หน้าแรก สวทช. ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ระดับมัธยมศึกษา กับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ในการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการของโรงเรียนในโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ
สวทช. ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ระดับมัธยมศึกษา กับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ในการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการของโรงเรียนในโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ
24 ก.ย. 2565
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

วันที่ 24 กันยายน 2565 ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นตัวแทนร่วมพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ระดับมัธยมศึกษา กับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย โดยมี ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีลงนามณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพมหานคร ผู้เข้าร่วมงานเป็นผู้บริหารสถานศึกษา ครูจากโรงเรียนศูนย์โครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ระดับประถมศึกษา 96 แห่ง และมัธยมศึกษา 95 แห่ง รวมจำนวน 450 คน

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวเปิด และมอบนโยบายขับเคลื่อนโรงเรียนโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ โครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 โดย “เห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ระยะเวลา 10 ปี เพื่อพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพผู้เรียน สร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้ที่มีความสนใจพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ” จุดประสงค์ของโครงการเพื่อมุ่งพัฒนาสมรรถนะนักเรียน (Competencies) ทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีผ่านกระบวนการของหลักสูตร (Curriculum) และเครือข่าย การพัฒนาศักยภาพมหาวิทยาลัย โรงเรียน ครูผู้สอน และนักเรียน (Peer Learning Network) เพื่อตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตามแผนการศึกษาชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579)

โดย ดร.คุณหญิงกัลยา เน้นถึงการจัดการศึกษาที่มีเป้าหมายให้เด็กได้รับการพัฒนาทักษะสำคัญ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข มีความรู้ ปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และสามารถแข่งขันได้ โดยส่งเสริมให้โรงเรียนจัดการเรียนรู้เรื่องวิทยาการคำนวณ และโค้ดดิ้ง (Coding) เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้คิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล นำความรู้ที่เรียนไปประยุกต์ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันตามบริบทท้องถิ่น  และส่งเสริมให้มีการจัดการเรียนการสอนบนพื้นฐานของสะเต็มศึกษา (STEM: Science, Technology Engineering and Mathematic) การบูรณาการศาสตร์ต่าง ๆ ในการแก้ปัญหาและเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน และเพิ่ม A เข้าไปจาก STEM เป็น STEAM ทั้งนี้  A หมายถึงศิลปะการใช้ชีวิต รวมไปถึงวัฒนธรรมประเพณีของคนไทย ( Arts of life, Art of Living, Arts of Working Together) ควบคู่กับการใช้สติ (STI ; Science,  Technology, Innovation) เพื่อนำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบได้

จากนั้น ตัวแทนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำโดย ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. และ คุณฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการหลักสูตรและสื่อการเรียนรู้ สวทช. เป็นตัวแทนร่วมพิธีลงนามความร่วมมือ และบันทึกภาพร่วมกับผู้อำนวยการโรงเรียนศูนย์วิทยาศาสตร์พลังสิบ จำนวน 95 โรงเรียนจากทั่วประเทศ

นอกจากนี้แล้ว ในงานมีการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการของโรงเรียนในโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ โดย ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน บรรยายแนวทางการจัดการเรียนการสอนแบบเชิงรุก (Active Learning) ในการสนับสนุนการเรียนรู้ตามโรงเรียนในโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ โดยขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอนแบบเชิงรุก (Active Learning) ผ่านการบูรณาการหน่วยการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษา (STEAM education) เพื่อปรับกระบวนการให้นักเรียนเกิดสมรรถนะ สามารถคิดวิเคราะห์ สื่อสาร แก้ปัญหา ใช้เทคโนโลยีได้ และมีทักษะการใช้ชีวิตที่ดี ตัวอย่างเช่น การเรียนรู้ในโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียนซึ่งเด็กสามารถคิดวางแผน แก้ปัญหา และลองถูกลองผิดได้ เป็นต้น

ในช่วงบ่ายเป็นการแบ่งกลุ่มผู้บริหารโรงเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เพื่อชี้แจงและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการหลักสูตรห้องเรียนโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ และมีกิจกรรมสำหรับสร้างความสัมพันธ์เครือข่ายเพื่อต่อยอดการทำงานร่วมกันในอนาคต ซึ่งในปี 2564 สวทช. ได้ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ระดับประถมศึกษา และได้พัฒนาหลักสูตรกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน รวมทั้งหมด 40 ชั่วโมงการเรียนรู้ จำนวน 5 หลักสูตร ได้แก่ คณิตศาสตร์แสนสนุก, ชี(วิทย์)ประจำวัน, สนุกกับไฟฟ้า, เรียนรู้วิทยาศาสตร์การ์ดไม่ตกกับโรคอุบัติใหม่โควิด-19 และ CODING แสนสนุก โดยออกแบบกิจกรรมที่สอดแทรกวิทยาการคำนวณและโค้ดดิ้ง (Coding) บนพื้นฐานของการจัดการเรียนรู้รูปแบบ STEAM ควบคู่กับการใช้ STI และได้จัดอบรมให้กับวิทยากรแกนนำเพื่อนำกิจกรรมไปขยายผลสู่โรงเรียนศูนย์วิทยาศาสตร์พลังสิบทั่วประเทศต่อไป

24 ก.ย. 2565
0
แชร์หน้านี้: