หน้าแรก คลังความรู้ คลังความรู้ นานาสาระน่ารู้ ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัล ประจำปี 2561 โดย IMD
ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัล ประจำปี 2561 โดย IMD
9 ส.ค. 2561
0
นานาสาระน่ารู้

ในปี 2561 IMD ได้จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของ 63 ประเทศทั่วโลก และได้เผยแพร่ไว้ที่ https://www.imd.org/wcc/world-competitiveness-center-rankings/world-digital-competitiveness-rankings-2018/ โดยมีผลการจัดอันดับดังนี้

ตารางผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของประเทศ 5 อันดับแรกและประเทศไทย ปี 2560-2561 โดย IMD

สหรัฐอเมริกาได้อันดับ 1 ดีขึ้นกว่าปีก่อน 2 อันดับ รองลงมาคือ สิงคโปร์ ที่เคยเป็นที่ 1 ในปีก่อน ถัดมาเป็นสวีเดน ซึ่งตกลงมา 1 อันดับจากปีที่แล้วเคยเป็นอันดับที่ 2 เดนมาร์กได้อันดับ 4 ในปีนี้ดีกว่าปีที่แล้ว 1 อันดับ อันดับที่ 5 คือสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งขึ้นมาถึง 3 อันดับจากปีที่แล้ว ส่วนไทยได้อันดับ 39 ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว 2 อันดับ

ปัจจัยที่ทำให้สหรัฐอเมริกาเลื่อนขึ้นเป็นอันดับ 1 มาจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่ได้อันดับ 3 เลื่อนขึ้นมาถึง 3 อันดับ และด้านความรู้ที่ได้อันดับ 4 ในปีนี้ส่วนปีที่แล้วได้อันดับ 5 การพัฒนาด้านเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกาที่ดีขึ้นมากเกิดจากปัจจัยย่อยคือการเลื่อนอันดับขึ้นของโครงสร้างการควบคุม เงินทุนและโครงสร้างเทคโนโลยี ส่วนปัจจัยย่อยที่มีผลต่อการพัฒนาความรู้ที่ดีขึ้นคือการฝึกอบรมและการศึกษามีอันดับเลื่อนขึ้นถึง 12 อันดับจากปีที่แล้ว การเลื่อนอันดับขึ้นของโครงสร้างการควบคุมเกิดจากหลายตัวชี้วัด ได้แก่ การเริ่มต้นธุรกิจ การบังคับใช้สัญญา กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ปัจจัยย่อยเงินทุนมีการเลื่อนอันดับขึ้นเนื่องจากตัวชี้วัดการบริการทางการเงินและธนาคารเป็นหลักที่ดีขึ้นมากอย่างชัดเจน ส่วนโครงสร้างเทคโนโลยีดีขึ้นกว่าปีก่อนเนื่องจากหลายตัวชี้วัด ได้แก่ ที่เป็นหลักคือ บรอดแบนด์ไร้สาย รองลงมาคือ ผู้บอกรับเป็นสมาชิกบรอดแบนด์ที่สามารถเคลื่อนที่ได้ ความเร็วการรับส่งข้อมูลอินเทอร์เน็ต การส่งออกสินค้าไฮเทค การเลื่อนอันดับขึ้นมากของการฝึกอบรมและการศึกษาเกิดจากการดีขึ้นมากของ 2 ตัวชี้วัด ได้แก่ การฝึกหัดพนักงาน และผู้หญิงที่ได้รับปริญญา

