม
ทั้งนี้ยังได้วิทยากรระดับแนวหน้ามาร่วมบรรยาย อาทิ นายสิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม CEO และ Founder of RGB72 / CREATIVE TALK นายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด นายสายัณห์ ไวรางกูร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอดีเอ็มคอนซัลติ้ง จำกัด
นางกานต์ณัฐชา คณีกุล และ นางสุนัดดา สุจริต Assistant Vice President-LiVE พร้อมด้วยการนำผู้ที่อบรมได้เข้าร่วมดูงานในบริษัท และเยี่ยมชม INVESTORY พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุน
นางศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. กล่าวว่าโลกในยุคปัจจุบันกำลังเคลื่อนเข้าสู่มิติใหม่ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดในทุกด้าน ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หน่วยบ่มเพาะธุรกิจ จึงจำเป็นต้องมีการยกระดับปรับเปลี่ยนการดำเนินงานให้สามารถส่งเสริมผู้ประกอบการในระดับต่าง ๆ ให้สามารถไปสู่ธุรกิจที่สร้างคุณค่า (Value-Based Business) และมีการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation-driven) เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญ ในการสร้างความเติบโตและความเข้มแข็งให้กับภาคส่วนต่าง ๆ ของประเทศได้อย่างสมดุลและยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจ จากการปรับเปลี่ยนรูปแบบสินค้าด้วย วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ให้สามารถต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิม COVID 19 ก็เป็นหนึ่งในสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย ที่ต้องการความช่วยเหลือ ส่งเสริม และสนับสนุน ซึ่งหน่วยบ่มเพาะธุรกิจตอบโจทย์ได้
ในการบ่มเพาะธุรกิจ ต้องอาศัยความรู้หลากหลายมิติ ทั้งด้านเทคโนโลยี การตลาด การเงิน และการบริหารจัดการธุรกิจ ผนวกรวมเข้ากับการเชื่อมโยงทรัพยากรต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ หน่วยบ่มเพาะธุรกิจจึงจำเป็นต้องมีกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ และบุคลากรที่มีความสามารถเพื่อผลักดันธุรกิจนวัตกรรมให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดและสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศในภาพรวมได้ ซึ่งข้อมูลจากที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญพบว่าผู้ประกอบการที่ได้รับการบ่มเพาะธุรกิจนั้น มีอัตราการอยู่รอด และเติบโตมากกว่าผู้ที่ไม่ได้รับการบ่มเพาะถึงร้อยละ 30
ผอ.ศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า นับเป็นปีที่ 4 แล้ว ที่ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช. ได้ดำเนินโครงการนี้ โดย 2 ปีแรกได้ประเมินหน่วยบ่มเพาะธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของสำนักเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) ไปแล้วจำนวน 13 แห่ง และในปีที่แล้วกับปีนี้ สวทช. ได้ร่วมกับสำนักประสานและส่งเสริมกิจการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ในการประเมินหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 10 แห่ง โดยได้รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ของหน่วยบ่มเพาะธุรกิจแต่ละแห่ง แล้วนำมาวิเคราะห์ร่วมกับ Creeda ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญขั้นสูงด้านบ่มเพาะธุรกิจระดับโลกมีประสบการณ์กว่า 35 ปี เป็นที่ปรึกษามามากกว่า 50 ประเทศ จนทราบถึงสถานภาพปัจจุบันของแต่ละหน่วยแล้ว จึงได้ดำเนินการเก็บข้อมูลและสัมภาษณ์เพื่อประเมินหน่วยบ่มเพาะ ด้วยมาตรฐานสากล 76 best practice
นอกจากการเก็บข้อมูลและสัมภาษณ์เพื่อประเมินหน่วยบ่มเพาะ UBI แล้ว โครงการฯ ยังได้ดำเนินการจัดกิจกรรม Capability building ให้กับหน่วยบ่มเพาะ โดยนำผลการประเมิน และข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญนำไปใช้ยกระดับขีดความสามารถของหน่วยบ่มเพาะธุรกิจด้วยการประยุกต์ใช้ Maturity Model ต่อไป