คณะนักวิจัยจาก Baylor College of Medicine ได้ศึกษาผลของน้ำลายยุงอย่างเดียวและพบว่าสามารถทำให้เกิดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่หลากหลายที่น่าประหลาดใจในสัตว์ทดลองที่มีระบบภูมิคุ้มกันของคน ผลการศึกษานี้ทำให้เกิดโอกาสในการพัฒนาวิธีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคที่มียุงเป็นพาหะ การศึกษาครั้งนี้เผยแพร่ในวารสาร PLOS Neglected Tropical Diseases
ศาสตราจารย์ ดร. Rebecca Rico-Hesse หนึ่งในคณะนักวิจัย กล่าวว่า ความสนใจหนึ่งของห้องปฏิบัติการคือการศึกษาการพัฒนาของโรคไข้เลือดออก ซึ่งเกิดจากไวรัสไข้เลือดออก ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะ
Rico-Hesse กล่าวว่า ข้อจำกัดหลักหนึ่งสำหรับการศึกษาโรคไข้เลือดออกคือไวรัสไข้เลือดออกเพียงก่อโรคในคนเท่านั้น ไม่มีสัตว์อื่นสามารถใช้เป็นแบบจำลองในการพัฒนาการป้องกันและการรักษา เพื่อแก้ปัญหานี้ คณะนักวิจัยใช้หนูทดลองที่มีระบบภูมิคุ้มกันของคนในการศึกษา
หนูทดลองที่มีระบบภูมิกันของคนได้รับการพัฒนาโดยคณะนักวิจัยกลุ่มอื่นจากหนูที่เกิดมาไม่มีระบบภูมิคุ้มกันเป็นของตัวเองโดยธรรมชาติ ซึ่งต่อมาได้รับสเต็มเซลล์ของคนซึ่งผลิตส่วนประกอบหลายอย่างของระบบภูมิคุ้มกันของคน
Rico-Hesse กล่าวว่า ในปี 2012 คณะนักวิจัยแสดงในหนูทดลองที่มีระบบภูมิคุ้มกันของคนว่าการส่งแบบยุงกัดและแบบเข็มฉีดของไวรัสไข้เลือดออกทำให้เกิดการพัฒนาของโรคที่แตกต่างกัน โดยการส่งแบบยุงกัดของไวรัสทำให้เกิดโรคเหมือนที่เกิดในคนมากกว่าการส่งแบบเข็มฉีดของไวรัส เมื่อยุงส่งไวรัส หนูทดลองที่มีระบบภูมิคุ้มกันของคนมีไข้มากกว่าและมีลักษณะอื่นๆ ซึ่งเลียนแบบโรคที่เกิดในคน
ผลการทดลองเหล่านี้สนับสนุนความคิดที่ว่ายุงไม่ใช่เพียงทำตัวเหมือนกระบอกฉีดยา (syringes) เพียงฉีดไวรัสเข้าไปในสัตว์ น้ำลายยุงดูเหมือนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับการพัฒนาของโรค ซึ่งทำให้คณะนักวิจัยสนใจศึกษาความสำคัญของน้ำลายยุงนี้ โดยเริ่มจากศึกษาผลของการกัดจากยุงที่ไม่มีไวรัสต่อการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของคนของหนูทดลองที่มีระบบภูมิคุ้มกันของคน
เพื่อทดสอบผลของน้ำลายยุงที่ไม่มีไวรัสต่อหนูทดลองที่มีระบบภูมิคุ้มกันของคน คณะนักวิจัยให้ยุง 4 ตัวกัดฝ่าเท้าทั้งสองของหนู แล้วต่อมาเก็บเลือดและเนื้อเยื่อตัวอย่างอื่นๆ หลายตัวอย่าง 6 ชั่วโมง 24 ชั่วโมง และ 7 วันหลังจากยุงกัดหนู และต่อมาหาระดับของ cytokines (โมเลกุลซึ่งปรับเปลี่ยนการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน) รวมถึงจำนวนและกิจกรรมของเซลล์ภูมิคุ้มกันชนิดต่างๆ คณะนักวิจัยเปรียบเทียบผลการศึกษาเหล่านี้กับผลการศึกษาที่ได้จากหนูทดลองที่มีระบบภูมิคุ้มกันของคนซึ่งไม่ถูกกัดโดยยุง
การศึกษานี้ได้ใช้เทคนิคที่มีความไวสูงเพื่อให้ได้รายละเอียดมากเกี่ยวกับการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน เช่น flow cytometry เพื่อวิเคราะห์เซลล์ภูมิคุ้มกันและ multiplex cytokine bead array analysis เพื่อศึกษา cytokines
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. Silke Paust หนึ่งในคณะนักวิจัย กล่าวว่า พบว่าน้ำลายยุงทำให้เกิดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่ซับซ้อนและหลากหลายซึ่งไม่ได้คาดหวัง ตัวอย่างเช่นทั้งการตอบสนองของเซลล์ภูมิคุ้มกันและระดับ cytokine ได้รับผลกระทบ พบการกระตุ้นของเซลล์ T helper 1 ซึ่งเกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันต่อไวรัส และการกระตุ้นของเซลล์ T helper 2 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการตอบสนองต่อภูมิแพ้
ที่หลายจุดเวลา ระดับและกิจกรรมของเซลล์ภูมิคุ้มกันชนิดอื่นยังเพิ่มขึ้นด้วยในขณะที่เซลล์อื่นลดลง โดยสรุปคณะนักวิจัยพบว่าน้ำลายยุงเพียงอย่างเดียวสามารถทำให้เกิดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่คงอยู่นาน ถึง 7 วันหลังจากถูกกัด ในหลายชนิดของเนื้อเยื่อ ได้แก่ เลือด ผิวหนัง และไขกระดูก
ที่มา: Baylor College of Medicine (2018, May 17). More than a living syringe: Mosquito saliva alone triggers unexpected immune response. ScienceDaily. Retrieved July 6, 2018, from https://www.sciencedaily.com/releases/2018/05/180517143621.htm