(เมื่อเร็วๆ นี้) ณ จังหวัดแพร่ : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยทีมพัฒนาอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ ฝ่ายยุทธศาสตร์และประเมินผล สายงานอุตสาหกรรมและชุมชน ร่วมกับคณะทำงานโครงการนำร่อง : “บูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมไม้สักครบวงจรในพื้นที่เฉพาะ (Teak Valley Sand Box) จัดฝึกอบรมหลักสูตร “อุตสาหกรรมไม้สัก : ก้าวต่อไปด้วย Business Model Canvas & Modern Marketing Online” ให้กับผู้ประกอบการไม้สัก จ.แพร่ โดยการจัดอบรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งหวังให้ผู้ประกอบการไม้สัก มีพื้นฐานการวิเคราะห์ธุรกิจ และภาพรวมอุตสาหกรรมไม้สักที่จะทำให้ธุรกิจโตก้าวแบบกระโดดได้ และสร้างขีดความสามารถในแข่งขันด้านการตลาดที่สูงกว่าคู่แข่งนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจได้แบบยั่งยืน
สำหรับการอบรมแบ่งเป็น 2 ช่วง คือภาคทฤษฎี (เมื่อวันที่ 23-24 สิงหาคมที่ผ่านมา) และ ภาคปฏิบัติจริง (เมื่อวันที่ 6-7 กันยายนที่ผ่านมา) โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ได้แก่ อาจารย์พลเทพ มาศรังสรรค์ ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนธุรกิจ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท บิวด์ อะ บ๊อกซ์ จำกัด อบรมในหัวข้อ องค์ประกอบของ Business Model Canvas เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ทำความเข้าใจและมีทักษะและความรู้ที่เท่าทันต่อสถานการณ์การแข่งขันทางการตลาดของอุตสาหกรรมไม้สัก และ อาจารย์พันธกานต์ วิสิฐรณชัย ที่ปรึกษาด้านการตลาด และกรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะรูทมาร์เก็ตติ้ง จำกัด อบรมการฝึกปฏิบัติจริงเชิงลึก ในหัวข้อ รูปแบบและเทคนิคในการทำเนื้อหาทางการตลาด (Content Marketing) และการอัปเดตเครื่องมือที่ใช้งานได้ดีของแต่ละแพลตฟอร์มในปี 2022 เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือในแต่ละแพลตฟอร์มในโลกออนไลน์ ซึ่งถือเป็นช่องทางสำคัญทางการตลาดของหลากหลายอุตสาหกรรมในปัจจุบัน
สำหรับการการจัดอบรมครั้งนี้ถือเป็นกิจกรรมสำคัญภายใต้ชุดโครงการ “บูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมไม้สักครบวงจรในพื้นที่เฉพาะ (Teak Valley Sand Box) ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ด้วยการสร้างอนาคตไม้สักไทยตามยุทธศาสตร์การผลิตสักคุณภาพสูง เพิ่มมูลค่าไม้สัก ผ่านการสร้างมูลค่าเพิ่ม และกระจายรายได้ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยเริ่มดำเนินการนำร่องในจังหวัดแพร่ เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีอุตสาหกรรมไม้สักเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดและมีผู้ปลูกไม้สักเป็นจำนวนมาก โดย สวทช. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ -แพร่ เฉลิมพระเกียรติ ,วิทยาลัยชุมชนแพร่ และ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.)
อย่างไรก็ตามคณะทำงานโครงการฯ เล็งเห็นถึงสิ่งที่ต้องดำเนินการเป็นอันดับแรกของอุตสาหกรรมไม้สัก คือ เรื่องการตลาดเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแข่งขันทางการตลาดของอุตสาหกรรมไม้สักค่อนข้างสูง จึงต้องวิเคราะห์ธุรกิจที่จะทำให้ธุรกิจได้ทบทวนแนวทางในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในระยะยาว จึงได้เริ่มต้นโครงการโดยการจัดฝึกอบรมให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมไม้สัก จ.แพร่ ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการในพื้นที่เป็นจำนวนมาก
##############