การเลื่อนอันดับลง 9 อันดับจากอันดับ 6 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 15 ในปีนี้ของปัจจัยด้านความพร้อมในอนาคต ในขณะที่อีกสองปัจจัยได้แก่ เทคโนโลยี และความรู้ยังคงรักษาอันดับ 1 ไว้อย่างเดิม ทำให้การจัดอันดับรวมของสิงคโปร์ลดจากอันดับ 1 เป็นอันดับ 2 ในปีนี้ การลดอันดับลงอย่างมากของปัจจัยความพร้อมในอนาคตเนื่องมาจากการลดลงของอันดับของปัจจัยย่อยทั้งหมดได้แก่ 1. ทัศนคติที่ปรับตัวได้ หมายถึงความยินดีของสังคมที่จะมีส่วนร่วมในขบวนการเกี่ยวกับดิจิทัล ตัวอย่างเช่น เข้าไปซื้ออินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน ลดลงจากอันดับ 11 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 20 ในปีนี้  2. ความคล่องตัวทางธุรกิจ ลดลงจากอันดับที่ 14 ในปีที่แล้วเป็นอันดับที่ 18 ในปีนี้ และ 3. การรวมกันของเทคโนโลยีสารสนเทศ ลดลงจากอันดับที่ 1 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 3 ในปีนี้ ตัวชี้วัดหลักที่ทำให้ปัจจัยย่อยทัศนคติที่ปรับตัวได้มีอันดับลดลง คือ การเป็นเจ้าของแท็บเล็ต และการเป็นเจ้าของสมาร์ทโฟน ปัจจัยย่อยความคล่องตัวทางธุรกิจมีอันดับลดลงเนื่องจากตัวชี้วัด 3 ตัวได้แก่ โอกาสและอุปสรรค ความคล่องตัวของบริษัท และการใช้ big data และ analytics ส่วนปัจจัยย่อยการรวมกันของเทคโนโลยีสารสนเทศมีอันดับลดลงเนื่องจากตัวชี้วัดการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน

การเลื่อนอันดับรวมลงจากอันดับ 2 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 3 ในปีนี้ของสวีเดน เกิดจากการลดอันดับลงของปัจจัยด้านความรู้จากอันดับ 2 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 7 ในปีนี้ ส่วนปัจจัยด้านเทคโนโลยีและความพร้อมในอนาคตยังคงอยู่ในอันดับ 5 เหมือนปีที่แล้ว ปัจจัยย่อยที่ทำให้ปัจจัยด้านความรู้มีอันดับลดลงคือการฝึกอบรมและการศึกษาลดลงจากอันดับ 1 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 5 ในปีนี้ ตัวชี้วัดที่ทำให้เกิดการลดลงของอันดับของปัจจัยย่อยการฝึกอบรมและการศึกษาคือ รายจ่ายของรัฐทั้งหมดในเรื่องการศึกษา ความสำเร็จของการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย และผู้สำเร็จการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์

เดนมาร์กมีอันดับรวมจัดอยู่ในอันดับ 4 ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว 1 อันดับ เป็นผลมาจากอันดับที่คงเดิมของทั้ง 3 ปัจจัยได้แก่ ความรู้มีอันดับ 8 เหมือนเดิม เทคโนโลยีมีอันดับ 10 เหมือนเดิม และความพร้อมในอนาคตมีอันดับ 1 เหมือนเดิม ปัจจัยย่อยที่ทำให้ปัจจัยความรู้ยังคงรักษาอันดับเดิมได้ได้แก่ ความสามารถพิเศษยังคงรักษาอันดับ 6 ไว้เหมือนเดิม การฝึกอบรมและการศึกษาเพิ่มอันดับขึ้นจากอันดับ 5 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 3 ในปีนี้ และความเข้มข้นทางวิทยาศาสตร์เพิ่มอันดับขึ้นจากอันดับ 19 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 14 ในปีนี้ ปัจจัยเทคโนโลยียังคงรักษาอันดับไว้เหมือนเดิมเนื่องจากปัจจัยย่อยคือ โครงสร้างการควบคุมและโครงสร้างเทคโนโลยียังคงรักษาอันดับ 8 และ 5 ไว้เหมือนเดิมตามลำดับ ส่วนปัจจัยย่อยเงินทุนเพิ่มอันดับขึ้นจาก 25 ในปีที่แล้วเป็น 22 ในปีนี้ ปัจจัยย่อยที่ทำให้ปัจจัยความพร้อมในอนาคตยังคงจัดอยู่ในอันดับเดิมคือ ทัศนคติที่ปรับตัวได้ปรับอันดับลดลงจากอันดับ 1 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 5 ในปีนี้ ความคล่องตัวทางธุรกิจและการรวมกันของเทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มอันดับขึ้นจากอันดับ 11 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 6 และ 5 ตามลำดับในปีนี้ ในปัจจัยย่อยทั้งหมดมีเพียงปัจจัยย่อยทัศนคติที่ปรับตัวได้ลดอันดับลงอย่างมากเนื่องจากตัวชี้วัด 2 ตัว ได้แก่ การเป็นเจ้าของแท็บเล็ต และการเป็นเจ้าของสมาร์ทโฟน

