หน้าแรก ก.วิทย์ สวทช. ทีเซล จับมือกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยและองค์กรวิจัยชั้นนำเพื่อวิจัยและพัฒนาการใช้ข้อมูลพันธุกรรมการแพทย์แม่นยำ เสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทย
ก.วิทย์ สวทช. ทีเซล จับมือกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยและองค์กรวิจัยชั้นนำเพื่อวิจัยและพัฒนาการใช้ข้อมูลพันธุกรรมการแพทย์แม่นยำ เสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทย
16 มี.ค. 2561
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

16 มีนาคม 2561 ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข : ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผู้แทนรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมเป็นสักขีพยานและลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ

ในโครงการวิจัยและพัฒนาการใช้ข้อมูลพันธุกรรมมนุษย์เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสาธารณสุขไทย ระหว่าง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และแพทยสภา ภายใต้บันทึกข้อตกลงดังกล่าว หน่วยงานทั้ง 11 หน่วยงานได้จับมือกันวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการนำข้อมูลพันธุกรรมมนุษย์ไปใช้ตามแนวทางการแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) พัฒนาให้เกิดบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขแนวใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยและช่วยให้คนไทยสามารถเข้าถึงนวัตกรรมนี้อย่างเท่าเทียมกัน โดยเทคโนโลยีนี้เป็นการช่วยเปลี่ยนจากการรักษามาเป็นการป้องกันโรค เช่น การตรวจพันธุกรรมเพื่อลดปัญหาการแพ้ยาและการเลือกใช้ยารักษามะเร็งที่เจาะจงกับคนไข้ เป็นต้น เทคโนโลยีนี้จะช่วยทำให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผู้แทนรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ความสำคัญกับการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาใช้กับทุกภาคส่วน ซึ่งในส่วนของการแพทย์และสาธารณสุขเป็นเรื่องที่กระทรวงฯ ไม่ได้ละเลย และมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องศึกษาและวิจัยในด้านนี้  โดยเฉพาะสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) จากความสำเร็จของโครงการจีโนมมนุษย์ (The Human Genome Project) ซึ่งเป็นโครงการทางเทคโนโลยีชีวภาพ ที่ศึกษาจัดทำแผนที่ของจีโนม เพื่อวิเคราะห์ตำแหน่งของหน่วยพันธุกรรม หรือยีน (Gene) ของมนุษย์ ได้เสร็จสมบูรณ์ในปี  พ.ศ. 2546  ทำให้เกิดการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในทางชีววิทยาพันธุศาสตร์และการแพทย์สมัยใหม่ เกิดเป็นฐานข้อมูลทางพันธุกรรมขนาดใหญ่ที่นักวิจัยทั่วโลกสามารถเข้าถึงเพื่อนำไปศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับพันธุกรรมของมนุษย์ นำไปสู่การค้นหาสาเหตุของการเกิดโรค การวินิจฉัย แนวทางการป้องกัน และรักษาที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากความแตกต่างทางพันธุกรรมระหว่างมนุษย์ชาติพันธุ์ต่างๆ และการศึกษาพันธุศาสตร์มนุษย์ในคนไทย มีจำเป็นต้องใช้ฐานข้อ มูลอ้างอิงเฉพาะสำหรับคนไทย ทำให้เกิดโครงการวิจัยและพัฒนาการใช้ข้อมูลพันธุกรรมมนุษย์เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสาธารณสุขไทย ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญอันจะนำไปสู่การพัฒนาการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ด้วยการแพทย์แม่นยำ (Precision medicine) ในอนาคต เนื่องจากข้อมูลทางพันธุกรรมจากการศึกษาต่างๆ จะมีปริมาณมหาศาล การจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวอย่างเป็นระบบ ถูกต้อง แม่นยำ และทันสมัย รวมถึงมีความรัดกุมในการเข้าถึงข้อมูลจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในการดำเนินงานนี้ต้องมีระบบคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ และนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวสารสนเทศจำนวนมาก กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงได้วางแผนการพัฒนากำลังคน และสร้างระบบข้อมูลด้านชีวสารสนเทศให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย และเหมาะสมกับบริบทของประเทศ นำไปสู่ความก้าวหน้าของประเทศในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ในอนาคต

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การแพทย์แม่นยำนี้ ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงจำเป็นต้องอาศัยการวิจัยร่วมกันระหว่าง 11 หน่วยงาน ในการสนับสนุนด้านบุคลากร เครื่องมือขั้นสูงและงบประมาณ ตลอดจนการจัดทำข้อมูลสารสนเทศด้านพันธุกรรมมนุษย์ร่วมกันและ การจัดการการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมด้วยการอาศัยการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน สนับสนุนให้นำเทคโนโลยี สู่การให้บริการผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพและมาตรฐาน และสนับสนุนศักยภาพของประเทศไทย ในการเป็นผู้นำด้านการให้บริการด้านการแพทย์แม่นยำภายใน 3 ปี

16 มี.ค. 2561
0
แชร์หน้านี้: