วันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 ณ กลุ่มอาคารสำนักงานใหญ่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation (EECi) Headquarters วังจันทร์วัลเลย์ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง : ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วย นายปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสนับสนุนการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi ระหว่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และ องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง โดยมี ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการ EECi และนายสมศักดิ์ พะเนียงทอง รักษาการผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัยจังหวัดระยอง ร่วมเป็นสักขีพยาน
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ให้เป็นผู้พัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi โดยมีบทบาทในการสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ผ่านกลไกของ EECi ร่วมกับพันธมิตรจากทั้งหน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษา ภาคประชาชน และภาคเอกชน ซึ่ง สวทช. ถือเป็นขุมพลังหลักของประเทศด้านวิทยาศาสตร์ ทั้งเครื่องมือ บุคลากร และบริการที่พร้อมสนับสนุนและส่งเสริมการนำ วทน. ไปช่วยพัฒนาเด็กและเยาวชน ภาคเกษตรกร และผู้ประกอบการ ตลอดประชาชนทุกภาคส่วนในพื้นที่ จ.ระยอง อาทิ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร EECi อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC), ศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ NCTC เป็นต้น นอกจากนี้ สวทช. ยังมีกลไกและบริการที่ช่วยยกระดับสร้างความเข้มแข็งให้กับ SMEs และ สตาร์ตอัป ได้แก่ โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี และ FoodInnopolis เป็นต้น
“การพัฒนาพื้นที่ในมิติต่างๆ ทั้งด้านเด็กและเยาวชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ โดยนำผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตลอดจนเครื่องมือต่างๆ ของ สวทช.เหล่านี้ มาใช้ในพื้นที่จะไม่สำเร็จและสร้างผลกระทบได้เลย หากไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในท้องถิ่น ซึ่งเข้าใจความต้องการและปัญหาที่แท้จริง สามารถเข้าถึงชุมชนและทรัพยากรในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยปรับแปลงเทคโนโลยีให้เหมาะกับการพัฒนามากที่สุด ทั้งนี้ สวทช. ยินดีอย่างยิ่งที่หน่วยงานท้องถิ่น โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง มีเป้าหมายเดียวกันกับ สวทช. และได้มอบหมายให้สถาบันการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัยจังหวัดระยอง (RILA) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน ร่วมกับ EECi เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การพัฒนาพื้นที่ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในทุกมิติ” ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว
นายปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง กล่าวว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง ในฐานะหน่วยงานที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ตระหนักและให้ความสำคัญการพัฒนาเขคพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 2 ประการ คือ ประการแรก เป็นพื้นที่ที่จะสร้างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชั้นนำของประเทศ ที่จะรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เน้นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจากต่างประเทศ และถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ทันสมัยให้กับประเทศไทย ประการที่สอง คนระยองจะต้องได้รับประโยชน์จากการลงทุนของนักลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งในด้านการมีงานทำที่ทันสมัย โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการใช้ชีวิตที่ทันสมัย และคนระยองที่มีอาชีพพื้นฐานของจังหวัดต้องได้รับรายได้มากขึ้นจากการที่มีคนมาอาศัยอยู่ในระยองและมีกำลังซื้อมาก ๆ
“อบจ.ระยอง มีกลไกในการพัฒนากำลังคนของจังหวัดระยองทั้งในด้านการศึกษา การสาธารณสุข การดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมอาชีพเกษตร ประมง การท่องเที่ยว และพาณิชยกรรม จึงได้ให้ความร่วมมือในการประสานการกำหนดพื้นที่เป้าหมายของเขตอุตสาหกรรม และการวางโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนา และการใช้ชีวิตของผู้ประกอบการ นักลงทุน และกำลังแรงงานที่จะมาอยู่ในระยอง ขณะเดียวกันก็ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ในกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขี้นในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รวมทั้งศึกษาความต้องการด้านกำลังคนที่จำเป็นในกลุ่มอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่จะเกิดขึ้น พร้อมทั้งจัดทำข้อบัญญัติ และการจัดตั้งงบประมาณ ตามผลการศึกษาความเป็นไปได้
ทั้งนี้สถาบันการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัยจังหวัดระยอง หรือสถาบัน RILA เป็นกลไกหนึ่งในการพัฒนากำลังคนของคนทุกช่วงวัยตั้งแต่ก่อนวัยเรียน วัยเรียน วัยแรงงาน และผู้สูงอายุ ซึ่งเกิดจากการวิจัยที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อที่จะเป็นสถาบันในการจัดการความรู้เพื่อพัฒนากำลังคนของจังหวัดระยองให้สอดคล้องกับการพัฒนาของจังหวัด และขณะเดียวกันจะเป็นกลไกในการให้ความร่วมมือกับองค์กร หรือหน่วยงานที่เข้ามาจัดการองค์ความรู้ในการพัฒนาคนระยอง และจังหวัดระยอง เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและความยั่งยืนในการพัฒนาคนระยอง และจังหวัดระยองต่อไป”
ด้าน ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการ EECi กล่าวเสริมว่า การ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการดำเนินการร่วมกันใน 3 ด้าน ได้แก่ 1.ร่วมสนับสนุนข้อมูลและองค์ความรู้ ตลอดจนบุคลากรและทรัพยากรเพื่อให้ขับเคลื่อนการพัฒนา EECi อย่างมีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ จ.ระยอง 2. ดำเนินกิจกรรมวิจัย พัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนาบุคลากรร่วมกัน เพื่อส่งเสริมการนำผลงานวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ไปร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในจังหวัดระยอง และ 3. จัดหาและร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน วทน. เพื่อรองรับกิจกรรมงานวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมของทุกภาคส่วนในจังหวัดระยอง โดยมุ่งเน้นไปยัง 3 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เด็กและเยาวชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