สวิตเซอร์แลนด์มีอันดับรวมอยู่ในอันดับ 5 ในปีนี้เพิ่มอันดับขึ้นถึง 3 อันดับ เนื่องจากการเพิ่มอันดับขึ้นจากอันดับ 13 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 10 ในปีนี้ของปัจจัยความพร้อมในอนาคต ถึงแม้อีก 2 ปัจจัยมีอันดับลดลงคือ ความรู้ลดลงจากอันดับ 4 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 6 ในปีนี้ และเทคโนโลยีลดลงจากอันดับ 8 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 9 ในปีนี้ การเพิ่มขึ้นของอันดับของปัจจัยความพร้อมในอนาคตเนื่องจากการเพิ่มอันดับขึ้นอย่างมากของปัจจัยย่อยทัศนคติที่ปรับตัวได้จากอันดับ 23 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 12 ในปีนี้ ซึ่งตัวชี้วัดที่มีผลอย่างมากต่อการเลื่อนอันดับขึ้นของปัจจัยย่อยทัศนคติที่ปรับตัวได้คือ การเป็นเจ้าของสมาร์ทโฟนเลื่อนจากอันดับ 40 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 1 ในปีนี้ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่มีการพัฒนาขึ้นมากที่สุด

เป็นข่าวดีของไทยที่อันดับรวมเลื่อนขึ้น 2 อันดับจากอันดับ 41 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 39 ในปีนี้ เนื่องจากการเลื่อนอันดับขึ้นของปัจจัยเทคโนโลยีจากอันดับ 30 ในปีที่แล้วเป็น 28 ในปีนี้ อีก 2 ปัจจัยคือ ความรู้ยังคงอยู่ในอันดับเท่าเดิมคือ 44 และความพร้อมในอนาคตลดอันดับลงจากอันดับ 45 ในปีที่แล้วเป็น 49 ในปีนี้ ดังนั้นประเทศยังคงต้องพัฒนาด้านความรู้และความพร้อมในอนาคตอีกมากเนื่องจากยังคงมีอันดับที่ต่ำมากในปีนี้ และทั้งสองปัจจัยเป็นเหตุดึงรั้งให้ไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 39 ในปีนี้ ปัจจัยย่อยที่ต้องได้รับการพัฒนาอย่างมากซึ่งมีทั้งอันดับต่ำในปีนี้และมีอันดับลดลงเป็นของปัจจัยความพร้อมในอนาคตคือ ทัศนคติที่ปรับตัวได้ลดอันดับลงจากอันดับ 51 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 55 ในปีนี้ และการรวมกันของเทคโนโลยีสารสนเทศลดอันดับลงจากอันดับ 53 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 55 ในปีนี้ ตัวชี้วัดที่มีผลต่อปัจจัยย่อยทัศนคติที่ปรับตัวได้คือ การเป็นเจ้าของแท็บเล็ตมีอันดับ 52 ในปีที่แล้ว ส่วนในปีนี้มีอันดับ 58 ซึ่งทำให้เป็นตัวชี้วัดที่มีอันดับต่ำที่สุด และตัวชี้วัดการค้าปลีกทางอินเทอร์เน็ตมีอันดับลดลงจากอันดับ 48 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 51 ในปีนี้ ส่วนตัวชี้วัดที่มีผลต่อปัจจัยย่อยการรวมกันของเทคโนโลยีสารสนเทศคือ รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังคงรักษาอันดับที่ต่ำได้เท่าเดิมคือ 55 ตัวชี้วัดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ยังคงรักษาอันดับที่ต่ำไว้เหมือนเดิมคือ 56 ส่วนตัวชี้วัดการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนมีอันดับลดลงจาก 23 ในปีที่แล้วเป็น 26 ในปีนี้ ภายใต้ปัจจัยความรู้ ปัจจัยย่อยความสามารถพิเศษมี 1 ตัวชี้วัดที่ต้องพัฒนาอย่างมากเช่นกันคือ ทักษะทางด้านเทคโนโลยีหรือดิจิทัลที่จัดอันดับ 50 ในปีที่แล้วเป็น 52 ในปีนี้ ปัจจัยย่อยการฝึกอบรมและการศึกษามี 1 ตัวชี้วัดที่ต้องพัฒนาอย่างมากคือ จำนวนเฉลี่ยของนักศึกษาต่ออาจารย์ในการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมีอันดับ 47 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 51 ในปีนี้ และปัจจัยย่อยความเข้มข้นทางวิทยาศาสตร์มี 1 ตัวชี้วัดที่ต้องได้รับการพัฒนาอย่างมากคือ การให้ทุนสิทธิบัตรที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมีอันดับ 31 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 45 ในปีนี้ ถึงแม้ปัจจัยเทคโนโลยีมีอันดับเลื่อนขึ้นและจัดอยู่อันดับ 28 ในปีนี้ แต่มีตัวชี้วัดภายใต้ปัจจัยย่อยโครงสร้างเทคโนโลยีที่ต้องปรับปรุงอย่างมากคือ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมีอันดับ 53 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 54 ในปีนี้ ส่วนตัวชี้วัดที่ได้รับการพัฒนาขึ้นจากปีที่แล้วส่งผลให้ไทยเลื่อนอันดับขึ้นเป็น 39 ในปีนี้พบอยู่แค่ในปัจจัยความรู้และเทคโนโลยีคือ 1. การฝึกหัดพนักงานเลื่อนจากอันดับ 18 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 12 ในปีนี้ ตัวชี้วัดนี้อยู่ภายใต้ปัจจัยย่อยการฝึกอบรมและการศึกษา ปัจจัยความรู้  2. นักวิจัยผู้หญิงที่ยังคงรักษาอันดับ 2 ไว้ได้ซึ่งเป็นอันดับที่ดีที่สุดในบรรดาตัวชี้วัดทั้งหมด ตัวชี้วัดนี้อยู่ภายใต้ปัจจัยย่อยความเข้มข้นทางวิทยาศาสตร์ ปัจจัยความรู้  3. ภายใต้ปัจจัยเทคโนโลยี ปัจจัยย่อยโครงสร้างการควบคุม ตัวชี้วัดการเริ่มต้นธุรกิจมีอันดับ 40 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 21 ในปีนี้  4. ตัวชี้วัดการบังคับใช้สัญญามีอันดับ 38 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 29 ในปีนี้ อยู่ภายใต้ปัจจัยย่อยโครงสร้างการควบคุม ปัจจัยเทคโนโลยี  5. ผู้บอกรับเป็นสมาชิกบรอดแบนด์ที่สามารถเคลื่อนที่ได้เลื่อนจากอันดับ 6 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 3 ในปีนี้ ซึ่งจัดอยู่ในอันดับที่ดีมาก ตัวชี้วัดนี้อยู่ภายใต้ปัจจัยย่อยโครงสร้างเทคโนโลยี ปัจจัยเทคโนโลยี  6. บรอดแบนด์ไร้สายมีอันดับดีขึ้นจากอันดับ 31 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 21 ในปีนี้ ตัวชี้วัดนี้อยู่ภายใต้ปัจจัยย่อยโครงสร้างเทคโนโลยี ปัจจัยเทคโนโลยี  7. ตัวชี้วัดความเร็วการรับส่งข้อมูลอินเทอร์เน็ตเลื่อนจากอันดับ 29 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 20 ในปีนี้ อยู่ภายใต้ปัจจัยย่อยโครงสร้างเทคโนโลยี ปัจจัยเทคโนโลยี 

ถึงแม้ไทยจะเลื่อนอันดับขึ้นในปีนี้ แต่เป็นอันดับระดับปานกลาง ทำให้ไทยต้องพัฒนาในหลายด้านดังที่กล่าวมาแล้ว เพื่อให้ในปีหน้าไทยจะเลื่อนอันดับขึ้นมาก

9 ส.ค. 2561
0
แชร์หน้านี้: